จิบกาแฟ ท่องอินเทอร์เน็ต

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่เพียงแต่สร้างประสบการณ์ในการดื่มกาแฟเท่านั้น หากแต่ STARBUCKS กำลังสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าจิบคาปูชิโน่ ท่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

หากใครมา STARBUCKS เวลานี้ ไม่เพียงจะได้สัมผัสกับกลิ่นกรุ่นของกาแฟ ในร้านที่ตกแต่งแบบกึ่งผับ เคล้าเสียงเพลง ที่เลือกมาขับกล่อมเท่านั้น แต่ยังสามารถนั่งจิบกาแฟท่องอินเทอร์เน็ต เช็กอีเมลผ่านบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

แรงบันดาลใจของการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ Wi-Fi ในร้าน STARBUCKS ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะ STARBUCKS ในสหรัฐอเมริกา และบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด และ T-Mobile ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพิ่งร่วมกันเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปี ของการให้บริการ T-Mobile Hotspot ไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยมีร้าน STARBUCKS 2,600 แห่ง ที่เปิดให้บริการนี้ไปแล้วและกำลังอยู่ระหว่าง ขยายเพิ่ม 2,700 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา

ส่วนในไทย STARBUCKS เริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือ Wi-Fi เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว โดยจับมือกับบริษัทเคเอสซี อินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตภายใต้ เครือข่าย MIH ประเทศไทย เริ่มให้บริการ ลูกค้าในร้าน STARBUCKS ทดลองใช้บริการฟรี 30 นาทีตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

หลังทดลองให้บริการ 3 เดือน จนได้ตัวเลขเป็นที่น่าพอใจ มียอดเฉลี่ยการใช้อยู่ที่ 6 ชั่วโมงต่อวัน เฉลี่ยลูกค้าใช้งานอยู่ที่คนละ 30-45 นาที STARBUCKS และ KSC จูงมือกันเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ลูกค้า STARBUCKS ในไทยสามารถจะหิ้วโน้ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์พกพา PDA นั่งจิบกาแฟถ้วยโปรด ท่องเว็บไซต์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ติดตั้งภายในร้าน STARBUCKS ซึ่งได้ติดตั้งไปแล้ว 22 สาขา และอยู่ระหว่างติดตั้งเพิ่มให้ครบ 40 สาขา

ลูกค้าที่แวะเวียนมาใช้บริการ KSC Hotspot ภายในร้าน STARBUCKS ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา สามารถ เข้ามาหาความบันเทิง ค้นหาข้อมูลใช้ในงานวิจัย ในขณะที่นักธุรกิจสามารถจิบกาแฟ เช็กอีเมล ดาวน์โหลดข้อมูลสำหรับการประชุม ท่องอินเทอร์เน็ตในร้าน ที่เปรียบเป็น "แหล่งพำนักที่สาม" นอกเหนือ จากบ้านและสำนักงาน

ข้อตกลงของทั้งสอง KSC จะรับผิดชอบการลงทุนระบบทั้งหมด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ระบบที่ติดตั้งภายในร้าน คือ ติดตั้ง access point โมเด็ม อุปกรณ์ router เดินสายเคเบิลภายในร้าน เชื่อมโยงผ่านเครือข่ายระบบ ADSL

การลงทุนอีกส่วน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ คือระบบจัดการเครือข่าย หรือ network operation center ที่จะครอบ คลุมตั้งแต่ระบบการชำระเงิน (Billing) ระบบ Ordering ระบบฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบ user name และ password ของลูกค้า และการคิดคำนวณเงิน

"เป็นระบบจัดการเกี่ยวกับบริการ Wi-Fi ทั้งหมด รวมถึงการตรวจสอบปัญหา การใช้งานที่เกิดขึ้นในแต่ละสาขา เพราะเมื่อ traffic การใช้งานของสาขาใดสาขาหนึ่งเพิ่มสูงขึ้น KSC จะเพิ่ม Bandwidth ให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ทันที" เครก ไวท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ต จำกัด บอก

ส่วน STARBUCKS รับผิดชอบเรื่องการตลาดภายในร้าน และอำนวยความสะดวก ทั้งการซื้อการ์ด KSC Hotspot Access Card ที่ KSC ทำขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องการบริการให้ลูกค้าในร้าน

เครก ไวท์ ไม่ได้ระบุถึงเม็ดเงินลงทุน เขาบอกแต่เพียงว่ารายได้จากอัตรา ค่าบริการ ซึ่งแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1 ชั่วโมง 150 บาท, 5 ชั่วโมง 600 บาท และ 20 ชั่วโมง 1,500 บาท จะแบ่งสันปันส่วนให้กับ KSC ในสัดส่วน 80% ส่วน STAR BUCKS ในฐานะเจ้าของสถานที่จะได้ไป 20%

สำหรับแอนดรูว์ เนธัน กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ไทยแลนด์ เชื่อว่า นอกจากร้าน STARBUCKS จะเป็นสถานที่ให้คนมาพบปะกันแล้ว บริการออนไลน์จะเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ในการสร้าง community เพื่อให้ผู้คนจากทุกมุมโลกสื่อสารถึงกันได้

"ใครจะไปรู้ว่า ระหว่างออนไลน์กันอยู่อาจจะมีคนออนไลน์กับสตาร์บัคส์ใน ซีแอตเติลก็ได้" แอนดรูว์ เนธัน บอก

ถึงแม้ลูกค้าที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงในร้าน STARBUCKS ในไทย จะยังไม่มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์มัลติมีเดีย ดังเช่นในสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ การเลือกชมการแสดงดนตรีบลูคลาสสิก หรือพูดคุยกับนักร้อง และศิลปินแนวบลูที่ STARBUCKS ร่วมกับเฮียร์มิวสิก

แต่ STARBUCKS ในไทย และ KSC ก็พยายามหาแง่มุมใหม่ๆ มาเพิ่มเติมให้กับลูกค้า นอกเหนือไปจากการ access เข้าอินเทอร์เน็ต รับส่งอีเมล เข้าเว็บไซต์ของบริษัท ด้วยการเปิดให้ท่อง 3 เว็บไซต์ได้ฟรี คือ STARBUCKS, sanook.com และ mweb.co.th แต่ถ้า link ไปยังเว็บไซต์อื่นๆ ระบบจะคำนวณเงินทันที

การจับมือกับ STARBUCKS ของ KSC ในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการจับจองพื้นที่สำคัญๆ สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย ความเร็วสูงสาธารณะ ภายใต้ชื่อบริการ KSC Hotspot ที่ครอบคลุมจุดให้บริการในย่านใจกลางเมือง เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า โรงแรมที่ KSC ติดตั้งจุดเชื่อมต่อ (Access Point) ตามสถานที่ต่างๆ ไปแล้ว 40 แห่ง ในอีกด้านหนึ่ง KSC จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่ม hit rate ให้กับเว็บไซต์ sanook.com และ mweb.co.th ที่เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ MIH

สำหรับ STARBUCKS แล้ว นี่ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาด ที่พวกเขาจะสามารถนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้า เช่น เครื่องดื่มพิเศษเฉพาะเทศกาลไปยังลูกค้าที่กำลังท่องอินเทอร์เน็ต ในร้านได้ทันที

หรืออย่างน้อย แอนดรูว์ก็หวังว่า "เมื่อลูกค้าใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว จะสั่งกาแฟ ในร้านเราเพิ่มอีกแก้ว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.