5 พฤษภาคม วันเด็ก (ชาย)

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 เป็นต้นมา วันที่ 5 พฤษภาคม ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดประจำปี เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ถึงแม้จะไม่ได้ระบุให้ชัดเจนก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว "วันเด็ก" ของญี่ปุ่นในที่นี้หมายถึงวันเด็กสำหรับเด็กผู้ชาย ส่วนวันสำหรับเด็กผู้หญิงจะจัดในวันที่ 3 มีนาคม (อ่านเพิ่มเติม ผู้จัดการ ฉบับมีนาคม 2547)

การที่ญี่ปุ่นมีวันเด็กแยกออกเป็น 2 วันนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นการสร้างความแตกต่างระหว่างเด็กหญิงกับเด็กชายแต่อย่างใด หากแต่ทั้งสองวันนี้มีต้นกำเนิดจากแนวความคิดที่สอดคล้องกับฤดูกาลและธรรมเนียม ประเพณีดั้งเดิมที่ต่างกัน พูดคร่าวๆ คือ งานเทศกาล Momo no Sekku จัดฉลอง Peach Blossom อันเป็นสัญญาณจากธรรมชาติที่บอกให้ทราบถึงฤดูใบไม้ผลิ ที่กำลังมาเยือนกับงานเทศกาลตุ๊กตาฮินะ ในวันที่ 3 เดือน 3 ถูกดัดแปลงให้เข้ากับวันสำหรับเด็กหญิง และในอีก 2 เดือนถัดมา งานเทศกาล Tango no Sekku ที่จัดในช่วงที่ดอก Iris บาน (ภาษาไทยเรียกว่า ว่านแม่ยับ) ซึ่งเป็นการเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนกับธรรมเนียมปฏิบัติของซามูไร ในวันที่ 5 เดือน 5 กลายมาเป็นวันเด็ก (ชาย) ในที่สุด

พอเริ่มเข้าสู่เดือนพฤษภาคม โชกุนจะขี่ม้าออกไปเก็บสมุนไพรที่เชื่อว่ามีฤทธิ์วิเศษสามารถขับไล่วิญญาณต่างๆ ได้นำมาประดับไว้ตามชายคา เพื่อปกป้องคุ้มครองให้เด็กผู้ชายที่จะโตขึ้นเป็นบริวารของตน ตามแบบอย่างของวัฒนธรรมจีนโบราณที่แพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นในสมัยนาราและเฮอัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฉลองให้กับเด็กชายในเวลาต่อมา

ต่อมาในสมัยคามาคุระ บรรดาเหล่าซามูไรนิยมนำเสื้อเกราะและศัสตราวุธมาตั้งประดับไว้ เพื่อเป็นการฉลองและอวยพรให้ลูกชายเติบโตเป็นซามูไรตามแบบอย่างของตระกูล โดยมีความเชื่อว่าเสื้อเกราะเป็นเครื่องรางสำหรับการป้องกันภัยต่างๆ ในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับโรคระบาด ส่วนธนูก็มีความเชื่อว่าใช้เป็นเครื่องรางที่ช่วยขับไล่วิญญาณชั่วร้ายต่างๆ ได้ และดาบ Tachi (ดาบที่มีใบมีดขนาดใหญ่) จะช่วยสะท้อนแสงขับไล่ปีศาจได้

เช่นเดียวกับตุ๊กตาฮินะ ชุดเกราะของซามูไรตระกูลดังๆ ที่จัดแสดงไว้จะได้รับการรักษาอย่างดีและถือเป็นสมบัติล้ำค่าของตระกูลที่ตกทอดจากรุ่นหนึ่ง ไปยังอีกรุ่นหนึ่งต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งญี่ปุ่นถูกอเมริกาบังคับเปิดประเทศ ซึ่งนำไปสู่วาระสุดท้ายของยุคซามูไรชนชั้นพิเศษในสังคมญี่ปุ่น ในปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นไม่มีตระกูลซามูไรเหลืออยู่แล้ว ดังนั้นชุดเกราะและศัสตราวุธเก่าแก่ของตระกูลซามูไรดังๆ อย่างเช่นตระกูล Takeda ตกเป็นสมบัติชาติ หรือไม่ก็ถูกเก็บรักษาไว้ตามศาลเจ้าสำคัญๆ

ประเพณีการฉลองอวยพรที่จัดให้กับเด็กชายนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มซามูไรเท่านั้น ชาวบ้านธรรมดาก็ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดนี้ด้วยเช่นกันเพียงแต่มีรูปแบบการปฏิบัติที่ต่างกัน เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้มีเสื้อเกราะและอาวุธในครอบครองได้ ชาวบ้านจึงใช้การประดับด้วยธงปลาคาร์พ (Koi no bori) 3 ตัวบนยอดไม่ไผ่ โดยมีความเชื่อว่าลูกชายจะเจริญเติบโต แข็งแรง มีความขยันหมั่นเพียรและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เหมือนกับปลาคาร์พในตำนานจีนโบราณที่ว่า "กาลครั้งหนึ่ง ณ ภูเขา ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งมีประตูมังกรตั้งอยู่ที่น้ำตกต้นน้ำ ซึ่งในฤดูวางไข่ ปลาคาร์พจะว่ายทวนน้ำ ไปยังต้นน้ำแห่งนั้น อยู่มาวันหนึ่งมีปลาคาร์พตัวหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นมังกร มันจึงเฝ้ากระโดดไต่น้ำตกเพื่อข้ามผ่านประตูมังกรนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดความพยายามที่ไม่ย่อท้อทำให้สามารถผ่านประตูและกลายร่างเป็นมังกรได้สำเร็จ"

