จัดสรรเปิดศึกชิงแลนด์แบงก์ระดมทุนซื้อที่-หวั่นปรับราคา


ผู้จัดการรายวัน(26 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลาง เร่งระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ซื้อที่ดินสะสมรองรับโครงการในอนาคต หวังเสริมความเข้มแข็งรองรับความเสี่ยงการปรับราคาที่ดิน และลดความเสียเปรียบทางการแข่งขัน บล.ไทยพาณิชย์ ชี้การสต๊อกแลนด์แบงก์จะเป็นปัจจัยหลักของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยุคนี้

ทิศทางการลงทุนกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หลายบริษัทในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ กำหนด นโยบายซื้อที่ดินสะสมเพื่อรอการพัฒนาจำนวนมาก จนเกิดภาระต้นทุนการถือครอง เมื่อเผชิญปัญหาทำให้ส่วนใหญ่ตัดขายเพื่อลดภาระต้นทุน และชำระหนี้สิน พร้อมปรับตัวโดยการซื้อที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการทันทีเพื่อสร้างรายได้ และลดภาระต้นทุนที่ดิน

มาในยุคการฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการลงทุนของธุรกิจกลุ่มนี้เริ่มปรับเปลี่ยน รายกลางถึงเล็กเร่งระดมทุนเพื่อซื้อที่ดินสะสมรอการพัฒนาโครงการในอนาคต จากปัจจัยการปรับราคาที่ดินสูง ในอนาคตส่งผลโดยตรงต่อการทำกำไรขององค์กร

นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวถึงทิศทางการลงทุนของกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ว่า การแข่งขันทำกำไรของกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ดินเป็นสำคัญ เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 20% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด และแนวโน้มการปรับตัวของราคาที่ดินที่เริ่มขยับกันแล้วในปัจจุบันและเตรียมที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกในอนาคต เป็นประเด็นที่หลายบริษัทให้ความสำคัญ

แนวทางการปรับตัวของกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นับจากนี้จะขึ้นอยู่กับการจัดหาที่ดินเป็นหลัก เห็นได้จากหลายบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์วางแผนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อวัตถุประสงค์ของการซื้อที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการ กรณีบริษัทที่เข้าตลาด หลักทรัพย์ได้มีแผนเพิ่มทุนเพื่อหาเงินซื้อที่ดินให้มากขึ้น สุดท้ายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีเงินทุนสะสมก็พยายามมองหาและจัดซื้อที่ดินเพิ่ม แลนด์แบงก์จึงเป็นเป้าหมายหลักการลงทุนของกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้

"ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลายบริษัทเร่งระดมทุนเพื่อจัดซื้อที่ดินสะสม เพราะที่ดินที่มีศักยภาพเริ่มหายาก หรือซื้อได้แต่คงเป็นราคาที่สูง เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่จะตัดขายในราคาที่ต่ำกว่าปกติ"

นายพิเชษฐ ศุภกิจจานุสันติ์ กรรมการ บริหาร และกรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแผนงานของแต่ละบริษัท ในส่วนของบริษัทจะไม่ยึดติดกับทำเลใดทำเลหนึ่งโดยเฉพาะ โดยจะกระจายโครงการไปแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการสะสมแลนด์แบงก์ไว้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะซื้อที่ดินและพัฒนาโครงการทันที

"ในส่วนของแกรนด์ยูนิตี้ฯ บริษัทร่วมทุนจะไม่เน้นการซื้อที่ดินสะสมเพื่อพัฒนาโครงการ แต่จะซื้อโครงการสร้างค้างมาพัฒนา และมองหาที่ดินใหม่เพื่อพัฒนาโครงการทันที โดยเชื่อว่ามีศักยภาพ ในการมองหาที่ดินมาพัฒนาได้ทันเวลาตามแผน สำหรับในส่วนของแอล.พี.เอ็น.ฯ จะไม่มีนโยบายซื้อที่ดินสะสมเป็นเวลานานก่อนนำมาพัฒนา สิ่งสำคัญอยู่ที่การปรับตัวมากกว่า ยิ่งปรับตัวช้าจะยิ่งเสียเปรียบในการแข่งขัน"

ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจัดทำแผนการซื้อที่ดินสะสมสำหรับพัฒนาโครงการในอนาคต ปีละ 1,000 ล้านบาท โดยในปี 2546 บริษัทได้ซื้อที่ดินสะสมไว้แล้วประมาณ 1,000 ไร่ เมื่อรวมที่ดินเดิมทำให้มีประมาณ 2,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท

"ในปี 2547 บริษัทไม่จำเป็นต้องเร่งจัดหาพื้นที่ เข้ามาให้ได้ตามจำนวนตามที่มีการกำหนดไว้ในงบ ประมาณ เพราะจำนวนที่ดินที่บริษัทถืออยู่ในมือขณะนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก โดยที่ดินที่จะมีการโอนในปีนี้จะมีอยู่ทั้งหมด 200 ไร่ บริเวณพระราม 5 จำนวน 100 ไร่ และพัฒนาการอีก 100 ไร่"

แนวทางการเลือกซื้อที่ดินไว้ใช้พัฒนาโครงการ ในอนาคต จะเน้นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณถนนสายหลักของกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณทางขึ้นลงทางด่วนหลัก ส่วนที่ดินแนวรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายในการซื้อที่ดิน บริเวณดังกล่าว เพราะยังไม่อยู่ในความต้องการ ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

นายไชยยันต์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทเตรียมเปิดโครงการใหม่อีก 5 โครง การ มูลค่าประมาณ 5.3 พันล้านบาท โดยไตรมาส แรกจะเปิดตัว 2 โครงการ ที่รังสิต-คลอง 4 และรามอินทรา-ซาฟารี ในไตรมาสที่ 3 อีก 2 โครงการ ที่จังหวัดนนทบุรี และเทพารักษ์ และในไตรมาสที่ 4 อีกโครงการสำหรับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ พร้อมกับออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 1,200 ล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้ระยะสั้นในส่วนของตั๋วสัญญา ใช้เงินประมาณ 300 ล้านบาท อีก 900 ล้านบาท จะใช้ในการซื้อที่ดินเปล่าประมาณ 700 ล้านบาท อีก 200 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ความเคลื่อนไหวในอีกหลายบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต่างเตรียมแผนงานในการซื้อที่ดิน เพื่อรองรับการทำงานในอีก 3-5 ปีข้างหน้า อาทิ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ วางแผนลงทุนซื้อที่ดินประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท, แสนสิริ เตรียมซื้อที่ดินใหม่ สำหรับโครงการบ้านเดี่ยว จำนวน 6 ทำเล มูลค่าโครงการ 17,850 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียมย่านใจกลางธุรกิจอีก 2 ทำเล และกำลังหาที่ดินเพิ่มอีก 2 ทำเล มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท รวมมูลค่าเฉพาะแผนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ประมาณ 20,850 ล้านบาท ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อชิงทำเลที่โดดเด่น อยู่ในความต้องการของลูกค้า และบริหารความเสี่ยงของต้นทุนที่ดินที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

แหล่งข่าวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2546 หลายบริษัทต่างมองหาซื้อที่ดินสะสมเป็น จำนวนมาก โดยเฉพาะทำเลในเมืองที่หาที่ดินค่อนข้างยาก เพราะในช่วงตลาดขาขึ้นเจ้าของที่ดินมักไม่ ยอมขาย โดยเชื่อว่าราคาจะขยับขึ้นอีกมากในอนาคต หลังจากมีการปรับราคาลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หรือ กรณีที่ขายจะอยู่ในระดับที่สูงมาก ทำให้ผู้ประกอบ การมีต้นทุนที่ดินที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการ ทำกำไรของกลุ่มธุรกิจนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.