ชีวิตที่เลือกแล้ว ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เส้นทางที่เลือกแล้วของ ม.ล.ภาสันต์ ลูกชายคนเล็กของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ คือฉวยช่วงจังหวะทองของธุรกิจทางด้านรายการอาหาร เดินตามรอยเท้าพ่อ และพี่

"พ่อๆ พ่อจ๋า เจ้านี้อร่อย ให้ป้ายเจ้านี้เลยนะ" เสียงใสๆ ของเด็กชายอิงค์กี้วัย 3-4 ขวบ ร้องบอก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ หลังจากเข้าไปทานอาหารในร้านหนึ่ง

ขณะที่ลูกชายคนโตจากบ้านไปอยู่อีกซีกหนึ่งของโลก ลูกชายคนที่ 2 เข้าไปอยู่โรงเรียนประจำที่วชิราวุธวิทยาลัย ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ หรืออิงค์กี้ คือ "ปิ่นโตเถาเล็ก" ที่คุณชายหิ้วไปไหนมาไหนด้วยตั้งแต่เด็ก เป็นลูกชายอีกคนหนึ่งที่เรียนดีมีดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การอาหาร คณะอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับการถนอมอาหาร การ แปรรูป การผลิตอาหารออกมาในรูปของอุตสาหกรรม หรือการวัดคุณภาพ ไม่ได้เรียนมาทางด้านการทำอาหารโดยตรงเหมือนหมึกแดง

ม.ล.ภาสันต์เรียนจบในปี 2529 ช่วงเวลาเดียวกันกับที่หมึกแดงเป็น Executive Chef และเจ้าของภัตตาคาร Back Porch Cafe ที่ Rehoboth Beach ประเทศสหรัฐอเมริกา

งานแรกที่เขาได้เข้าไปช่วยพ่อ คือศูนย์อาหารในมาบุญครอง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมร้านเชลล์ชวนชิมมาไว้ในศูนย์การค้าใจกลางเมือง และเป็นการสร้างจุดขายที่ทำให้เจ้าของประสบความสำเร็จอย่างมาก

จากนั้นก็ไปเรียนเอ็มบีเอด้านการเงินต่อที่ George Washington University กลับมาในปี 2534 จึงเริ่มทำงานอย่าง จริงจังกับบริษัทประกิต โฮลดิ้ง บริษัท โฆษณาที่โด่งดังมากในสมัยนั้น ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน แต่แล้วก็ต้องการทำงานที่ท้าทายกว่า จึงไปสอบเข้าทำงานในบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์แกมเบิล ประเทศไทย (พีแอนด์จี)

ในยุคนั้น พีแอนด์จีเป็นองค์กรในฝันของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานท้าทาย เงินเดือนสูง และมีความก้าวหน้า สินค้าตัวแรกที่เขารับผิดชอบในการวิเคราะห์ตลาด วิจัยคู่แข่ง คำนวณการลดต้นทุนเพื่อให้กำไรสูงสุด ก็คือ ผ้าอนามัยวิสเปอร์ และผ้าอ้อมแพมเพอร์ส หลังจากนั้นไปทำที่บริษัทคลอสเตอร์เบียร์อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนเข้าไปเป็นผู้จัดการทั่วไปในบริษัทธรณีพิพัฒน์ ทำน้ำแร่ "ออรา" ของวิวิศน์ เตชะ ไพบูลย์ ซึ่งคุณชายถนัดศรีเป็นผู้ถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นผู้วางแผนบุกเบิกการตลาดแบบถึงลูกถึงคน ในยุคแรกได้ตระเวนไปทำตลาดเองในเกือบทุกจังหวัด จนปัจจุบัน ออราต้องผลิตตลอด 24 ชั่วโมง มีกำลังการผลิตหนึ่งหมื่นขวดต่อชั่วโมง ยอดขาย 200 กว่าล้านบาทต่อปี

ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เขาน่าจะไปได้ดี หากจะเป็นนักบริหารมืออาชีพ ในองค์กรเอกชน แต่ปรากฏว่าเขากลับเลือกที่จะเดินตามรอยพ่อและพี่

"พอทำงานหนักมากๆ ผมก็เริ่มรู้ตัวว่าไม่ชอบ และอยากทำงานเหมือนพ่อมากกว่าคือ กินไปด้วยเที่ยวไปด้วย ไม่ต้องตอกบัตร ชีวิตเป็นอิสระดี และที่สำคัญผมมีนิสัยชอบทานอาหารเหมือนพ่อ"

คุณชายถนัดศรีทำเชลล์ชวนชิมได้ 4 ปี ลูกชายคนเล็กก็ลืมตาดูโลก เลยได้หอบหิ้วไปทานอาหารด้วยกันตั้งแต่พูดยังไม่ชัด ขายังไม่แตะถึงพื้น นิสัยชอบหาที่ทานอาหารเลยติดมาจนโต ชอบทานอาหารอย่างเดียวกัน รสเดียวกัน และเริ่มมีนิสัยจุกจิกเรื่องทานอาหารเหมือนพ่อ

