การแพทย์ในฝรั่งเศส

โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"แพทย์" หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าหมอนั้น เป็นคำศักดิ์สิทธิ์เหมือนคำว่า "ครู" ดูน่านับถือ คราใดที่ต้องพบแพทย์ เป็นต้องยกมือไหว้ด้วยความนับถือก่อนอื่น แม้ตนเองจะอาวุโสกว่าก็ตาม หมอเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายแก่คนไข้ที่ไปหา หมอวินิจฉัยผิดเมื่อไร แทนที่โรคภัยจะหายกลับอาการหนักหรืออาจถึงแก่ความตายได้ หมออยู่กับความเจ็บป่วยและความตาย หมอไทยจำนวนไม่น้อยจึง หันมาศึกษาธรรมะเพื่อความสงบทางใจหรือเพื่อปลงอนิจจังดังคำสอนของพระพุทธเจ้า

นักเรียนแพทย์ในเมืองไทยนั้น มักเป็นผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในสายวิทยาศาสตร์ ถือเป็นหัวกะทิของประเทศ อีกทั้ง "คุณหมอ" ที่เคยคุ้นล้วนแต่เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบนอบ ไม่ "หิว" เงิน มีจรรยาแพทย์สูง รักษากันมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือจนปัจจุบันต้องเรียก "ย่าหมอ" "ลุงหมอ" เหมือนหลานๆ

ในฝรั่งเศสนั้น ผู้มีคะแนนสูงในสายวิทย์จะเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์มากกว่า นักเรียนแพทย์ไม่ได้มีคะแนนสูงนัก ฟังแล้วนึกสยองว่าผู้ปัดเป่าโรคภัยให้เรานั้นมือถึงหรือเปล่า ถึงกระนั้นใช่ว่าการแพทย์ฝรั่งเศสจะไม่เก่งเสียเลย มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในระดับอินเตอร์ไม่ใช่น้อย

เมื่อมาฝรั่งเศสครั้งนี้ พบว่าสามารถมีอาการป่วยไข้หนักกว่าควรได้ เพราะการหาหมอนั้นต้องมีการนัดล่วงหน้า หนาวแรกในฝรั่งเศสนั้นก่อปัญหามากด้วยว่าอาการแพ้อากาศที่มีอยู่แล้วกำเริบหนัก "หมอตี๋" หายากินเองเพราะมียาแก้แพ้อากาศติดมาด้วย ทว่าอาการไม่ได้ดีขึ้น ระบบทางเดินหายใจป่วยทั้งระบบลงไปถึงหลอดลมเป็นเวลาหลายเดือนอยู่ จนวันหนึ่งทนไม่ไหว บังเอิญว่าเป็นวันเสาร์ที่คลินิกเอกชนปิดหมด จึงตามหมอ SOS หมอสั่งยาหลายขนาน รวมทั้งยาแก้อักเสบ

สองสัปดาห์ให้หลัง แต่อาการไม่กระเตื้องขึ้น แถมทรุดไปอีก จนในที่สุดค้นหาชื่อแพทย์เฉพาะทาง ระบบหู คอ จมูก ต้องนัดล่วงหน้าอีกหลายวัน ระหว่างนั้นก็ทรมานกับโรคภัยไป เมื่อได้พบหมอเฉพาะทาง นำยาที่หมอคนก่อนให้ดูและบอกหมอว่าอาการที่เป็นอยู่เป็นอาการแพ้อากาศ เป็น allergy ไม่ได้เป็นไข้หวัดแต่อย่างใด เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน และหากคอจะแดงก็เพราะแรงไอ มิได้เกิดอาการอักเสบแต่อย่างไร เมื่ออาการลงหลอดลม บางครั้งไอจนหอบ หมอฟังเสร็จก็ส่องจมูก ส่องคอ และส่องหู และบอกว่าเมื่อว่าเป็น allergy ก็จะรักษาทางนี้นะ จึงให้ยาแก้อาการแพ้มา เป็นหมอที่ค่อนข้างพิถีพิถันในการรักษา กว่าจะหายได้ทำเอาเหนื่อย อย่างไรก็ตาม อาการแพ้อากาศกลับมาเยี่ยมเยือนอีกเมื่ออากาศเย็น คงเป็น hay fever เกสร ดอกไม้ที่ปลิวว่อนในอากาศเมื่ออากาศแห้งทำให้ชาวไทย ชาวเทศจำนวนไม่น้อยป่วยด้วยโรคนี้

อีกอาการหนึ่งที่มาพร้อมกันคือ อาการแพ้น้ำด้วยว่าน้ำประปาในฝรั่งเศสนั้นมีตะกอนมาก อีกทั้งชาวไทยติดนิสัยอาบน้ำเช้าเย็น แถมอาบน้ำอุ่นอีกด้วย ผิวจึงแห้งแตกระแหง ที่น่ากลัวคือเกิดอาการเนื้อแตกเลือดออกซิบๆ จึงนัดแพทย์ผิวหนัง กว่าจะได้พบอีกหนึ่งสัปดาห์ หมอเห็นแล้วบอกว่าเรื่องเล็ก ไม่ให้ใช้สบู่ ไม่ให้อาบน้ำร้อนจัด ให้ครีมล้างตัวที่ไม่เข้าสบู่และครีมทาตัว ทั้งสองทำจากน้ำพุร้อนจากภูเขาที่ช่วยสมานผิว อีกทั้งให้ยาทาแก้คันแก้ผิวแตก ยานี้ใช้เพียงสิบวันแล้วต้องหยุด เพราะไปลอกผิวหนังชั้นแรกออก หากใช้นานจะเป็นอันตรายต่อผิวในภายหลัง