โดยทั่วไป เซตของธงปลาคาร์พมักจะมี 3 ตัว ปลาคาร์พสีดำตัวบนสุดและมีขนาดใหญ่สุด หมายถึง พ่อ ปลาคาร์พตัวถัดไปสีแดง มีขนาดรองลงมา หมายถึง แม่ และปลาคาร์พ สีน้ำเงินตัวล่างสุด ขนาดเล็กสุดหมายถึง ลูก ในบางครั้งอาจจะเห็นเซตของธงปลาคาร์พที่มีมากกว่า 3 ตัว ซึ่งอาจเดาได้ว่าบ้านนั้นมีลูกชายกี่คน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีลูกชายมากกว่าหนึ่งคนก็ตาม เซตธงปลาคาร์พ 3 ตัว สามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุด

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธรรมเนียมปฏิบัติทั้งสองอย่างถูกรวมเข้าด้วยกัน ภายนอกบ้านประดับธงปลาคาร์พ ซึ่งมีขนาดที่กะทัดรัดขึ้นตามขนาดครอบครัวที่เล็กลงและพื้นที่อยู่อาศัยก็แคบลงกว่าแต่ก่อน ส่วนภายในบ้านตั้งโชว์ชุดเกราะพร้อมศัสตราวุธชุดละหลายหมื่นเยน (หรือมากกว่า) บางครั้งอาจมีตุ๊กตาซามูไรเด็กด้วย นอกจากนี้ยังมีอาหารพิเศษในวันเด็กอีกสองอย่างคือ Kashiwa mochi เป็นขนมโมจิไส้ถั่วแดงที่ห่อด้วยใบโอ๊ก (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Kashiwa) คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าใบโอ๊กเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี และยังมีความหมายที่ดีอีกด้วย หน่อของต้นโอ๊กจะงอกขึ้นมาในขณะที่ใบเก่ายังไม่ร่วง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีโชคมีลาภอยู่เนืองๆ

ขนมอีกอย่างที่นิยมรับประทานในวันนี้คือ Chimaki เป็นขนมโมจิที่ห่อด้วยใบไผ่แล้วนำไปต้มเวลาแกะออกมาขนมโมจิข้างในจะมีสีเขียวอ่อนจากใบไผ่ เมื่อรับประทานแล้วจะช่วยในเรื่องการทำงานของทางเดินระบบอาหารให้ดีขึ้นได้ด้วย

กิจกรรมอีกอย่างที่ต่างไปจากวันเด็กผู้หญิง คือ การชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ด้วยการอาบน้ำ ประพรมด้วยใบ Iris ซึ่งถือว่าเป็นสมุนไพรวิเศษ ในสมัยก่อนใช้เป็นยาถอนพิษ ช่วยการทำงานของกระเพาะ ทำให้โลหิตไหลเวียนดี แก้ฟกช้ำดำเขียว

ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวกับปลาคาร์พ ซามูไรต้นโอ๊ก ไม้ไผ่และใบ Iris ล้วนแล้วแต่สื่อถึงสัญลักษณ์ของความแข็งแรงที่ปรารถนาให้เด็กชายเติบโตขึ้นอย่าง มีคุณภาพ ทุกวันนี้วันเด็กเป็นหนึ่งในวันหยุดต่อเนื่องในช่วง Golden Week ซึ่งจะหยุดติดต่อกันประมาณหนึ่งสัปดาห์ พ่อแม่มักจะพาเด็กๆ ไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย ที่ต่างจังหวัด หรือไม่ก็ไปเที่ยวตามสวนสนุก ห้างสรรพสินค้า ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ ที่มักจะจัดงานวันเด็กและเปิดเพลง Koi no Bori ช่วยเพิ่มบรรยากาศของงาน ภาพของธงปลาคาร์พที่ปลิวไสวบนยอดไม้ไผ่เป็นภาพที่คุ้นตาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ การสอนลูกพับหมวกซามูไรกระดาษก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของครอบครัว ที่ประหยัดและได้รับความนิยมเสมอมา

การฉลองวันเด็กชายมีรูปแบบและวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกับการฉลองในวันเด็กหญิง สิ่งหนึ่งที่ต่างกัน คือ วันเด็กชายเป็นวันหยุดในขณะที่วันเด็กหญิงเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง ดังนั้นจึงมีหลายคนโต้แย้งว่าวันเด็กหญิง น่าจะเป็นวันหยุดด้วย ซึ่งก็หวังให้เป็นอย่างนั้นอยู่เหมือนกันจะได้มีวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.