Sustaining Distance Training


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

Zane L. Berge เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมแห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เขามองทิศทางการการฝึกอบรมในองค์กรในอนาคตว่า ไม่ใช่การฝึกอบรมแบบที่ต้องมีวิทยากรแนะนำและนำเสนอด้วยแผนผังหรือพรีเซนเตชันแบบต่างๆ แต่จะเป็นการฝึกอบรมทางไกลที่อาศัยเทคโนโลยีโดยเฉพาะเว็บไซต์เป็นตัวช่วย ภายในปี 2002 การฝึกอบรมที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นฐาน เช่น การฝึกอบรมผ่านระบบ videoconference และการใช้คอมพิวเตอร์ช่วย จะคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของรูปแบบการฝึกอบรมทั้งหมด โดยเพิ่มจากราว 21% ในปี 1998 ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมแบบใช้เทคโนโลยีช่วยของบริษัทธุรกิจในปี 1997 ซึ่งตกราว 197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2002 หรือเติบโต 95% ต่อปีนั่นเอง

ใน Sustaining Distance Training จะมีกรณีศึกษาขององค์กร 17 แห่ง ที่ก้าวนำคู่แข่งไปได้ด้วยการใช้การฝึกอบรมทางไกล และผนวกเข้าไปรวมกับกระบวนการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กร โดยครอบคลุมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ขนาดองค์กรทั้งเล็กและใหญ่

ในบทนำ Berge กล่าวถึงบริษัทที่ยกเป็นกรณีศึกษาทั้ง 17 แห่งว่าไม่ได้มองการฝึกอบรมทางไกลจากกรอบของโครงการหรือแผนงาน แต่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจในอนาคต ผู้บริหารระดับสูงคือผู้ตัดสินใจว่าการฝึกอบรมจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้อย่างไร โดยพิจารณาควบคู่กันกับทิศทางขององค์กรในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ บุคลากร และนโยบายด้านแผน เพื่อให้แน่ใจว่าการฝึกอบรมจะมีบทบาทสำคัญในการทำให้องค์กรมีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน และในท้ายที่สุดแล้ว การฝึกอบรมทางไกลจะไม่ได้เป็นเพียงชุดการฝึกอบรมที่แยกจากกันเป็นเรื่องๆ แต่เป็น กิจกรรมและแผนการที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ

กรณีศึกษาทั้ง 17 กรณีมาจากองค์กรหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่กองทัพสหรัฐฯ ไปจนถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารของฝรั่งเศสอย่าง Cap Gemini แต่จัดเป็นกลุ่มโดยพิจารณาว่าการฝึกอบรมช่วยให้บริษัทบรรลุผลเชิงกลยุทธ์ข้อใดในสามข้อดังนี้
1. การเผชิญกับการท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร
2. การวางมาตรฐานในเชิงการแข่งขัน
3. การบรรลุเป้าหมายขององค์กร

ยกเครื่องกรมสรรพากร

ตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ก็คือการปรับโครงสร้างกรมสรรพากรสหรัฐฯ ตามกฎหมายการปฏิรูปและการปรับโครงสร้างปี 1998 ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวได้ให้มีการยกเลิกโครงสร้างองค์กรของกรมสรรพากร ซึ่งเคยจัดแบ่งตามหน้าที่ เช่น การตรวจสอบและการจัดเก็บภาษี โดยแบ่งเป็นเขตพื้นที่ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ เมื่อยกเลิกโครงสร้างเก่าไปแล้วได้ใช้โครงสร้างแบบข้ามสายงาน และอิงกับผู้เสียภาษีที่แบ่งเป็นผู้เสียภาษีประเภทบุคคล ประเภทองค์กรขนาดเล็ก องค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่แทน โครงสร้างใหม่นี้ทำให้องค์กรมีขนาดเล็กลงและมอบหมายงานใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมนับพันตำแหน่ง

ทั้งนี้ โครงสร้างการฝึกอบรมของกรมสรรพากรประสบความสำเร็จได้ด้วยการอาศัยแผนการฝึกอบรมทางไกลเข้าช่วย ซึ่งรวมถึงการใช้การฝึกอบรมทางไกลแบบใช้วิดีโออินเตอร์แอคทีฟ และหลักสูตรระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยลดช่องว่างการฝึกอบรมลง

ผู้เขียนกรณีศึกษานี้ยังอธิบายเกี่ยวกับศูนย์การศึกษาและเรียนรู้ของกรมสรรพากรโดยละเอียดว่า จัดการฝึกอบรมทางไกลโดยผนวกประสานหลักสูตร ให้สอดคล้องกับกระบวนการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และนำออกปฏิบัติได้สำเร็จอย่างไร

นอกจากรายละเอียดของกรณีศึกษาแต่ละกรณีแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีแผนผังและตารางช่วยให้เข้าใจได้ง่าย ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียเวลามากนัก เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ในเชิงการบริหารทรัพยากรมนุษย์อีกเล่มสำหรับองค์กรทุกขนาด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.