TMBจัดทัพหลังควบรวมดึงจุดเด่นเสริมแบงก์ใหม่


ผู้จัดการรายวัน(12 พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ทหารไทยจัดโครงสร้างหลังควบรวม เน้นจุดเด่นของแต่ละแห่งตั้งเป็นแกนนำเสริมความแข็งแกร่ง ทหารไทยนำด้านสาขา ความสัมพันธ์ลูกค้าและการตลาด ดีบีเอสไทยทนุเด่นคอนซูเมอร์แบงกิ้ง ผลิตภัณฑ์ บริหารความเสี่ยง ไอเอฟซีทีเด่นเอสเอ็มอีและพัฒนาธุรกิจ ระบุเร่ง ทำด้านไอทีและบุคลากร เสร็จก่อน พร้อมโชว์โครงสร้างสาขารวมกัน ลงตัวที่สุด สาขากรุงเทพฯเปิดบริการลูกค้ากว้างขึ้น และสาขาต่าง จังหวัดของไอเอฟซีทีปรับเป็นศูนย์ เอสเอ็มอี

นายมนตรี วิศลดิลกพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การควบรวมกิจการได้มีความคืบหน้ามากแล้ว โดยขั้นตอนที่สำคัญคือการโอนทรัพย์สินและพนักงานของธนาคารดีบีเอสไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม (ไอเอฟซีที) เข้ามาอยู่ที่ธนาคารทหารไทย หลังจากนั้นจะมีคณะกรรมการควบรวมที่ประกอบ ด้วยผู้บริหารของทั้ง 3 สถาบันการเงินพิจารณาถึงรายละเอียดในแต่ละเรื่อง ซึ่งจะแยกคณะกรรมการ ออกเป็น 21 ชุด เพื่อวางโครงสร้าง ต่างๆ ภายในธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ให้สมบูรณ์ที่สุด คณะกรรมการ ควบรวมจะพิจารณาถึงจุดด้อยและ จุดเด่นของแต่ละแห่ง เพื่อนำมาพัฒนาใช้กับธนาคารใหม่ ซึ่งธนาคารทหารไทยมีความเด่นเรื่องของสาขา ความสัมพันธ์กับลูกค้าที่แข็งแกร่ง และด้านการตลาดที่ดี

ด้านธนาคารดีบีเอสไทยทนุจะเด่นเรื่องของคอนซูเมอร์แบงกิ้ง-รีเทลแบงกิ้ง การบริหารความเสี่ยง และไอเอฟซีทีจะเด่นเรื่องของลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเมื่อนำโครงสร้างเด่นของแต่ละแห่งเข้ามารวมกันแล้ว จะเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่แข็งแกร่ง โดยใช้สาขาของธนาคารที่มีอยู่ประมาณ 450-460 สาขา เป็นจุดขาย ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดูแลลูกค้าเอสเอ็มอี มีพนักงานที่ใกล้ชิดความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้าทุกกลุ่ม จึงมั่นใจว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์ที่สามารถแข่งขันได้ในระบบภายใต้กรอบแผนแม่บท

"การควบรวมกิจการครั้งนี้ถือว่าทำโดยความสมัครใจของทั้ง 3 แห่ง ดังนั้น จึงไม่จำเป็น ที่จะต้องให้ทหารไทยเป็นแกนนำทุกๆ ด้าน โดยโครงสร้างหลักจะนำจุดเด่นของแต่ละแห่งมาเป็นแกน เช่น ระบบเทคโนโลยีหากที่ใดดีที่สุดก็จะนำระบบมาพัฒนาและใช้ในแบงก์ใหม่ หรือบางด้านอาจจะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงในแต่ละด้าน" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กล่าว

ในโครงสร้างธนาคารใหม่นั้น จะต้องเร่งปรับโครงสร้างของระบบต่างๆให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลและให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงสร้างที่สำคัญที่สุดจะต้องเสร็จพร้อมๆ กับการโอนทรัพย์ สินและพนักงาน มี 2 ด้านคือ ด้านเทคโนโลยี และด้านบุคลากร ที่มีความแตกต่างกัน

ทั้งตำแหน่งและฐานเงินเดือน ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด โดยคาดว่าโครงสร้างจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นจะทยอย จัดโครงสร้างด้านอื่นๆให้ครบ ส่วนเรื่องของสาขาและพนักงานนั้น ในเบื้องต้นจะพิจารณา ถึงภาพรวมของทั้ง 3 แห่ง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะมีสาขาประมาณ 450-460 สาขา พนักงานประมาณ 8,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องลงตัวมากสำหรับโครงสร้าง สาขาของทั้ง 3 แห่ง โดยมีความ ซ้ำซ้อนน้อยมาก ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ จะมีสาขาส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ของธุรกิจหนาแน่น และเป็นลูกค้าที่แตกต่างกับทหารไทย จึงไม่จำเป็นต้องปิดสาขาในกรุงเทพฯในส่วนของสาขาต่างจังหวัดอาจจะมีบ้างเล็กน้อย สามารถกระจายพนักงานให้อยู่ในตำแหน่งและสาขาที่เหมาะสมได้

ส่วนสาขาของไอเอฟซีที ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น หาดใหญ่ โคราช เชียงใหม่ ซึ่งในโครงสร้างใหม่ก็จะเก็บสาขาดังกล่าวไว้ และปรับให้เป็นศูนย์เอสเอ็มอี ที่ดูแลลูกค้าในเขตนั้นๆ

"เรื่องของสาขาและพนักงานเรามีความเหมาะสมเรื่องของโครงสร้างแล้ว เพียงแต่มาปรับเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะไม่กระทบกับพนักงานและลูกค้าเลย เพราะโครงสร้างสาขาของ ทั้ง 3 แห่งซ้ำซ้อนที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็เป็นท้องที่มีลูกค้ามาก และแตกต่างกัน ส่วนต่างจังหวัดของ ไอเอฟซีทีจะปรับเป็นศูนย์เอสเอ็มอี บริการลูกค้า เฉพาะด้านที่เป็นมืออาชีพจริงๆ นับว่าลงตัวที่สุด" นายมนตรี กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.