แม้ว่ารัฐบาลอเมริกันจะออกมาประกาศตัวเลขอัตราการจ้างงานที่มีสูงขึ้นจำนวน
308,000 งาน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่จากตัวเลขอัตราการว่างงานที่ยังคงมีสูงถึง
8.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 5.7% ตามที่กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น
ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯกระเตื้องขึ้น...งานของคนอเมริกันหายไปไหน...
หลายท่านที่พำนักอยู่ในอเมริกา อาจจะเคยติดตามรายการ Lou Dobbs Moneyline
ของ CNN ท้องถิ่นกันบ้าง แต่สำหรับ CNN International ไม่แน่ใจว่าสามารถชมรายการนี้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม จะเล่าให้ฟังถึงรายการ Lou Dobbs Moneyline ที่จัดโดย Lou Dobbs
อดีตนักเศรษฐศาสตร์จากรั้ว Harvard ซึ่งมีตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วไปของอเมริกา
โดย Dobbs ให้ชื่อตอนว่า "Exporting America" พร้อมกับให้คำอธิบายอย่างเสียดสีว่า
"ขณะนี้อเมริกาไม่ใช่เพียงแค่ส่งเงินดอลลาร์ไปเทรดทั่วโลกแล้ว หากยังขนงานที่มีอยู่ในประเทศออกไปยังนอกประเทศอีกด้วย"
ในรายการ Dobbs จะสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยสรุปแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดงานของอเมริกาสูญเสียอัตราการจ้างงานเป็นจำนวนมาก
อาทิ ปลายปีที่แล้ว บริษัทยีนส์ชื่อดังอย่าง "Levi Strauss" ประกาศปิดโรงงานทุกโรงในสหรัฐอเมริกา และย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ล่าสุด
บริษัท Honeywell ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่อง Thermostats รายใหญ่ ปิดโรงงานในมลรัฐ
Rhode Island และย้ายฐานแรงงานจำนวน 374 ตำแหน่งไปยังประเทศเม็กซิโกและจีน
ทั้งนี้ยังไม่นับธุรกิจซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ หรือบริษัทเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มดังๆ
อีกหลายยี่ห้อ ซึ่งหากเดินชอปปิ้งซื้อของในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคจากห้าง
Retail ยักษ์ใหญ่อย่าง Wal-Mart ซึ่งครองอันดับหนึ่งในตลาดสหรัฐฯ ที่เคยประกาศว่าสินค้าส่วนใหญ่
Made in USA ขณะนี้ รับประกันได้ว่า 90% เป็น Made in China หรือไม่ก็ประเทศอื่นอย่าง
Taiwan หรือ Korea เป็นต้น สินค้าที่กล่าวถึงนี้เป็นสินค้าที่มีแบรนด์เป็นอเมริกันนะ
ไม่ใช่สินค้านำเข้า น้ำพริกแม่ประนอมที่ Made in Thailand นอกจากนั้น ปีที่แล้วสายการบิน
Delta ประกาศรับสมัครพนักงาน สำรองที่นั่งของสายการบินในอินเดียและฟิลิปปินส์กว่า
600 ตำแหน่ง
นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของอเมริกาที่กำลังเป็นไปในขณะนี้
มิใช่ความเป็นไปของกลไก Global Trade หรือการค้าเสรี NAFTA ที่บริษัทต่างๆ
ของอเมริกา ควรจะขยายตลาดและขยายกลุ่มลูกค้าออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
แต่ในทางกลับกัน บริษัทอเมริกันกลับออกไปจ้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีค่าแรงและต้นทุนที่ต่ำกว่า
เพื่อผลิตสินค้าและกลับมาจำหน่ายในประเทศ และส่งออกอีกทีหนึ่ง...