"ผมไปกิน ไปเที่ยว กับพ่อตั้งแต่เด็ก พ่อชอบแบบไหน รสไหน ผมก็ชอบแบบนั้น ได้รู้จักเพื่อนพ่อ เขานั่งดื่มกันจนดึกจนดื่น เราก็นั่งด้วย ได้วิธีคิด คำสัปดี้สัปดนทั้งหลาย ก็ตั้งแต่ตอนนั้น ทุกอย่างซึมซับเข้ามาโดยไม่รู้ตัว

วิชาสังคมภูมิศาสตร์นี่ผมได้ทอปมาตลอด เพราะทุกวันศุกร์ต้องตระเวนจังหวัดต่างๆ กับพ่อ ไปท่องหนังสือสอบที่อื่นหมดเลย อย่างเช่น สัตหีบนี่ไปประจำ เจอพี่กล้วย พี่ก้อย ที่เป็นดาราที่นั่นด้วย เขาเป็นลูกทหารเรือ และเวลาพ่อบินไปทำรายการของแต่ละภาค ผมก็ไปด้วย โตหน่อย ช่วงเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ก็ได้ไปฮ่องกงทุกปี มีเชลล์ชวนชิมทัวร์ เขาให้พ่อช่วยจัดให้ ผมก็ตามไป"

สิ่งที่เขาต่างกับพ่อและพี่ คือ ทำอาหารไม่เป็นเลย แต่มีความตั้งใจจะทำเรื่องอาหาร ให้เป็นธุรกิจ โดยเริ่มตระเวนชิมตามร้านเก่าๆ ที่พ่อเคยชิม เพื่อเก็บข้อมูลเตรียมทำหนังสือ กินอร่อยตามรอยถนัดศรี ตั้งแต่ปลายปี 2544 โดยมีวิธีคิดที่ต้องการนำร้านพวกนั้นมาทบทวนให้นักชิมอีกครั้งหนึ่ง เพราะเวลา 40 ปีที่ผ่านไป บางร้านอาจย้ายทำเลไปแล้ว บางร้านที่โปรโมตไม่เป็น คนก็หลงลืมไป และที่สำคัญ ม.ล.ภาสันต์เป็นคนเดียวที่เก็บข้อมูลงานเขียนของคุณชายไว้เกือบครบทุกเรื่อง

หนังสือ "กินอร่อยตามรอยถนัดศรี" พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2545 ด้วยการเลือกร้านอร่อยเก่าแก่จริงๆ ที่คุณชายเคยชิมไว้ แล้วยังทานมาโดยตลอด แต่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักแล้ว เป็นการเอาต้นฉบับเก่ามาลงทั้งหมด ดัดแปลงแก้ไขใหม่บ้าง เพื่อให้ถูกต้องตามยุคสมัย เช่น ในเรื่องของสถานที่ตั้ง รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูล ว่าปัจจุบันร้านเป็นอย่างไร มีอาหารชวนชิม อย่างอื่นเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ บริษัทเชลล์เคยทำ "เชลล์ ชวนชิม" ฉบับละ 99 บาท เป็นการรวมเล่มที่ย้อนรอยไปถ่ายรูปร้าน และเจ้าของร้านมาประกอบ แนะนำสั้นๆ

หนังสือเล่มแรกออกมา คอลัมน์ "ตามรอยพ่อไปชิม" ก็ไปเกิดที่หนังสือพิมพ์มติชน เนื้อหามีทั้งที่ตามรอยพ่อ และออกนอกรอยพ่อไปหาของทานเองตามสไตล์ของคนรุ่นใหม่บ้าง มีแผนที่บอกรายละเอียดของเส้นทาง เพื่อให้คนตามไปชิมกันได้ทุกวันศุกร์

ชื่อ "ปิ่่นโตเถาเล็ก" เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ตอนนั้น เสน่ห์ของเรื่องราวต่างๆ ที่เขาหยิบมาเขียนด้วยภาษาที่อ่านง่าย ผนึกรวมกับการเป็นลูกของคุณชายถนัดศรี ดูเหมือน ว่ามีส่วนช่วยเขาให้ "ดัง" เร็วขึ้น

ทรัพย์สินทางปัญญาของคุณชายถนัดศรีเกี่ยวกับเรื่องอาหาร ที่ไม่เคยถูกจัดเก็บมาก่อนเลย ถูกตามไปเก็บรวบรวมมา ตอนที่ขาดหายไปต้องขอถ่ายเอกสารจากหอสมุด แห่งชาติ ซึ่งต้องทำกันอย่างระมัดระวังมาก เพราะบางเล่มเหลืองกรอบไปแล้วเพราะความเก่า และข้อมูลทุกอย่างยังวางอยู่เป็นตั้งในห้องทำงานที่บ้าน เพื่อทยอยการจัดเก็บเข้าคอมพิวเตอร์อย่างเป็นระบบ

