"สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" ประกาศลั่นยุบแบงก์แม่รวมแบงก์ลูก "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน"
ก่อนยกฐานะเป็น ยูนิเวอร์แซลแบงก์ เพื่อให้บริการธุรกรรมการเงินครบวงจร คาดยื่น
ให้แบงก์ชาติพิจารณาได้ภายใน 31 ก.ค.นี้ และเสร็จสมบูรณ์ปลายปี 2548 แย้มพร้อมเปิดทางรับพันธมิตรตลอดเวลา
นางแอนมารี เดอร์บิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน
จำกัด (มหาชน) หรือ SCNB เปิดเผยถึง แผนการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในประเทศไทย
เพื่อให้สอดคล้องตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Master Plan) ว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของของธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) ธนาคารได้มีการหารือกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ถึงแผนการดำเนินธุรกิจธนาคารในประเทศไทย
โดยธนาคารได้ผลสรุปร่วมกัน คือ จะใช้ชื่อ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน จำกัด
(มหาชน) หรือ SCNB เพื่อให้เป็นธนาคารที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศ และยกระดับเป็นยูนิเวอร์
แซลแบงก์ หรือแบงก์ที่ให้บริการทางการเงินครบ ทุกรูปแบบ ภายใต้สาขาที่มีอยู่ 41
สาขา และให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า ผู้ลงทุน ชุมชน รัฐบาล และพนักงาน
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานนั้น ธนาคารจะนำสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเข้ามาควบรวมกับ
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน เพราะมีขนาดสินทรัพย์ใกล้เคียงกันคือประมาณ 60,000 ล้านบาท
ทำให้หลังการควบรวมสินทรัพย์จะอยู่ที่ประมาณ 120,000 ล้านบาท จำนวนสาขารวม 41 สาขา
ซึ่งเพียงพอกับการทำธุรกิจ
"ขั้นตอนและรายละเอียดการควบรวมมีรายละเอียดต่างๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งหลังจากการควบรวมแล้วจะมีการเปลี่ยนชื่อธนาคารใหม่ แต่ยังคงคำหน้าสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไว้"
นางเดอร์บิน กล่าวว่าหลังควบรวมกันจะทำให้ธนาคารใหม่มีทุนจดทะเบียนเป็น 7,000
ล้านบาท จากปัจจุบันที่ SCNB มีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังให้ความสนใจในการเปิดรับพันธมิตร
รายใหม่เข้ามาร่วมทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายธุรกิจ
"เราเลือกที่จะประกอบธุรกิจต่อไปในประเทศไทยในลักษณะองค์กรเดียวกัน ภายใต้ร่มสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน
ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของแบงก์ชาติ เรากำลังทำ งานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ และเราก็มั่นใจว่าจะสามารถพบข้อสรุปที่สามารถตอบสนองนโยบาย แผนแม่บทได้ รวมทั้งรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย เราจะต้องยื่นแผนให้ธปท. พิจารณาภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ หลังจากนั้นแบงก์ชาติก็จะใช้เเวลา 6 เดือนในการพิจารณาและหลังจากนั้นให้เวลา 1 ปีในการปรับตัว นั่นก็หมายความว่าการจะถอนแบงก์แม่ออกหรือไม่นั้นจะทราบก็ต่อเมื่อสิ้นปี 2548"
สำหรับนโยบายของธนาคารในการเป็นธนาคารในประเทศ จะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต รวมทั้งเป็น ธนาคารที่ให้ความสำคัญกับ
กลุ่มผู้ลงทุน ชุมชน ลูกค้า พนักงาน และรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการทำกำไรจากธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ๆ
ในอนาคต รวมทั้งเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
ด้านผลประกอบการของธนาคารในช่วงที่ผ่านมาหลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 5 ปี ปรากฏว่า
ในปี 2545 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 445 ล้านบาท ในปี 2546 มีกำไรสุทธิ 721 ล้านบาท ส่วนในไตรมาสแรกของปี
2547 มีกำไรสุทธิ 198 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 โดยคาดว่าในอนาคตอัตราการทำกำไรจะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง