ครม.ไฟเขียวภาษีกองทุนเฉือน2พันล.กระตุ้นตลท.


ผู้จัดการรายวัน(28 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

คณะรัฐมนตรีไฟเขียวมาตรการภาษีกระตุ้นตลาดทุน ทั้งการยืดระยะเวลาการลดภาษีให้บริษัทจดทะเบียนใหม่ที่นำหลักทรัพย์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดใหม่ภายในสิ้นปี 2548 รวมทั้งภาษีส่งเสริมการลงทุนผ่านนักลงทุนสถาบัน ขณะที่รมว.คลัง "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ไม่ห่วงผลกระทบของรายได้รัฐบาล แม้จะลดลง กว่าปีละ 2.2 พันล้านบาท ด้านผู้บริหารบลจ. มั่นใจมาตรการภาษีหนุนให้ธุรกิจกองทุน รวมที่ลงทุนในหุ้นขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 2 เดือน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (27 เม.ย.) ว่าครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อช่วยพัฒนาการลงทุนในตลาดทุนระยะยาว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา

ยืดเวลาลดภาษีบจ.ใหม่ถึงสิ้นปี48

สำหรับสาระสำคัญของมาตรการภาษีดังกล่าว ประกอบด้วย สิทธิประโยชน์ทางภาษี 3 ประการ คือ ประการแรก การขยายการให้สิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับบริษัทที่มีการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ จากวันที่ 5 กันยายน 2547 นี้ ออกไปอีก 1 ปี 3 เดือน หรือสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2548

โดยบริษัทที่นำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในระยะเวลาดังกล่าว จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติ บุคคลจากอัตรา 30% เหลือ 20% ของกำไรสุทธิเป็นเวลา 5 รอบระยะ เวลาบัญชีสำหรับกรณีนำหลักทรัพย์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ใหม่ (MAI) และเหลือ 25% ของกำไรสุทธิเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลา บัญชี สำหรับกรณีนำหลักทรัพย์เข้า จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทที่นำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลัก ทรัพย์ฯ ได้มีการเตรียมความพร้อม ขณะที่ทางก.ล.ต. เองมีเวลาในการพิจารณาคุณภาพของบริษัทเหล่านั้นด้วย รวมทั้งเพื่อเป็น การกระจายการนำหุ้นใหม่เข้าเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยไม่กระจุกตัวมากจนเกินไป

"การขยายระยะเวลา อาจมีผลกระทบต่อรายได้การจัดเก็บภาษีบ้างในระยะสั้น แต่จะเป็น ผลดีต่อระบบจัดเก็บในระยะยาว เนื่องจากบริษัทที่จดทะเบียนจะมีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส หากให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้สิ้นสุดปีนี้ จะมีปัญหาเรื่องกระบวนการในการตรวจสอบบริษัทที่ต่างเร่งรัดเข้ามาช่วงนี้ บางบริษัทมีคำ ขอไม่เรียบร้อย จะส่งผลเสียในภาพรวมได้"

ผ่อนปรนเกณฑ์ลงทุน "RMF"

ประการที่ 2. การผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ภาษีกรณีการลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยผ่อนหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการลงทุนผ่าน RMF โดยกำหนดให้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา สามารถนำเงินได้ทุก ประเภทมาซื้อหน่วยลงทุนใน RMF ได้รับการลด หย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับเงินที่จ่าย เป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน ในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 300,000 บาทของปี ภาษีนั้น เมื่อรวมกับเงินที่ลงทุนในกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ หรือ กบข. จากเดิมที่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษี สำหรับการนำเงินได้บางประเภทมาซื้อหน่วยลงทุนเท่านั้น

การผ่อนปรนให้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้แก่ RMF จากเดิมที่กำหนดให้ได้รับยกเว้นภาษี เฉพาะกรณีการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อมีอายุ 55 ปีขึ้นไป หรือ มีทุพพลภาพ หรือตายเท่านั้น

"การผ่อนปรนหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติข้างต้น จะมีส่วนส่งเสริมให้มีการลงทุนในกองทุน มากขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงในด้านรายได้สำหรับผู้ลงทุน และทำให้กองทุนสามารถนำเงินไปลงทุนในตลาดทุนระยะยาวได้มากขึ้นด้วย ซึ่งกรณีนี้จะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

ลดภาษีกองทุนหุ้นระยะยาว

ประการที่ 3. การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับบุคคลธรรมดาที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อ การลงทุนในตราสารแห่งทุนระยะยาว ตามกฎ หมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายใน 3 เดือน โดยให้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา ที่ซื้อหน่วยลงทุน ในกองทุนรวมเพื่อการลงทุนในตราสารแห่งทุนระยะยาวฯ ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นและจำหน่วยหน่วย ลงทุนเป็นครั้งแรก ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 หรือ 3 ปีข้างหน้า ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาเท่ากับเงินที่ลงทุนในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกินปีละ 300,000 บาท

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ หรือผลประโยชน์ใดๆ จากการขายหน่วยลงทุนที่ถือมาแล้วไม่น้อย กว่า 5 ปี คืนให้กับกองทุนรวมเพื่อการลงทุนในตราสารแห่งทุนระยะยาวฯได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินที่ได้รับ

กระทบรายได้ภาษีปีละ 2.2 พันล้าน

"ในระยะยาวจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษี ปีละประมาณ 2,200 ล้านบาท แต่จะมีส่วนสนับ สนุนในด้านการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องทำให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในระยะยาว"

นายสมคิด กล่าวว่ามาตรการสิทธิประโยชน์ ทางภาษีดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้หลังจากผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน สามารถทันใช้ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการยื่นแบบภาษีในปีงบประมาณ 2548 หรือช่วง มีนาคม 2548 แน่นอน

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการสิทธิ ประโยชน์ทางภาษีเป็นการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นตลาด แต่เป็นการ ปูพื้นในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุน เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งระบบ 2,000,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักลงทุนต่างประเทศ 1.10 ล้านล้านบาท นักลงทุนรายย่อย 5 แสนล้านบาท และนักลงทุนสถาบัน 4 แสนล้านบาท

"การสร้างเสถียรภาพตลาดทุน จำเป็นต้อง เพิ่มสัดส่วนนักลงทุนประเภทสถาบันให้มากพอ และได้ดุลกับนักลงทุนรายย่อย เพราะนักลงทุนรายย่อยจะตกใจเทขาย และช้อนซื้อตามนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของตลาดทุน"

หวังพัฒนาตลาดทุนระยะยาว

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า มาตรการทาง ด้านภาษีที่ออกมาตรงกับความต้องการของ ก.ล.ต.ที่อยากให้ตลาดทุนมีความแข็งแกร่ง และมีการพัฒนาไปได้ในระยะยาว ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวสร้างให้ตลาดทุนมีเสถียรภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนมีทางเลือกในการออมและยังเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วย

สำหรับมาตรการในการจัดตั้งกองทุนหุ้นสามัญระยะยาวนั้น หลังจากที่ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้ว ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 ทางคณะกรรมการก.ล.ต. เตรียมที่จะยกร่างกฎ ก.ล.ต.เพื่อเสนอให้กฤษฎีกาพิจารณา ก่อนที่จะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้คาดว่า จะสามารถประกาศได้ภายในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ หลักการเบื้องต้นในการจัดตั้งกองทุน จะต้องมีขนาดในการจัดตั้งประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีผู้ถือหน่วยลงทุนมากกว่า 10 ราย ถึงจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนได้ โดยกองทุนนี้จะเป็นกองทุนเปิด มีระยะเวลา 10 ปี ซึ่ง จะมีการลงทุนในหุ้นเท่านั้น และในการซื้อคืนนั้นได้มีการกำหนดช่วงเวลาในการซื้อคืนไว้ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าเป็นช่วงเวลาใด

พร้อมเดินหน้าปรับลดภาษีนิติบุคคล

สำหรับกรณีที่นายสมคิด มอบนโยบายการ ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้นั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปว่าจะมีการปรับลดภาษีลงเหลือระดับเท่าใด แต่ภายใน 1-2 วันนี้ จะหารือถึงแนวทางการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล กับนาย ศุภรัตน์ ควัฒกุล อธิบดีกรมสรรพากร และคาด ว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการสรุปแนวทาง

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างการศึกษาผลดี ผลเสีย จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีในทุกรายการที่มีแนวทางปรับเปลี่ยนอัตราอากรอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ ผู้บริหารบลจ.มั่นใจหนุนธุรกิจกองทุน

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่าการให้สิทธิประโยชน์ทาง ภาษีแก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนคาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้มีการลงทุนผ่านกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นมากขึ้น และส่งผลทำให้กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นจะมีการขยายตัวมากขึ้นด้วย เนื่องจากยังมีหุ้นที่มีพื้นฐานทางธุรกิจแข็งแกร่งอีกมากให้นักลงทุนสถาบันเลือกลงทุน แต่ทั้งนี้การลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องคำนึงถึงภาวะตลาด หุ้นด้วย

"มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ เป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนมาก แต่ภาครัฐควรจะมีความคาดหวังที่ถูกต้องต่อมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันได้เพียงใด เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องอาศัยจังหวะและภาวะตลาดที่เอื้ออำนวย นอกจากนี้มาตรการนี้ยังมีข้อจำกัดว่าให้ลงทุนระยะยาว" นายอดิศร กล่าว

ทั้งนี้การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้มีความคล้ายคลึงกับกองทุน RMF จึงมีความกังวลว่าจะมีความซ้ำซ้อนกันได้ ทำให้ผู้ถือหน่วย ลงทุน ในกองทุน RMF หรือที่ลงทุนแล้วแต่ยังไม่เต็มวงเงินลดหย่อนทางภาษีอาจโยกย้ายเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาลงทุนในกองทุนใหม่นี้ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยปัจจุบันการลงทุน ในหุ้นของกองทุน RMF มีมูลค่าประมาณ 2-3 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กองทุนที่ลงทุนในหุ้นเดิมไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวมากนัก โดยปัจจุบันมูลค่ากองทุนที่ลงทุนในหุ้นและกองทุนผสมแบบยืดหยุ่นที่ลงทุนในหุ้นมีมูลค่ารวมกันทั้งหมดประมาณ 5 พันล้านบาท คาดว่าหากมีการเปิดกองทุนใหม่ตามเกณฑ์สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้อาจสามราถระดมเงินในช่วงแรกได้ประมาณ 1 พันล้านบาท

นายเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม อยุธยาเจเอฟ จำกัด กล่าวว่า กองทุน RMF และกองทุนหุ้นเดิมที่เปิดก่อนจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดการโยกย้ายเงินลงทุนจากกองทุนหุ้นเดิมมาลงทุนในกองทุนหุ้นใหม่ได้

สำหรับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนนั้น น่าจะทำให้มีนักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น หากเป็นเม็ดเงินใหม่ที่นำมาลงทุนจะทำให้ธุรกิจกองทุนรวมมีการ ขยายตัว และเป็นการเพิ่มสัดส่วนจำนวนนักลงทุนสถาบันในตลาดให้มากขึ้นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.