More than a Motorcycle


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

Harley-Davidson Motorcycle Company เป็นกิจการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ที่พลิกฟื้นกิจการได้อย่างมหัศจรรย์ในช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากถูกคู่แข่งญี่ปุ่นโจมตีจนกิจการประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง แต่บริษัทได้ปรับปรุงความสามารถในการทำกำไร ผลิตภาพและการพัฒนาสินค้าใหม่จนพาตัวรอดพ้นจากวิกฤตินั้นได้ในที่สุด

ความผิดพลาดของฮาร์เลย์ในครั้งนั้นเกิดจากโครงสร้างต้นทุนที่สูง ความอ่อนด้อยในแง่ทักษะการริเริ่มสร้างสรรค์ ผลกำไรที่มาจากการขายอะไหล่เป็นส่วนใหญ่แทนที่จะมาจากสินค้าหลัก และพนักงานขาดสำนึกในการร่วมสร้างองค์กร

ผู้ที่รับมือกับปัญหาดังกล่าวก็คือ ริช ทีร์ลิงค์ (Rich Teerlink) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินที่ต่อมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารในปี 1988 ทีร์ลิงค์รับภาระหนักตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 1990 โดยเขาทำงานร่วมกับทีมบริหารและที่ปรึกษาจากภายนอกคือ ลี ออสลีย์ (Lee Ozley) จัดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่ขั้นรากฐานโดยมุ่งที่ความสำเร็จในระยะยาว

ทั้งนี้ ปรัชญาการบริหารที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ก็คือความเชื่อว่า การจูงใจให้พนักงานทุกคนมีความรับผิดชอบและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเล่าโดยละเอียดว่าจะสร้างความสำเร็จที่ผลักดันโดยพนักงานให้ยั่งยืนได้อย่างไร

เลิกระบบการสั่งการและควบคุม

ทีร์ลิงค์และออสลีย์เสนอว่าการพลิกฟื้นกิจการจะเป็นไปไม่ได้ โดยปราศจากปรัชญาการเป็นผู้นำแบบเน้นการสั่งการและควบคุมที่เข้มแข็ง เมื่อองค์กรอยู่ภายใต้แรงกดดันที่หนักหน่วง ระบบการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จอาจเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่หากการคุกคามจากภายนอกไม่รุนแรงเด็ดขาด องค์กรควรมองหาวิธีการบริหารและจัดองค์กรแบบใหม่ หรือจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ทุกคนในองค์กรต้องกระทำการและคิดแบบใหม่

ผู้เขียนบอกสาเหตุที่ควรใช้วิธีการดังกล่าวก็เพราะการเปลี่ยนแปลงโดยใช้อำนาจสั่งการนั้น ทำให้เกิดความกังวลใจและยังอาจสร้างแรงต่อต้านขัดขืนในหมู่พนักงานด้วย เพราะโดยปกติมนุษย์ไม่ชอบให้ใครมาผลักดันและไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง จึงยิ่งไม่ชอบการถูกเปลี่ยนแปลงด้วย

ออสลีย์ได้เสนอสูตรที่เป็นกรอบการเปลี่ยนแปลงองค์กรเมื่อเขาเข้าเป็นที่ปรึกษาของฮาร์เลย์เดวิดสันดังนี้

Change = (E x M x P) > Resisitance

สูตรดังกล่าวอธิบายได้ว่า E คือ engagement หรือการเข้าร่วมของพนักงานเมื่อมีความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกระทำสิ่งที่แตกต่างจากเดิม

M คือ model ซึ่งก็คือวิสัยทัศน์เชิงอุดมคติของอนาคตองค์กรที่พัฒนาขึ้นจากการร่วมมืออย่างเต็มที่ของพนักงาน และเป็นวิสัยทัศน์ที่ให้ภาพร่างที่มีรายละเอียดตามสมควรที่จะให้แต่ละคนมีเป้าหมายในการต่อสู้

P คือ process ซึ่งรวมทั้งแผนงาน ระบบ และขั้นตอนการดำเนินงานที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง

กระบวนการที่ยาวนานและยากลำบาก

กรอบแนวทางของออสลีย์นั้นเป็นเพียงชั้นเริ่มต้นเท่านั้น เพราะจะต้องแปรให้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรของฮาร์เลย์-เดวิดสันได้ในขั้นพื้นฐานและเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและพนักงานในองค์กรด้วย

หนังสือเล่มนี้แจกแจงรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรบริษัทอย่างเป็นลำดับ โดยชี้ให้เห็นการริเริ่มสิ่งใหม่ไปทีละบท เช่น ในบทหนึ่งกล่าวถึง Joint Vision Process ซึ่งว่าด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคตที่พัฒนาขึ้นได้เป็นลำดับขั้นตั้งแต่ระดับพนักงานแต่ละราย จนถึงระดับกลุ่ม ระดับผู้นำ และระดับโรงงาน ในบทต่อมาว่าด้วยการขยายกิจการอย่างระมัดระวัง โดยต้องจัดการฝึกอบรมเป็นครั้งคราวซึ่งอาจต้องมีการจำลองสถานการณ์ประกอบด้วย

บทที่สำคัญอีกบทหนึ่งคือบทที่กล่าวถึงแผนผังโครงสร้างองค์กรของฮาร์เลย์-เดวิดสัน ที่มีการจัดใหม่เป็นโครงสร้างที่เหลื่อมกันสามชั้นตามกระบวนหลักขององค์กรคือ การสร้างดีมานด์ การผลิตสินค้าและการสนับสนุน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มาแทนที่องค์กรเดิมที่แบ่งแผนกงานเป็นรูปพีระมิด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.