ยูโอบีซื้อแบงก์เอเชียเล็งควบรวมรัตนสิน


ผู้จัดการรายวัน(26 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เอบีเอ็น แอมโรตัดสินใจขายหุ้น ธนาคารเอเชียให้ยูโอบีทั้ง 80.77% เผย ราคา 5 บาทต่อหุ้นคิดเป็นเงิน 1.8-2 หมื่นล้านบาท บิ๊กสิงคโปร์ บินมาลงนามเดือน พ.ค.หลังจัดทีมบริหารและกรรมการลงตัว คาดแผนต่อไปจะทำการแลกหุ้นกับยูโอบีรัตนสินเพื่อควบรวมกิจการ

นายจุลกร สิงหโกวินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) (BOA) เปิดเผยว่า ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในธนาคารเอเชียตัดสินใจขายหุ้นทั้งจำนวนหรือ 80.77% ให้ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซี (ยูโอบี) โดยเอบีเอ็นฯและยูโอบีได้ร่วมลงนามเป็นการเฉพาะเจาะจง (Exclusivity Agreement) เป็นที่เรียบร้อย หลังจากนี้ จะสรุปรายละเอียดข้อตกลงในสัญญาซื้อขายหุ้นโดยเร็ว ส่วนวันนี้ (26 เม.ย.) ธนาคารเอเชียจะแจ้งความคืบหน้าต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ยูโอบีเป็นสถาบันการเงินรายแรกที่แสดงความสนใจซื้อหุ้นธนาคารเอเชีย นับเป็นผู้ซื้อที่มีศักยภาพสูงและมีทีมผู้บริหารที่โดดเด่น ส่วนราคาที่ยูโอบีพอใจคือ 5 บาทต่อหุ้น หรือใช้เงินประมาณ 1.8-2 หมื่นล้านบาท

"ผู้บริหารยูโอบีแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าจะลงทุนในระยะยาว และไม่เพียงแต่เจรจากับ เอบีเอ็นฯ ยังหารือกับตระกูลภัทรประสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารเอเชียด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

ราคาหุ้นธนาคารเอเชีย ณ วันที่ 23 เม.ย. อยู่ที่ 5.20 บาทต่อหุ้น ขณะที่ยูโอบีรัตนสินราคาหุ้นละ 6.50 บาท (เอสพี)

สำหรับคู่แข่งยูโอบีในการเสนอซื้อหุ้นเอบีเอ็นฯ ที่ผ่านมาซึ่งมีทั้งที่เจรจากันจริงและมีการปล่อยข่าวเพื่อหวังผลทางด้านราคา ได้แก่ เอชเอสบีซี, กลุ่มคอมลิงค์, สยามเจนเนอรัลแฟคตอริ่ง, ไทยพาณิชย์, สแตนดาร์ดชาเตอร์ด, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเทมาเซ็ก สิงคโปร์

แหล่งข่าวกล่าวว่า เดือนพ.ค.นี้นายวี เอ ชาง รองประธานยูโอบีและคณะผู้บริหารยูโอบีจากสิงคโปร์จะเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นกับผู้บริหารเอบีเอ็นฯอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังจัดทีมผู้บริหารและกรรมการเสร็จ ส่วนจะมีการควบรวมกับธนาคารยูโอบีรัตนสินหรือไม่คงต้องใช้เวลา แต่ถึงตอนนี้ถือว่ามีความเป็นไปได้สูง

นายวี เอ ชาง เคยให้สัมภาษณ์ว่า ยูโอบีอาจใช้เงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของ ยูโอบีที่สำคัญอีกแห่งรองจากสิงคโปร์ และจีน

"เราตั้งใจใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมเส้นทางการลงทุนจากสิงคโปร์ไปสู่จีน" นายวี เอ ชางกล่าว

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เอบีเอ็นฯเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารเอเชียเมื่อปี 2541 ทว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เอบีเอ็นฯกลับต้องการขายหุ้นออกทั้งจำนวน เนื่อง จากนโยบายของธนาคารแม่ในเนเธอร์แลนด์ปรับทิศทางสู่ธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ (โฮลเซล แบงกิ้ง) แต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน กระทั่งปัจจุบันเมื่อแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ไฟแนนเชียล มาสเตอร์แพลน) ออกมาเมื่อต้นปี มีการระบุสถานะของสถาบันการเงินต่างชาติในไทยชัดเจนว่า จะต้องเลือกเพียงสถานะเดียวว่าจะเป็นสาขาหรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารพาณิชย์ไทย และมีการบีบให้ขนาดธนาคารต้องมีขนาดใหญ่ เอบีเอ็นฯจึงได้โอกาสขายหุ้นอีกครั้ง

ส่วนยูโอบีเป็นธนาคารแรกที่ยื่นความจำนงขอซื้อหุ้น โดยยูโอบีมีนโยบายลงทุนในไทยและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้มีธนาคารยูโอบีรัตนสินอยู่แล้ว ก็ยังมีขนาดเล็กเกินไป หลังการซื้อธนาคารเอเชียแล้วจึงอาจควบรวมกิจการกับยูโอบีรัตนสิน

ปัจจุบัน โครงสร้างผู้ถือหุ้นธนาคารเอเชีย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 เอบีเอ็นฯ 4,115,769,676 หุ้น คิดเป็น 80.77% อันดับ 2 นางนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ 51,449,566 หุ้น คิดเป็น 1.01% อันดับ 3 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ 35,273,657 หุ้น คิดเป็น 0.69% อันดับ 4 นายศุภชัย อัมพุช 30,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.59% และอันดับ 5 ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) 25,702,400 หุ้น คิดเป็น0.50% ณ 31 ธ.ค.46 มีสินทรัพย์รวม 169,528 ล้านบาท ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 12%

ส่วนธนาคารยูโอบีรัตนสิน อันดับ 1 ยูโอบี 776,163,410 หุ้น คิดเป็น 78.83% อันดับ 2 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 208,409,296 หุ้น คิดเป็น 21.17%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.