บริษัทที่เชี่ยวชาญการพลิกฟื้นธุรกิจจะสามารถพลิกฟื้นรีสอร์ตยักษ์ที่ล้มละลายของญี่ปุ่นได้สำเร็จหรือไม่
Ripplewood Holdings เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่างมากทั้งในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ
ในการสามารถพลิกฟื้นบริษัทที่กำลังขาดทุนให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นการพลิกฟื้นธนาคาร
Long-Term Credit ของญี่ปุ่นที่จวนจะล้มละลาย ให้กลับเป็นที่ต้องการในตลาดหุ้นได้อีกครั้ง
หลังจากเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Shinsei แต่ Phoenix Seagaia Resort มูลค่า 1.5
พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นธุรกิจล่าสุดที่ Ripplewood ซื้อมาในราคาเพียง 120
ล้านดอลลาร์ อาจจะ ไม่ใช่งานหมูอย่างที่ผ่านมา
Phoenix Seagaia เป็นรีสอร์ตขนาด 3,000 เฮกตาร์ บนเกาะกิวชูทางภาคใต้ของญี่ปุ่น
ซึ่งมีสนามกอล์ฟระดับ มาตรฐานโลกถึง 4 สนามรวมกัน 99 หลุมและทิวทัศน์ของมหาสมุทรแปซิฟิก
ที่สวยจับใจ รวมทั้งสวนน้ำในร่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก Seagaia ใช้เงินลงทุนไปถึง
1.5 พันล้านดอลลาร์ และมีปัญหามาตั้งแต่เริ่มเปิดตัวในปี 1993 และในที่สุด
ก็ล้มละลายเมื่อมีหนี้สินล้นพ้นตัวถึง 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2001
เป้าหมายของ Ripplewood คือ เปลี่ยนรีสอร์ตของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพต่ำแห่งนี้
ให้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนและศูนย์ประชุมที่ญี่ปุ่นไม่เคยมีมาก่อน และสามารถดึงดูดทั้งชาวญี่ปุ่นที่หลงใหลในกีฬากอล์ฟ
รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน และ Seagaia ก็ดูจะมีศักยภาพพอที่จะทำได้
รีสอร์ตแห่งนี้มีโรงแรม Sheraton 2 แห่ง มีห้อง ประชุมที่จุคนได้ 5,000 คน
มีคอกม้า ลานโบว์ลิ่ง และ Phoenex Country Club ขนาด 27 หลุม
ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานนี้คือ Michael F. Glennie ซึ่งเป็น
CEO คนใหม่ของ Seagaia และเป็นเพื่อนเก่าของ Timothy C. Collins ผู้เป็น
CEO ของ Ripplewood
Glennie ชี้ว่า สาเหตุที่ Phoenix ขาดทุนตั้งแต่แรกเปิด เป็นเพราะทำตัวเหมือนกับหน่วยงานรัฐบาล
คือมอบงานให้แก่บริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล ที่คิดค่าจ้างแพงเกินไป
นอกจากนี้ยังมีการบริหารงานที่ผิดพลาดเช่นไม่รู้จักบริหารระบบการสำรองห้องพัก
และการกำหนดอัตราค่าห้องพักที่เหมาะสม Glennie แก้ปัญหานี้ด้วยการให้ Starwood
Hotels & Resort Worldwide ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรม Sheraton เข้ามาปรับโครงสร้างอัตราค่าห้องพักและการบริหารงานอื่นๆ
ใหม่หมด รวมทั้งปลดพนักงานที่ล้นงานลง 40% เหลือเพียง 1,500 คน
ปัญหาต่อไปของ Glennie คือการหาลูกค้าใหม่ให้แก่ Seagaia และจูงใจลูกค้าเก่าให้เพิ่มวันพัก
ด้วยการตั้งโรงเรียนกอล์ฟ เพื่อให้นักกอล์ฟมือใหม่ต้องใช้เวลา 2-3 วันเรียนรู้วิธีเล่นเสียก่อนที่จะลงสนามระดับมาตรฐานโลก
นอกจากนี้เพื่อดึงดูด ลูกค้าที่มากันเป็นครอบครัว Glennie มีแผนจะปรับโฉมสวนน้ำ
Ocean Dome ในปีหน้า และกำลังทุ่มเงิน 32.6 ล้านดอลลาร์สร้าง onsen หรือห้องอาบน้ำพุร้อน
ห้องพักที่หรูหรา และภัตตาคารอาหารเพื่อสุขภาพภายในเดือนตุลาคมนี้
ปรับโฉมครั้งใหญ่
ถึงแม้จะพยายามปรับปรุงเปลี่ยน แปลงไปแล้วอย่างมากมาย แต่ Seagaia ยังคงไม่ทำกำไร
แต่ Ripplewood ก็ยืนยันว่า รีสอร์ตแห่งนี้จะกลับมาเป็นตัวดำภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงกังขา เนื่องจากรีสอร์ตแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองสำคัญๆ
ของญี่ปุ่นมาก และไม่มีสิ่งที่ดึงดูดใจเป็นพิเศษมากพอ ที่จะดึงดูดลูกค้าได้จำนวนมาก
นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นยังนิยมไปพักผ่อนในต่างประเทศ มากกว่า
แต่ผู้บริหารของ Ripplewood ก็ไม่ท้อ แม้ Glennie จะยอมรับว่า คงต้องใช้เวลาอีกสัก
2-3 ปีในการปรับโฉมและยกระดับ Seagaia เสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เงินเกือบ
100 ล้านดอลลาร์ ถึงเวลานั้นเราคงจะได้รู้กันว่า การตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจ
รีสอร์ตของ Ripplewood ในครั้งนี้จะออกหัวหรือออกก้อย
แปลและเรียบเรียงจาก
BusinessWeek, April 5, 2004
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์