ยูโอบีฮุบเอเชียสำเร็จเซ็นสัญญา11พ.ค.นี้


ผู้จัดการรายวัน(6 พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ยูโอบีลงนามซื้อขายหุ้นธนาคารเอเชียกับเอบีเอ็นฯ 11 พ.ค.นี้ คาดราคาหุ้นละ 5 บาท คิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้าน เผยเอบีเอ็นฯยอมขายขาดทุนเพราะสำนักงานใหญ่สั่งถอนตัว ขณะที่ยูโอบีเตรียมรื้อทีมผู้บริหารและคณะกรรมการชุดเก่ายกชุดก่อนเดินหน้าควบรวมยูโอบีรัตนสิน "สุชาติ" ผู้อยู่เบื้องหลังดีลปลื้ม เผยรักษาเครดิตประเทศเอาไว้ได้

รายงานข่าวจากยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ (ยูโอบี) สิงคโปร์ เปิดเผยว่า นายวี โซ เยา ประธานกรรมการและประธานคณะบริหารยูโอบี จะเดินทางเพื่อเซ็นสัญญาซื้อ ขายหุ้นธนาคารเอเชีย (BOA) กับธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ที่กรุงเทพฯ การลงนามครั้งนี้ จะมีขึ้นที่โรงแรมสุโขทัย ในเวลา 16.00 น. มีผู้บริหารจากทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน

ส่วนราคาหุ้นที่ซื้อขายจำนวน 4,115 ล้านหุ้นกำหนดราคาประมาณ 5-5.20 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 20,000-21,320 ล้านบาท เป็นหุ้นที่เอบีเอ็นฯถืออยู่ในธนาคาร เอเชีย 80.77% หลังซื้อขายยูโอบีจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทน ขณะเดียว กัน ยูโอบียังถือหุ้นใหญ่ในยูโอบีรัตนสินจำนวน 776 ล้านหุ้น คิดเป็น 78.83% ดังนั้นจะมีการควบรวม 2 ธนาคารเข้าด้วยกันต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่าต้นทุนของเอบีเอ็นฯที่ซื้อหุ้นธนาคารเอเชียเฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาทต่อหุ้น หรือเป็นเงินทั้งสิ้น 28,700 ล้านบาท การซื้อขายครั้งนี้จึงเป็นการขายขาดทุน 7,000-8,000 ล้านบาท แต่เอบีเอ็นฯ พอใจเนื่องจากเป็นนโยบายของสำนักงานใหญ่ที่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ที่ผ่านมาธนาคารเอเชียยังประสบปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) อย่างต่อเนื่อง

"ขั้นตอนหลังลงนามในสัญญาซื้อขายจะมีการแต่งตั้งทีมผู้บริหารและคณะกรรมการธนาคารชุดใหม่ ส่วนการควบรวมกับยูโอบี รัตนสินคาดว่าจะต้องหารือกับกองทุนฟื้นฟูและผู้ถือหุ้นรายย่อยของทั้งสองธนาคารอีกครั้งหนึ่ง"

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากรวม 2 ธนาคารเข้าด้วยกันจะทำให้กลายเป็นธนาคารมีสินทรัพย์รวม 223,095.566 ล้านบาท (ธนาคารเอเชียมีสินทรัพย์ 167,828.468 ล้านบาท ส่วนยูโอบีรัตนสิน 55,267.098 ล้านบาท)

ธนาคารเอเชียก่อตั้งปี 2482 จากการซื้อกิจการของธนาคารโอเวอร์ซีส์ ไชนิส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ใช้ชื่อใหม่ว่าธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ต่อมาปี 2519 เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารเอเชีย จำกัด และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปี 2521

เมื่อปี 2540 เกิดวิกฤตสถาบันการเงินจนรัฐบาลต้องเข้าแทรกแซง เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์ไทยหลายราย ธนาคารเอเชียของตระกูลภัทรประสิทธิ์และเอื้อชูเกียรติเป็น 1 ในธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเร่ขายในราคาถูกให้ต่างชาติ โดยวันที่ 31 ส.ค. 2541 เอบีเอ็นฯตัดสินใจซื้อกิจการ 75% ของทุนจดทะเบียน หรือใช้เงินแค่ 7.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังบริหารกิจการมาระยะหนึ่งเอเบีเอ็นฯจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีกไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง จนในที่สุด สัดส่วนผู้ถือหุ้นในธนาคารเอเชียเพิ่มเป็น 80.77% หรือใช้เงินไปแล้วมากกว่า 28,700 ล้านบาท

ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การซื้อขายหุ้นครั้งนี้จะทำให้ระบบสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งเพราะจะมีการควบรวมระหว่างธนาคารเอเชียกับธนาคารยูโอบีรัตนสินทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่น ทั้งยังส่งผลดีต่อลูกค้าที่สามารถเลือกใช้บริการธนาคารที่มีความมั่นคงและในที่สุดจะทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจโดยรวมแข็งแกร่งขึ้น

ทั้งนี้ ร.อ.สุชาติเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเจรจาให้มีการซื้อขายหุ้น ตั้งแต่ร.อ.สุชาติยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ร.อ.สุชาติเปิดเผยว่า หลังจากทราบว่าเอบีเอ็นฯต้องการถอนตัวออกไป ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงหาทางออกที่นิ่มนวลที่สุด จึงใช้โอกาสในการเดินทางไปโรดโชว์ตลาดเงินตลาดทุนไทยในสิงคโปร์เมื่อต้นปี ชักชวนผู้บริหารยูโอบีให้เข้ามาซื้อหุ้นธนาคารเอเชีย

"ผมยินดีที่ดีลครั้งนี้สำเร็จ ตอนนั้นผมบอก ผู้บริหารยูโอบีว่าถ้าสนใจลงทุนเพิ่มในสถาบันการเงินไทย ควรจะเข้าไปเจรจากับเอบีเอ็นฯให้เร็วที่สุด ผมคิดว่าการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ไม่เพียงทำให้สถาบันการเงินไทยมีมาตรฐานเท่านั้น ยังสามารถรักษาเครดิตประเทศเพราะไม่ต้องรับข่าวร้ายจากการถอนตัวของเอบีเอ็นฯเมื่อต้นปีที่ผ่านมา" ร.อ.สุชาติกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.