Knowledge Property

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บทเรียนของสามพ่อลูกในเรื่องจากปกนิตยสารผู้จัดการฉบับนี้น่าสนใจมาก

ผมเชื่อว่านี่คือบทเรียนแห่งยุคสมัยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับสังคมไทยที่กำลังพัฒนาองค์ความรู้เป็นแกนของสังคมมากขึ้น

เป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับสังคมไทยในยุคเชื่อมต่อระหว่างรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาสืบทอดมรดกของบรรดารุ่นที่ 2 ของวงการธุรกิจไทย ไปจนถึงความพยายามของคนรุ่นใหม่ในการเป็นผู้ประกอบการกันมากขึ้น

มรดกสำคัญของหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นกองมรดก กิจการธุรกิจ หรือแม้กระทั่งที่เขาควรจะมี แต่กลับไม่มีในทางกฎหมายนั่นคือทรัพย์สินทางปัญญา หากเป็นความรู้ที่มาจากประสบการณ์ที่ว่าด้วยมาตรฐานร้านอาหาร ความรู้ที่ว่านี้ แกนสำคัญอยู่ที่นามธรรมของความเชื่อถือในตัวบุคคล โดยมีป้ายหรืออาจจะเรียกเป็นตราสินค้า "เชลล์ชวนชิม" เป็นองค์ประกอบ

บุตรชายทั้งสองของเขาได้ใช้มรดกทางความรู้ของบิดา เป็นสะพานเชื่อมไม่สู่การสร้างทรัพย์สินในเชิงคุณค่าความรู้ใหม่

คนแรก พัฒนาขึ้นมากเป็นพิเศษ การพัฒนาธุรกิจที่ว่าด้วยมาตรฐานอาหาร ค่อนข้างครบวงจร เป็นระบบการบริหารสมัยใหม่ ส่วนอีกคนกำลังสะสางและพัฒนาจากองค์ความรู้เดิมของบิดาให้เป็นระบบมากขึ้น มีคุณค่าในเชิงทรัพย์สินทางปัญญา

บทเรียนของสามพ่อลูกนี้หากจะสรุปความน่าสนใจในหลายมิติ

โมเดลของการสืบทอดนี้ ถือเป็นโมเดลใหม่ และมีคุณค่าอย่างมาก เพราะเริ่มต้นจากความรู้ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าการสืบทอดมรดกแบบเดิม ที่ทายาทเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการของรุ่นก่อน พวกเขาและเธอจะมีความเป็นเจ้าของอย่างเข้มข้น พวกเขาและเธอจะมองถึงอำนาจในสิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สินเช่นคนรุ่นก่อน ฐานความคิดเช่นนี้ มักจะมองข้ามความรู้และประสบการณ์ของบุคคลต่างๆ กิจการซึ่งพัฒนามาในรูปขององค์ความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม เข้าใจยาก แต่หารู้ไม่ นั่นคือคุณค่าที่มีมากกว่าตัวเลขทางบัญชี

หากเริ่มการเรียนรู้คุณค่าขององค์ความรู้จะทำให้การพัฒนาคุณค่าใหม่มีโอกาสมากขึ้น เพราะนั่นคือแก่นแท้ของการสืบทอด ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดกิจการที่ใหญ่โตหรือจับต้องมากเพียงใด สิ่งที่ควรจะต้องยึดถือเป็นบทเรียนจากกรณีนี้ ต้องศึกษาองค์ความรู้ที่มีคุณค่าที่แท้จริง ที่ซ่อนอยู่ในมรดกของรุ่นก่อนได้อย่างถ่องแท้เสียก่อน จากนั้นจึงจะพัฒนาผสมผสานเข้ากับความรู้และประสบการณ์ของตนเอง

การสืบทอดคุณค่าเดิม และสร้างคุณค่าใหม่จากมรดกความรู้จะไม่ได้มาโดยง่าย หากจะต้องเผชิญกับความขัดแย้ง ความผิดพลาด และความล้มเหลวมามากพอสมควร มรดกมิได้หมายความว่าเป็นบันไดที่ทอดไว้ให้รุ่นใหม่ก้าวเดินขึ้นที่สูงอย่างสะดวกสบาย และไม่ใช่การเป็นทุนรอนที่เรียกว่า Venture capital ก้อนใหญ่ไว้สานกิจการให้เติบโตขึ้นเท่านั้น

หากอ่านบทเรียนของสามพ่อลูกดีๆ จะพบเรื่องราวของความรู้สึกนึกคิด ที่เป็นปมขัดแย้ง ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ระหว่างบรรทัดมากมายทีเดียว ทั้งๆ ที่การสืบทอดมรดกนี้ไม่มีผลประโยชน์ที่จับต้องได้จากมรดกเดิม เช่น การสืบทอดกิจการที่เห็นและเป็นอยู่เลย

บทสรุปสุดท้ายจริงๆ ของเรื่องนี้อยู่ที่องค์ความรู้ของผู้สืบทอดนั่นเอง ความรู้ที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของมรดก ว่าที่แท้จริงมรดกนั้นมีองค์ความรู้ซ่อนอยู่หรือไม่ องค์ความรู้ที่มีคุณค่าที่สุดของมรดกนั้นคืออะไร จากนั้นจึงจะพัฒนาไปสู่การผสมผสานและก้าวผ่านเส้นทางเดิมไปสู่ยุคใหม่ที่มีอนาคตได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.