และเมื่อกลางปีที่แล้ว "กินอร่อยตาม รอยถนัดศรี เล่ม 2" ก็เกิดขึ้นตามมาทุกร้านที่เขียนถึงคือร้านเก่าที่คุณชายถนัดศรีเคยชิมไว้เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน และยังเป็นร้านในดวงใจของตนเองในวัยเด็ก เมื่อย้อนรอยกลับไปทานอีกครั้งยังอร่อยเหมือนเดิม โดยเน้นร้านในเมืองหลวง และหัวเมืองใหญ่ตามเมืองท่องเที่ยวในต่างจังหวัดเป็นหลัก

หลายร้านยังอยู่ที่เดิม แต่หลายร้านย้ายที่อยู่ใหม่ ต้องตามเสาะแสวงหาอย่างตั้งใจจึงพบ

ในขณะที่ข้อเขียนของพ่อ และพี่ มีความรู้เพิ่มเติมเรื่องเทคนิคการปรุงอาหาร ประกอบด้วย แต่จุดเด่นของปิ่นโตเถาเล็กคือ การพูดถึงร้านเก่าที่พ่อชิมจริงๆ ที่ตัวเองสามารถย้อนประวัติศาสตร์ได้อย่างถูกต้องที่สุด

"อร่อยต้นตำรับ" คือหนังสือเล่มล่าสุดที่รวบรวมสูตรอาหารในวังดั้งเดิมของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ โดยมิ่งขวัญ สุวรรณเนตร และปิ่นโตเถาเล็ก

ปัจจุบันนอกจากงานพาร์ตไทม์ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทธรณีพิพัฒน์ ที่ยังต้องเข้าร่วมประชุมวาง แผนกับผู้บริหารคนอื่นแล้ว ม.ล.ภาสันต์ ยังเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในร้านอาหาร "เดวา" มาจากคำว่า เทวกุล เพราะเป็นร้านที่ทำร่วมกับ ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล 2 สาขา คือที่สยามเซ็นเตอร์ชั้น 4 เปิดเมื่อปลายปี 2545 เป็นร้านสไตล์ทันสมัยสอดคล้องกับทำเลย่านนั้น แต่อาหารมีทั้งสไตล์เก่าที่บางเมนูอาจหาทานได้ยาก รวมทั้งอาหารใหม่ ส่วนในซอยอารีย์สัมพันธ์ 3 นั้น ร้านเดวาอยู่ในบ้านเก่าหลังใหญ่ สีขาว เป้าหมายกลุ่มลูกค้าจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

ไลฟ์สไตล์ของคนที่ให้ความสำคัญมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการทานอาหาร ถูกนำเข้า ไปรวมกับการท่องเที่ยว เกิดเป็นทัวร์ "เที่ยวและกิน" โดยเริ่มจากการหาสปอนเซอร์เพื่อไปเซอร์เวย์ร้านอาหารที่มีชื่อในประเทศต่างๆ และ "บริษัททัวร์ไรน์นิชแทรเวล" ก็จัดโปรแกรมไปเที่ยวตามเมืองนั้นๆ โดยมีโปรแกรมแวะชิมร้านอาหารที่ ม.ล.ภาสันต์เลือกไว้ เป็นวิธีคิดเดียวกับที่คุณชายถนัดศรีเคยทำให้กับบริษัทรีเจนซี่ แทรเวล เมื่อหลายปีก่อน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มีทั้งคนรุ่นเก่าที่มาใช้บริการทั้งครอบครัว และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบ ทั้งเรื่องเที่ยวและหาของอร่อยๆ ทาน

รายได้ตรงนี้แม้ไม่เห็นเป็นเม็ดเงินชัดเจน แต่สิ่งที่เขาได้รับก็คือ ได้เที่ยว ได้รับประทานอาหารแปลกๆ และยังได้ข้อมูลใหม่ๆ เป็นวัตถุดิบถ่ายทอดลงไปในงานเขียนและที่สำคัญ ยังมีการบันทึกเทปไว้ เตรียมรอจังหวะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป

การทำทัวร์ต่างประเทศบางครั้งคุณชายถนัดศรีไปด้วย เพื่อถ่ายทำแนะนำสถานที่ เที่ยว และที่ทานอาหารออกในรายการครอบจักรวาล ทุกวันอาทิตย์ 8 โมงเช้าทางช่อง 5

การหาช่องทางเข้าทำรายการโทรทัศน์ ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ ม.ล.ภาสันต์ คาด หวังไว้ในอนาคต และก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไปนัก

"สิ่งที่ผมจะสืบทอดต่อไปคือ พยายามทำรายการให้ทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์ของ คนไทยให้มากขึ้น รายการของพ่ออาจจะเป็นเรื่องราวของคนรุ่นเก่าที่มีความผูกพันกับสถานที่หรือผู้คนที่เคยรู้จัก แต่ของเราก็เป็นวิธีคิดแบบคนรุ่นเรา เหตุการณ์หลายอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว"

"โอกาส" ที่พ่อสร้างไว้คือ "ต้นทุน" โดยมี "ปัญญา" เป็นตัวช่วยต่อยอดทำกำไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.