วิกฤติหรือโอกาส?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

2 เดือนเต็มหลังจากการระบาดของไข้หวัดนก แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ผลิตไก่เนื้อครบวงจรรายใหญ่อย่างเจริญโภคภัณฑ์ อาหาร (CPF) หรือสหฟาร์มนั้น จะได้รับผลกระทบที่เป็นบวก หรือเป็นลบจากการระบาดครั้งนี้

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตเนื้อไก่อย่าง CPF สามารถทำได้ และกำลังพยายามทำ คือการเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับคืนมา ผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ช่วยกันกินไก่ในระยะแรกเริ่มของการระบาด หรือแม้กระทั่งการพาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโครงการไก่ครบวงจร ซึ่ง CPF ได้อาศัยจังหวะดำเนินการไปเมื่อราวปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา

โครงการไก่เนื้อครบวงจรที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนคร ราชสีมา เป็นโครงการที่ 4 หลังจากที่โครงการลักษณะนี้ได้เกิดขึ้น ที่บางนา มีนบุรี และสระบุรี โดยโครงการที่ปักธงชัยนี้ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2545 และจะแล้วเสร็จในปี 2548 ด้วยเงินลงทุนกว่า 7,800 ล้านบาท ถือเป็น Vertical Integration เพื่อครอบคลุมชนิดที่เรียกว่า "From Farm to Table" ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตอาหารสัตว์ การผลิตไข่จากแม่พันธุ์ก่อนที่จะนำไปฟัก ฟาร์มไก่กระทงซึ่งเป็นระบบปิดทั้งหมด โรงงานชำแหละและแปรรูป บนพื้นที่กว่า 4,400 ไร่ ที่กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ

โดยผลผลิตที่ได้จะเป็นเนื้อไก่สดสำหรับตลาดในประเทศและเนื้อไก่สำเร็จรูป (เนื้อไก่ปรุงสุก) สำหรับตลาดส่งออกไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องความสด สะอาด ถูกหลักอนามัย เป็นหัวใจสำคัญ

"CPF ไม่เพียงแต่ปฏิบัติตามมาตรฐานการนำเข้าสินค้าอาหารของประเทศเหล่านั้น เรายังนำมาตรฐานการผลิตอื่นๆ มาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของ CPF ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับการบริโภคอย่างแท้จริง" อดิเรก ศรีประทักษ์ President และ CEO ของ CPF บอก

เริ่มตั้งแต่โรงผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้เก็บวัตถุดิบ ก่อนที่จะนำไปผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูป โดยผ่านขั้นตอนการอบ บดและอัดเม็ด ทุกขั้นตอนในการผลิตได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ข้อกำหนด เช่น สายพานลำเลียงต้องมีลักษณะเดินยาวเป็นเส้นตรง เพื่อป้องกันการหมักหมมของวัตถุดิบจึงต้องถูกนำมาใช้

ในส่วนของฟาร์มเลี้ยงที่ใช้เป็นฟาร์มเลี้ยงระบบปิด ซึ่งใช้ระบบปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ (Evaporative Cooling System) วิธีนี้ เชื่อกันว่านอกจากจะมีข้อดีที่ช่วยให้ไก่ไม่เกิดความเครียดจากสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ได้อัตราการแล่เนื้อที่สูงกว่าระบบทั่วไปแล้ว ยังเป็นการป้องกันโรคระบาดจากภายนอก ได้ดีอีกด้วย

เรื่องโรคระบาดถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ CPF จึงต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น ในอนาคตอันใกล้ จะนำระบบควบคุมเลี้ยงไก่ด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้ คนที่มีหน้าที่ดูแลการเลี้ยงไก่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักบริเวณโรงเลี้ยง โดย ไม่ต้องออกมาภายนอกฟาร์ม ตลอดระยะเวลา 45 วัน จนครบกำหนดเชือด หรือแม้กระทั่งการเข้าชมโครงการของสื่อมวลชน ที่ทำได้เพียงดูอยู่บริเวณภายนอกฟาร์มเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.