ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุก 20 ปี" รสริน ช่อประดิษฐ์ และสามีฐานส่งเงินตราผิดกฎหมายออกนอกประเทศ กว่า 800 ล้านเหรียญฯหลังศาลพิเคราะห์ พบข้อหักล้างของพวกจำเลย ฟังไม่ขึ้น จงใจกระทำความผิด
วานนี้ (29 เม.ย.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาในคดี ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจ
และทรัพยากร 3 เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัทรัตนโกสินทร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, น.ส.ศิรินทรา
มะหะหมัด อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานลูกค้า และวาณิชธนกิจ ธนาคารยูโอบีรัตนสิน
และอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท รัตนโกสินทร์ ,นางรสริน ช่อประดิษฐ์ และนายพิเชษฐ์
ช่อประดิษฐ์ สามี ในฐานะผู้บริหารบริษัทรัตนโกสินทร์, บริษัท อิสเทิร์นปิโตรเลียมฯ
และบริษัทธนทรัพย์ฯพร้อมพวกซึ่งเป็นเครือญาติและหุ้นส่วนฯ เป็นจำเลยที่ 1-14 ตามลำดับ
ในความผิดฐานร่วมกันส่งของต้องจำกัดออกนอกราชอาณาจักร ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา
พ.ศ. 2485 ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และความผิดใช้เอกสารปลอมในการกู้ยืม
โดยคดีนี้ อัยการ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 44 ระบุความผิดว่า ระหว่างวันที่
30 มี.ค. 42-8 มิ.ย. 43 จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกหลายคนกระทำ ผิดกฎหมายหลายกรรม
โดยพวกจำเลยติดต่อกับธนาคารกรุงเทพ ฯ สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นตัวแทนซื้อ-ขาย หรือส่งออกเงินตราต่างประเทศ
ซึ่งวันที่ 31 มี.ค. 42 พวกจำเลยร่วมกันกู้และนำเข้าเงินตราต่างประเทศจากฮ่องกง
จีน และสิงคโปร์ จำนวน 4.8 แสนเหรียญสหรัฐ โดยแจ้งเอกสารรายงานการส่งออกนอกประเทศ
(ธ.ต.4) เป็นเท็จไม่ตรงกับความเป็นจริง ว่าเพื่อชำระคืนเงินกู้นำเข้าจากต่างประเทศ
ซึ่งวิธีการให้ส่งเงินตราต่างประเทศไปยังประเทศสหรัฐฯ และนำเงินดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย
เป็นการกระทำอันเป็นเท็จ โดยความจริงแล้วพวกจำเลยไม่ได้กู้เงินจากบริษัท GEMDESHINDE
ตามวันเวลาที่ระบุไว้ในสัญญากู้ นอกจากนี้พวกจำเลย ยังนำเอกสารต่างประเทศที่เคยใช้แล้ว
มาประกอบการโอน เงินตราต่างประเทศ หลายครั้ง หลายหน การกระทำ จึงเป็นการได้ไปซึ่งปัจจัยชำระเงินตราต่างประเทศเป็นการแจ้งวัตถุประสงค์อันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน
ฝ่าฝืนกฎกระทรวง คำสั่ง ประกาศ และพ.ร.บ.ควบคุม เงินตราฯ
เมื่อศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ ประกอบกับการนำสืบหักล้างของพวกจำเลยเห็นว่า
บริษัทรัตนโกสินทร์ จำเลยที่ 1, บริษัทอีสเทิร์น ปิโตรฯ จำเลยที่ 5 และบริษัทธนทรัพย์ทวีฯ
ซึ่งเป็นนิติบุคคลกระทำผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาปรับจำเลย ที่ 1 จำนวน 152,316,000
เหรียญสหรัฐ , จำเลยที่ 5 จำนวน 294,686 ,000 เหรียญสหรัฐ และจำเลยที่ 13 จำนวน
358,433,454.60 เหรียญสหรัฐ ส่วนนางรสริน จำเลยที่ 3 และนายพิเชษฐ์ จำเลยที่ 6
ซึ่งเป็น ผู้บริหารบริษัททั้งสาม ศาลเห็นว่าคดีนี้การโอนเงินเป็นจำนวนมาก และโดยปกติผู้บริหารย่อมจะตรวจสอบเอกสารต่างๆ
ก่อน พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบ ไม่สามารถนำมาหักล้างพยานโจทก์ได้ จึงพิพากษาให้จำเลยที่
3 และที่ 6 มีความผิดรวม 666 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี โดยให้รวมกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
ม.91 คงโทษจำคุก จำเลย คนละ 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 , 4 , 8 , 9 , 10 , 11 และ 14
พยานหลักฐานโจทก์ไม่ชัดเจนว่าจำเลยร่วมกระทำในการโอนเงิน จึงพิพากษายกฟ้อง