เจ้าหนี้ติงแผนฟื้นฟูฯTPI"พันธมิตร"ไร้ความชัดเจน


ผู้จัดการรายวัน(13 พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เจ้าหนี้ติงแผนฟื้นฟูกิจการฯทีพีไอฉบับแก้ไขไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการหาพันธมิตรร่วมทุนที่ขาด ความชัดเจน หลังจากปตท.-ปูนใหญ่ยังปฏิเสธร่วมทุนอยู่ เนื่องจากต้องใช้เงินทุนไม่น้อยกว่าหมื่นล้านในการซื้อหุ้นใหญ่ รวมทั้งต้องทำดิวดิลิเจนส์ก่อนตัดสินใจด้วย

แหล่งข่าวจากเจ้าหนี้บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้เจ้าหนี้ยังมีความเห็นพ้องต้องกันว่าแผนฟื้นฟูแก้ไขฯฉบับแก้ไขที่ผู้บริหารแผนฯเสนอไว้ก่อนหน้านี้ไม่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ โดยเฉพาะประเด็นสถานการณ์ภายหลังการลดทุนและเพิ่มทุนจดทะเบียน แล้ว ใครจะเข้ามาเป็นพันธมิตรใหม่ที่เข้ามาร่วม ลงทุนภายหลัง

เนื่องจากที่ผ่านมามีความชัดเจนในการหาพันธมิตรร่วมทุนที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีในไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเป็นว่าที่พันธมิตรใหม่ 2 รายที่ทางเจ้าหนี้ต้องการนั้นปฏิเสธการเข้ามาร่วมลงทุนในเบื้องต้น โดยปูนซิเมนต์ไทยนั้นยินดีเข้ามารับจ้างบริหารให้เพียงอย่างเดียว หลังจากที่แผนแก้ไขฟื้นฟูกิจการได้รับการยอมรับระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้แล้ว โดยไม่ขอใส่เงินเข้ามาร่วมลงทุน

ขณะที่บริษัท ปตท.เองก็มีเงื่อนไขว่า หากต้องเข้าลงทุนจะต้องมีการตรวจสอบสถานะกิจการใหม่อีกครั้ง (Due Diligence) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุน เนื่องจาก บริษัทปตท.เป็นหุ้นมาร์เกตแคปใหญ่ที่มีนักลงทุน ทั้งไทยและต่างประเทศถือหุ้นอยู่

"เราต้องดูแลผู้ถือหุ้นต่างประเทศกลุ่มที่เขาเป็นพาร์ตเนอร์ถือหุ้นในระยะยาวด้วย ต้องทำ อะไรให้โปร่งใส ไม่เช่นนั้นเขาจะหาว่าปตท.เอาเงิน ไปช่วยเหลือรัฐบาล กลัวผู้ถือหุ้นต่างประเทศจะไม่เห็นด้วยถ้าไม่มีการทำดิวดิลิเจนซ์ใหม่"

นอกจากนี้เม็ดเงินที่ผู้ร่วมลงทุนรายใหม่จะต้องนำมาลงทุนใส่เข้าไปในทีพีไอมีจำนวนสูงมาก ตัวเลขคร่าวๆ ที่คำนวณกันไว้เฉพาะแค่ตัวเงินทุนหมุนเวียน 200 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ยังไม่รวมกับเงินในส่วนของการ ซื้อหุ้นเพิ่มทุน(ภายหลังการลดและเพิ่มทุน) ถ้ารวมทั้ง 2 ส่วนนี้จะตกเป็นเงินลงทุนที่ผู้ร่วมลงทุน ใหม่จะต้องใส่เข้าไปอย่างน้อยก็ต้องเป็นตัวเลขระดับ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป

ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางปตท.ต้อง มีการขอทำดิวดิลิเจนซ์ใหม่ นอกเหนือไปจากเงื่อนไขเดิมก่อนหน้านี้ที่ปตท.ยืนยันไปแล้วว่าแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขนั้นต้องเป็นแผนฟื้นฟูฯที่ลูกหนี้หรือนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และเจ้าหนี้ยอมรับทั้งคู่ เพราะปตท.ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในภายหลัง

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทางผู้บริหารแผนฯที่มีพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธาน ได้เข้าไปพบและรายงานความคืบหน้าและกรณีที่เจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูทีพีไอ ให้กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับทราบแล้ว โดยนายสมคิด ต้องการให้ปัญหาของทีพีไอได้ข้อยุติลงโดยเร็ว จึงได้มีนโยบายว่าจะนัดพบเจรจากับเจ้าหนี้และลูกหนี้พร้อมๆ กันในเร็วๆนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ทางนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารฝ่ายลูกหนี้ได้แจ้งความจำนงจะขอไปพบนายสมคิด เป็นการส่วนตัวก่อนเพื่อเรียนเสนอแผนฟื้นฟูแก้ไขกิจการทีพีไอฉบับที่ลูกหนี้ได้จัดทำขึ้นไว้ก่อน ซึ่งถ้าหากนายสมคิด ให้นายประชัยเข้าพบก่อนในวันสองวัน ต่อไปนายสมคิด ก็จะให้ทางเจ้าหนี้เข้าไปพบ

"รัฐมนตรีสมคิดต้องการเจรจาให้เรื่องจบโดยเร็ว แม้โอกาสที่การเจรจาครั้งนี้ดูจะลำบาก เพราะนอกจากต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมซึ่งกันและกัน แต่ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยอมกันคนละนิดการแก้ไขปัญหาจะจบลงอย่างแน่นอน เพราะลำพังแค่ประเด็นเงื่อนไขของพันธมิตรใหม่ ที่จะมาลงทุนก็ไม่สามารถได้ข้อยุติ และนำมาโชว์ในแผนฟื้นฟูว่าเป็นใครได้อยู่แล้ว" แหล่งข่าว

แหล่งข่าวจากทีมผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ทีพีไอ กล่าวว่า รายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขได้ส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพื่อเห็นชอบ ซึ่งมีบางประเด็นที่เจ้าหนี้ยังไม่สามารถยอมรับได้ อาทิ การหาพันธมิตรร่วมทุน ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยจะต้องมีการหารือกันต่อไป แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้

ดังนั้น จึงยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอน ในการเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตรับแผนฟื้นฟูฯฉบับแก้ไขนี้ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.