นี่เป็นสาเหตุให้นักวิพากษ์เศรษฐกิจออกมาวิจารณ์ถึงการล้มเหลวของ NAFTA
ซึ่งแทนที่จะช่วยการส่งออกของสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น แต่กลับเป็นว่า ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลง
และอัตราการว่างงานในประเทศมีมากขึ้น ผลประโยชน์ตกอยู่กับบริษัทผู้ผลิต มิใช่คนอเมริกันที่ยังว่างงานนับล้านคน
ซึ่งโดยประมาณแล้ว ในปี ค.ศ.2001 และ 2002 อเมริกาสูญเสียงานให้ประเทศอื่นๆ
ถึง 560,000 งาน
จีนดูเหมือนจะเป็นประเทศที่นักวิจารณ์เหล่านี้กลัวมากที่สุด ขนาดบริษัทมือถือรายใหญ่อย่าง
Motorola ยังปิดโรงงานที่ Wisconsin เป็นผลให้คนตกงานนับพันคน ไปลงทุนในจีนสูงถึง
3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัท General Electric ก็เข้าไปลงทุนอีก 1.5
พันล้านเหรียญ นักวิจารณ์บางคนให้คำโต้แย้งว่า งานเหล่านั้นเป็นงานแรงงานพวก Blue Collar ซึ่งชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระดับนั้น ตลาดแรงงานส่วนใหญ่ในอเมริกาเป็นตลาดแรงงานประเภท
White Collar พวกใช้ทักษะสูง
แต่กระนั้นก็มีข้อโต้แย้งกลับไปว่า ทำไมบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ ไม่จ้างชาวอเมริกันที่จบ
Computer Science ปีละหมื่นๆ คน แต่กลับไปจ้างคนในประเทศอื่นแทน คำตอบง่ายๆ
คือ ค่าจ้าง... ค่าจ้างขั้นต่ำในอเมริกัน ปัจจุบันต้องจ่ายชั่วโมงละประมาณ
6 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 240 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำบ้านเราแค่ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกัน
เช่นเดียวกับจีน ไต้หวัน เกาหลี หรือเม็กซิโก ที่อาจต่ำลงไปอีก เทียบกับค่าหัวแรงงานอเมริกันที่มีดีกรี
Computer Science ตกประมาณปีละ 2 ล้านบาท... คิดเอาแล้วกันว่า บริษัทจะเลือกจ้างใคร...
และหากคุณเป็นผู้ประกอบการต้องการเปิดโรงงานในอเมริกา ซึ่งต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
น้ำใส อากาศสะอาด ประกันสุขภาพ Social Security วันลาคลอด ความปลอดภัยของโรงงานและเครื่องจักร
แต่หากคุณไปเปิดที่ประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า 50 เซ็นต์ และยังไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านั้นอีก...คุณจะเลือกที่ไหน"
เป็นคำถามที่ท้าทายจากกลุ่มนักวิจารณ์
อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มียอดคนทำงานให้แก่บริษัทใหญ่อย่าง GE Capital
และ Microsoft ที่ เปิดดำเนินการในอินเดียเองสูงถึง 1 ล้านคน สาเหตุที่บริษัทเหล่านั้นชอบอินเดีย
เนื่องจากเป็นพวกสู้งาน ทำงานหนัก มีการศึกษาดี หลายคนมีดีกรีจากต่างประเทศ
และพูดภาษาอังกฤษได้ หากเปรียบเทียบนักเรียนปริญญาโทชาวอินเดียที่จบ MBA
จากสถาบันในประเทศ และมีประสบการณ์ทำงานประมาณ 2-3 ปี จะมีรายได้ประมาณปีละ
12,000 เหรียญสหรัฐ กับนักเรียนอเมริกันที่จบ MBA จาก Harvard ที่แต่ละคน
มีความคาดหวังรายได้ขั้นต่ำปีละ 100,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งต่างกันถึง 10 เท่า...สถานการณ์นี้ค่อนข้างวิกฤติต่ออเมริกาในปัจจุบันและอนาคต...
วันนี้คนอเมริกันต้องกลับไปนับข้าวของเครื่องใช้ที่มีในบ้านว่ามีกี่ชิ้นที่เป็น
Made in China, Made in Taiwan, Made in India, Made in Mexico... และมีอีกกี่ชิ้นที่เป็น
Made in USA...นี่เป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า งานของคนอเมริกันหายไปไหน... หายไปในดินแดนของประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีค่าแรงต่ำ...
ต่ำเกินกว่าที่แรงงานในประเทศอเมริกาจะสู้ได้...