SYNTEC รอลุ้นกลับหมวดปกติ


ผู้จัดการรายวัน(23 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

วานนี้(22เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์จัดสัมมนามหกรรมจับเข่าเม้าท์หุ้นกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยาม ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYNTEC และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือ PLE

นายสมชาย ศิริเลิศพานิช รองประธานกรรมการ กลุ่มบริหาร บริษัท สยาม ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นเรื่องขอย้ายจากหมวด Rehabco กลับหมวดปกติต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้วเมื่อ2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีประเด็นติดขัดกรณีที่บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานภายหลังรับรู้ดอกเบี้ยจ่าย (Cash flow for operation) ติดลบ อยู่ประมาณ 100-200 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนขยายงาน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะต้องรอการสรุปคุณสมบัติจากตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง

"ตลาดหลักทรัพย์ฯมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้บริษัทพ้นเหตุเพิกถอนและย้ายหลักทรัพย์ของบริษัทกลับหมวดปกติ ได้โดยบริษัทที่เห็นว่าตนมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานดีอาจมีหนังสือขอให้ ตลท.พิจารณาพ้นเหตุเพิกถอนและย้ายหลักทรัพย์ของบริษัทกลับหมวดปกติได้โดยแสดงเหตุผลหรือข้อมูลสนับสนุน ซึ่งตลท.จะพิจารณา"

สำหรับคุณสมบัติที่ตลท.กำหนดให้บริษัทย้ายกลับหมวดปกติได้มีดังนี้ คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นภายหลังปรับปรุงความเห็นผู้สอบบัญชีมีค่ามากกว่าศูนย์, กำไรสุทธิจากการดำเนินงานในธุรกิจหลัก 3 ไตรมาสติดต่อกัน หรือ 1 ปีก่อนยื่นคำขอ,ปรับโครงสร้างหนี้ได้ไม่น้อยกว่า 75% ของมูลหนี้ทั้งหมดและในช่วงเวลา 3 ไตรมาสติดต่อกัน หรือ 1 ปีก่อน บริษัทสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา,กระแสเงินสดจากการดำเนินงานภายหลังรับรู้ดอกเบี้ยจ่ายมากกว่าศูนย์ และสามารถแสดงได้ว่าบริษัทจะมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่มั่นคงและเป็นอย่างต่อเนื่อง

นายสมชาย กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมประมาณ 150 ล้านบาทได้ในปีนี้ ซึ่งบริษัทสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขอลดหย่อนภาษีในแต่ละปีได้ ส่วนหนี้เสียเก่าบริษัทก็ได้ตั้งสำรองเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างติดตามหนี้

ปัจจุบันบริษัทมีงานที่ได้เซ็นสัญญากับลูกค้าแล้ว (Blacklog) จำนวน 22 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 7,400 ล้านบาท โดยเป็นงานของรัฐบาล 42% มูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท และเอกชน 58% มูลค่า 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากการก่อสร้างในปี นี้ประมาณ 4,700 ล้านบาท และจะรับรู้ได้อีกในปี 2548 จำนวน 2,000 ล้านบาท และในปีนี้ SYNTEC เตรียมที่จะยื่นประมูลงานอีกประมาณ 4-5 พันล้านบาท

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน มากนัก เนื่องจากต้นทุนการทำงานของบริษัทที่เกิดจากวัสดุก่อสร้าง อาทิ เหล็กและปูน คิดเป็นสัดส่วน 15-20% ของต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น

นายสมชาย กล่าวถึงกรณีที่บริษัทเข้าถือหุ้นบริษัท รถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (BMCL) จำนวน 3,450,000 หุ้นราคาหุ้นละ 150 บาท (ราคาพาร์ 100 บาท) รวมเป็น เงินประมาณ 517 ล้านบาท คิดเป็นถือหุ้น 5% และมีกระแสข่าวว่าภาครัฐได้เจรจาขอซื้อหุ้น BMCL จากเอกชนนั้น บริษัทได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินคือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด กำหนดราคาเสนอขายที่เหมาะสมไว้ที่ 3 บาทต่อหุ้น แต่ภาครัฐต้องการซื้อที่ราคา 1.50 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ การเจรจาและการตกลงราคาซื้อขายจะขึ้นอยู่ กับคณะกรรมการของ BMCL และภาครัฐ

โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้หลังจากที่บริษัท เข้าจดทะเบียนในตลาดเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ BMCL ยังเตรียมจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ ในขณะนี้ได้ยื่นไฟลิ่งแล้ว คาดว่าจะสามารถ ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ประมาณไตรมาส 3 ปีนี้

นายบุณยพงศ์ สาระเกษตริน รองประธานกรรมการ บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (PLE) เปิดเผยเกี่ยวกับ ความคืบหน้าในแผนลงทุนโครงการบริษัท ไฟฟ้าชนบท จำกัด ว่าได้รับทราบผลการตรวจสอบสถานะของกิจการ (due diligence) แล้ว ขณะนี้กำลังรอผลสรุปเรื่องที่ดิน และแกลบ ว่าโรงสีจะมีวัตถุดิบสำหรับผลิตไฟฟ้าส่งให้สม่ำเสมอหรือไม่ คาดว่าจะสามารถสรุปได้ประมาณเดือน พ.ค. และถ้ามีการก่อสร้างก็จะเริ่มประมาณปลายปี 48 จากการประเมินเบื้องต้นโครงการดังกล่าวจะถึงจุดคุ้มทุนได้ภายในเวลา 5-7 ปี โดยจะผลิตไฟฟ้าและส่งขายให้กับ กฟผ.ประมาณ 16 เมกะวัตต์ ที่เหลือ 2 เมกะวัตต์ ใช้เองภายในโครงการ การลงทุนซื้อหุ้นสามัญใน บริษัท ไฟฟ้าชนบท จำกัด ของบริษัทซึ่งเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังการ ผลิตขนาด 18 เมกะวัตต์ โดย ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง มีแผนจะก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดลพบุรี เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,100 ล้านบาท โดยกลุ่มผู้ลงทุน 25% เงินกู้ 75% โดยบริษัทร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 67 นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมแผนที่จะรับงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งน่าจะมีกำไรสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับในประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2546 ที่ผ่านมา บริษัทมี Blacklog ในมือ 4,700 ล้านบาท แต่รับรู้ได้เพียง 1,500 ล้านบาท เนื่องจากมีการส่งมอบงานล่าช้า ซึ่งคาดว่างานส่วนที่เหลือจะโอนมารับรู้ในปีนี้ทั้งหมด 3,500 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าที่จะประมูลงานเพิ่มได้อีก 4,000-5,000 ล้านบาท "ปัจจุบัน งานรับเหมาก่อสร้างและวางระบบค่อนข้างสูง แต่บริษัทฯ ยังเชื่อว่าจะสามารถรักษาอัตรา gross margin ไว้ที่ระดับประมาณ 18-20%" นายบุณยพงศ์ กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.