Executive Instinct


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาวะผู้นำอาจไม่ใช่เรื่องที่จะสอนใครก็ได้ และการที่จะให้สถานที่ทำงานไม่มีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างเพศก็อาจจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน นี่คือทัศนะที่ออกจะสวนทางกับแนวคิดทางการบริหารสมัยใหม่ แต่ Nigel Nicholson แห่ง London School of Economics ยืนยันใน Executive Instinct ว่าตามหลักจิตวิทยาวิวัฒนาการมนุษย์นั้นจะกระทำการหรือโต้ตอบการกระทำต่างๆ ตามการควบคุมของพันธุกรรมหรือยีนเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาผู้บริหารและที่ปรึกษาก็เห็นทีจะต้องเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการบริหารเสียใหม่

จิตวิทยาวิวัฒนาการบอกอะไรเกี่ยวกับเราบ้าง
- เราถูกชักนำด้วยอารมณ์ไม่ใช่เหตุผล คนในยุคหินไม่ได้อาศัยสมองแบบเครื่องคำนวณในการอยู่รอด แต่พวกเขาอยู่รอดได้ด้วยความกล้า ทักษะ การควบคุมและความมั่นใจ และเราก็เช่นกัน
- เราต้องการที่จะเข้าใจผู้อื่น (และควบคุมสิ่งที่คนอื่นมองเราอยู่) เราถูกสร้างมาให้เป็นพวกที่ต้องคอยอ่านใจใครต่อใคร และตีความแรงจูงใจในการกระทำต่าง ๆ ของผู้อื่นอยู่ตลอด สัญชาตญาณเชิงสังคมแบบนี้ทำให้เราต้องแสวงหาความร่วมมือ หลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูและเดินหน้าต่อไป
- เราต้องการสร้างชุมชน สัญชาตญาณเชิงวัฒนธรรมจะนำให้เราฟื้นฟูชุมชนของคนรุ่นก่อนขึ้นมาใหม่ ชุมชนที่ว่านี้มีผู้คนไม่เกินกว่า150 คน และมีลักษณะความสัมพันธ์เป็นแบบลำดับชั้น มีการแบ่งงานรับผิดชอบ และจำแนกแบ่งเพศ ชุมชนที่ว่านี้มีเรื่องเล่า มีการเฟ้นหาผู้นำ และสร้างโอกาสที่จะแสดงพิธีกรรมต่าง ๆ

ภาพมายาของการบริหาร
หลักการจิตวิทยาวิวัฒนาการสามารถชี้นำผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจโดยกระตุ้นให้พวกเขามีความตื่นตัวที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ กำหนดเป้าหมายและวางแนวทางที่จะคานกับธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งนี้ นิโคลสันได้ชี้ให้เห็นถึงมายาคติในทางการบริหารที่ควรทิ้งไปดังนี้
- เราสามารถทำงานโดยไม่มีผู้นำ นิโคลสันบอกแม้ว่าเราจะเลิกบทบาทผู้นำแบบเป็นทางการไป แต่ยังต้องมีผู้นำที่ไม่เป็นทางการอยู่ เขายืนยันว่า คนบางคนต้องการเป็นผู้นำอยู่ตลอดและบางคนก็ชอบเป็นคนตามทุกครั้ง
- เรากำลังเข้าสู่ยุคขององค์กรแบบ virtual organisation และพรมแดนระหว่างประเทศไม่ใช่ขีดคั่นการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป นิโคลสันบอกนี่เป็นเหตุผลที่เราต้องพัฒนาหนทางใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกัน และการทำงานแบบที่ต้องมาเจอหน้ากันจะยังดำเนินต่อไปควบคู่กับการสื่อสารระยะทางไกล เขาระบุว่ารูปแบบองค์กรที่เป็นแบบแผนจะยังคงมีอยู่ต่อไป
- เรื่องซุบซิบนินทาเป็นเรื่องของพวกผู้หญิงและล้วนแต่ไร้สาระ นิโคลสันแย้งว่าผู้ชายก็ช่างนินทาพอกับผู้หญิง เพียงแต่เรียกเสียให้ไพเราะว่าเป็น ก๊วนเดียวกัน เขาบอกอันที่จริงแล้วการซุบซิบนินทามีบทบาทสำคัญต่อการอยู่รอดของเรา เพราะเป็นช่องทางที่จะสำรวจแรงจูงใจและความรู้สึกของคนที่เราติดต่อร่วมงานด้วย ซึ่งจะช่วยให้เรานำทางชุมชนหรือองค์กรได้ถูก การเล่าเรื่องเป็นวิธีธรรมชาติอย่างหนึ่งในการสื่อสารของเรา นิโคลสันระบุว่าองค์กรหลายแห่งล้มเหลว ก็เพราะพยายามทำให้การสื่อสารที่ควรจะเป็นธรรมชาติกลายเป็นเรื่องผิดธรรมชาติไป
- เราสามารถสร้างองค์กรที่ไม่มีลำดับชั้นการบังคับบัญชาได้ ไม่เห็นด้วย เขาบอกการใช้อำนาจและอิทธิพลในลักษณะที่ไม่เป็นทางการจะคงมีอยู่เสมอ เพราะมนุษย์โดยเฉพาะผู้ชายนั้นมีนิสัยที่ชอบแข่งขันกันในเรื่องชื่อเสียงและสถานภาพ

บทบาทชาย-หญิง

ผู้อ่านหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับประเด็นเรื่องการแบ่งแยกความแตกต่างทางเพศ แต่นิโคลสันบอกการแบ่งแยกเพศเป็นแรงจูงใจให้พวกผู้ชายจำแนกความแตกต่าง ระหว่างความสามารถกับเป้าหมายของเพศชายและหญิงออกจากกัน นิโคลสันบอกการจะมองข้ามความแตกต่างระหว่างเพศนั้นทำได้โดยการเอาชนะตนเองเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ เขาระบุว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ชายและผู้หญิงมีสไตล์ที่ต่างกันและมีวิธีแสวงหาความพึงพอใจแตกต่างกัน องค์กรที่ดีเยี่ยมจึงต้องมองเห็นความแตกต่างที่ว่านี้ และให้โอกาสแก่พนักงานและผู้บริหารทั้งสองเพศที่จะใช้ความสามารถที่เป็นธรรมชาติ แทนที่จะหาความเป็นแบบแผนเดียวกันสำหรับชายและหญิง แล้วกำหนดเป้าหมายที่เป็นจริงไม่ได้เพราะไม่ได้พิจารณาข้อแตกต่างของชายและหญิง ที่จริง เราควรมุ่งเน้นความสำคัญของความเสมอภาคของโอกาสและเสรีภาพจากการกดขี่ ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องตระหนักยอมรับถึงความแตกต่างแทนที่จะปฏิเสธมัน

นิโคลสันห็นว่าโอกาสจะเปิดให้กับผู้หญิงมากขึ้นในยุคเศรษฐกิจแบบข้อมูลข่าวสาร เพราะปัจจุบันเราไม่ได้ต้องการช่างเทคนิคหรือคนที่เก่งทางด้านการควบคุมบังคับบัญชามากนัก ทักษะที่สำคัญของยุคนี้คือการสื่อสารระหว่างบุคคลและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี และทักษะที่ว่านี้ก็เป็นจุดเด่นของผู้หญิงเสียด้วย

นี่คือแนวคิดว่าด้วยจิตวิทยาวิวัฒนาการที่นิโคลสันนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กรยุคใหม่

 



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.