ตลอดศตวรรษที่ 20 ผู้คนมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อสุขภาพหรือเพื่อการพักผ่อนยามว่างกันในโรงยิม
สระว่ายน้ำ ห้องน้ำ หรือไม่ก็ที่ชายหาดกัน อุตสาหกรรมสปาเพิ่งจะได้รับความนิยมจนมีอัตราเติบโตแบบพุ่งพรวดเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
เห็นได้จากในสหรัฐอเมริกามีอัตราการเพิ่มของสปาสูงถึงปีละ 21 เปอร์เซ็นต์ตลอด
5 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของ bathhouse นั้นต้องบอกว่า เพิ่งกลับมาฟื้นคืนชีพโดยแท้จริง
สัญญาณบ่งชี้แน่ชัดที่สุดคือ การลงทุนเพื่อให้บริการ bathhouse ในกิจการโรงแรมที่มีเจ้าของเป็นชาวอเมริกัน
อาทิ Andre Balaz เจ้าของ Standard Spa ในไมอามี่ ซึ่งมีโครงการจะเปิดให้บริการปลายปีนี้
โรงแรมขนาด 100 ห้องของเขาเน้นบริการทองคือสปาและ bathhouse แบบตุรกี
Alexia Brue พูดถึงคุณสมบัติสำคัญๆ ของ bathhouse ไว้ในหนังสือ Cathedrals
of The Flesh ของเขาว่า "ปกคลุมด้วยไอน้ำ ผู้เข้าไปใช้บริการจะมีสุขภาพดีและได้รับความสุขความเพลิดเพลิน
เพราะเป็นทั้งแหล่งพบปะสังสรรค์และชาร์จพลังงานในสภาพแวดล้อมอันสวยงามในเวลาเดียวกัน
bathhouse ที่แท้จริงต้องเป็นศูนย์รวมของผู้เข้าใช้บริการซึ่งกระตือรือร้นในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร
เรื่องซุบซิบ และเคล็ดลับเกี่ยวกับสุขภาพระหว่างกัน bathhouse ของทุกชาติมีคุณสมบัติดังกล่าวเหมือนกันหมด
ไม่ว่าจะเป็นของตุรกี ญี่ปุ่น เกาหลี ฟินแลนด์ หรือรัสเซียก็ตาม การอาบน้ำเป็นเรื่องของการดูแลตัวเองและเพื่อนที่มาด้วยกัน
ไม่ใช่การจ่ายเงินว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านความงามมาดูแลให้ การอาบน้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันหรือไม่ก็ทำกันสัปดาห์ละครั้ง
ขณะที่ความถี่ในการใช้สปาขึ้นอยู่กับความพอใจหรือความสะดวกของผู้ใช้บริการ"
Bathhouse ยุคใหม่จึงทำหน้าที่เป็นสถาบันทางสังคม เป็นสถานที่สำหรับผ่อนคลายร่วมกัน
โดยมีไอน้ำ (steam) เป็นสื่อของการสร้างเกลียวสัมพันธ์ทางสังคม และความร้อน
(heat) ทำหน้าที่ช่วยสลายความเคอะเขินระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
ช่วงศตวรรษที่ 16 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 17 และ 18 ธุรกิจ bathhouse ในยุโรปซบเซาถึงขีดสุดเพราะปัญหาโรคระบาด
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาถึงขั้นสั่งปิดกิจการ bathhouse ในซานฟรานซิสโกเป็นแห่งแรกเมื่อปี
1984 เพราะการระบาดของโรคเอดส์
เป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจ bathhouse ในยุโรปและอเมริกามีวงจรของการตกต่ำแล้วกลับมาฟื้นตัวอีก
ขณะที่ญี่ปุ่นไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้เลย เพราะการอาบน้ำใน bathhouse ถือเป็นวัฒนธรรมของชาติมาแต่โบราณกาล
จุดที่น่าสนใจคือพัฒนาการด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของ bathhouse มากกว่า
ถือได้ว่า Kengo Kuma เป็นตัวอย่างของผู้สร้างพัฒนาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
เขาออกแบบให้ Kinzan Bathhouse และ Horai Bathhouse มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง
และเป็นแบบฉบับของญี่ปุ่นอีกต่างหาก นั่นคือการทำให้แสงจากภายนอกตัวอาคารสามารถส่องเข้าไปในตัวอาคารได้เต็มที่
Horai Bathhouse มีรูปแบบเรียบง่าย ประกอบด้วยแพลตฟอร์มไม้ มีที่อาบน้ำซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้หนาทึบ
หลังคามุงด้วยแผ่นพลาสติกลูกฟูกเท่านั้น (โปรดดูภาพประกอบ)
การฟื้นคืนชีพของ bathhouse นี้ส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันอย่างเร่งด่วนของมนุษย์
ที่พยายามจะต่อเชื่อมกับองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ดูเหมือนเราๆ ท่านๆ กำลังดำเนินชีวิตคนละจังหวะกับธรรมชาติและห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที
จึงอาจถือว่าเป็นอีกความพยายามหนึ่งในการจัดการกับทรัพยากรโลกอย่างมีสำนึกรับผิดชอบก็ได้