ระบบการแพทย์ในฝรั่งเศสนั้น หมอจะได้แต่ค่าปรึกษาทางการแพทย์ อายุรแพทย์ได้ประมาณ 25-30 ยูโร แพทย์เฉพาะทางเรียก 40 ยูโรขึ้นไป การไปหาหมอจึงต้องเตรียมเงินสดเพื่อจ่ายค่าปรึกษาหมอ เช็คหรือบัตรเครดิตไม่พึงประสงค์ หลังจากนั้นนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยา เภสัชกรจะขอดูบัตรสวัสดิการสังคม และจะให้จ่ายเงินเฉพาะค่ายาที่สวัสดิการไม่ครอบคลุม ดังในกรณีครีมสบู่และครีมทาตัว ส่วนที่ครอบคลุม ร้านขายยาจะไปขอรับเงินคืนจากหน่วยงานสวัสดิการสังคมเอง

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าปรึกษาของแพทย์เฉพาะ ทางอย่างจักษุแพทย์ สูตินรีแพทย์ แพทย์ผิวหนังหรือแพทย์วางยา เป็นต้น กำหนดไว้ที่ 23 ยูโรเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงหมอเรียกเก็บตามใจชอบระหว่าง 25-40 ยูโร ไม่ว่าคนไข้จะต้องจ่ายค่าปรึกษามากเท่าไร สวัสดิการสังคมจ่ายคืนเพียง 23 ยูโรเท่านั้น แพทย์เฉพาะทางเห็นว่าความรู้เฉพาะทางควรได้ค่าตอบแทนมากกว่านั้น อีกทั้งคนไข้พร้อมจะจ่ายเพราะได้รับการ "บริการ" ที่มีคุณภาพ แพทย์เฉพาะทางจึงขอออกนอกระบบสวัสดิการสังคม ในกรณีนั้น คนไข้จะไม่ได้รับเงิน ชดเชยจากสวัสดิการสังคมเลย การเรียกร้องของแพทย์ กลุ่มนี้ทำให้แพทย์โดยรวมไม่สบายใจนัก จึงเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนและปรับอัตราค่าปรึกษาแพทย์ให้เหมาะสมในแผนปฏิรูปสวัสดิการสังคม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล

ฝรั่งเศสขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนแพทย์และพยาบาลมีไม่เพียงพอกับการบริการคนไข้ แพทย์ตามโรงพยาบาลต้องทำงานหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ฉุกเฉิน ประกอบกับเงินตอบแทนน้อย จรรยาบรรณคืออะไรไม่รู้จักเสียแล้ว คิดถึงตัวเองก่อน ใครจะเป็นจะตายไม่ใช่เรื่อง ขอไปเดินประท้วงหรือหยุดงานประท้วงเสียก่อน เรียกร้องขอเพิ่มบุคลากรปรับเงินค่าตอบแทน เพิ่งเห็นปรากฏการณ์นี้ที่ปารีสนี่แหละ

คนไข้มีสิทธิตายไหมนี่

การหยุดพักร้อนเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เมื่อถึงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ชาวฝรั่งเศสค่อนประเทศต้องลาหยุดไปพักร้อน ไม่เว้นแม้แต่หมอ แม้จะมีกฎว่าเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานต้องมีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริง เหลือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อคลื่นความร้อนถาโถมใส่ยุโรปเมื่อเดือนสิงหาคม 2003 ชาวฝรั่งเศสจึงเสียชีวิตถึง 15,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ช็อกเพราะร่างกายขาดน้ำ มิไยที่ประธานชมรมแพทย์ฉุกเฉินจะประกาศเตือน พร้อมกับปรารภถึงจำนวนแพทย์ฉุกเฉินที่มีไม่พอรับมือวิกฤติการณ์ครั้งนั้น หากผู้รับผิดชอบบางคนออกมาปฏิเสธข่าว เกิดการโต้แย้งทางสื่อ รัฐบาลเกือบทั้งคณะไปพักร้อนหมดเช่นกัน ใครเล่าจะได้ยินเสียงเตือนภัยเพราะกำลังมีความสุขกับการพักผ่อนกับครอบครัว ไม่อยากรับรู้ อีกทั้งไม่มีผู้นำคนไหนเชื่อว่ามีคนตายเพราะคลื่นความร้อน กว่ารัฐบาลจะฉุกคิด ผู้สูงอายุเสียชีวิตราวกับใบไม้ร่วง สัปเหร่อมีงานล้นมือ อีกทั้งโบสถ์ก็งานหนัก เพราะต้องจัดคิวทำพิธีมิสซา

วิกฤติการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดวีรบุรุษใหม่หนึ่งคน คือประธานชมรมแพทย์ฉุกเฉิน สื่อมวลชนตั้งคำถามว่า ฤานี่จะเป็นแบร์นารด์ กูชแนร์ (Bernard Kouchner) คนใหม่ (แบร์นารด์ กูชแนร์ เป็นหนึ่งในแพทย์ที่ก่อตั้ง Medecins sans Frontieres แพทย์ไร้พรมแดนที่ให้ความ ช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ชนชาติที่ต้องการความช่วยเหลือ องค์กรนี้เคยได้รับรางวัลโนเบลมาแล้ว) ประธานชมรมแพทย์ฉุกเฉินเป็นแพทย์หนุ่มเพียงคนเดียวที่กล้าออกมาตอบโต้ <<ผู้ใหญ่>>

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์หลายครั้ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.