World Top 100 Retailers ใต้ร่มเงาของบรรษัทจากสหรัฐอเมริกา

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ในสังคมที่เจริญงอกงามโดยมีหลัก ทุนนิยมและตลาดเสรี เป็นประหนึ่งคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ดังเช่นในสหรัฐอเมริกานั้น การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในดินแดนแห่งนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงพลานุภาพของกระแสบริโภคนิยมที่เป็นกลไกขับเคลื่อนภาคธุรกิจนี้แล้ว กรณีดังกล่าวยังมีความน่าสนใจไม่น้อยว่า ผู้ประกอบการจากยุโรปและเอเชีย จะต้องดำเนินการบริหารจัดการอย่างไร จึงจะสามารถขยับขยายขึ้นมาเป็นคู่ต่อกรที่มีศักยภาพใกล้เคียงกันได้อย่างดีพอ

การสัมมนา World Top 100 Retailers : An Insight Into Their Key Success Factors & Drivers ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับ Retail Asia Publishing จัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นกิจกรรมการสัมมนาครั้งแรกๆ ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่มุ่งเน้นประเด็นระดับนานาชาติแล้ว การสัมมนาครั้งนี้ยังเปิดเผยให้เห็นถึงพัฒนาการในธุรกิจ ค้าปลีกระดับโลก ที่มีแนวโน้มขยายตัว ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและยุโรปมากขึ้นทุกขณะด้วย

วัตถุประสงค์ของการสัมมนาครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย มุ่งหมายจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของ บุคลากรในวงการค้าปลีก ให้สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน อย่างไร้พรมแดนในปัจจุบัน เพื่อคงขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

Ira Kalish ผู้อำนวยการฝ่ายระบบข่าวกรองด้านการค้าปลีกระดับโลกจาก PriceWaterHouseCoopers ซึ่งเป็นวิทยากรผู้บรรยายในการสัมมนาครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการนำเสนอการจัดอันดับบรรษัทผู้ประกอบการค้าปลีก ระดับโลก 100 แห่ง จากตัวเลขผลประกอบการในปี 1999 มาเป็นพื้นฐานของการสัมนา ก่อนที่จะนำเสนอในรายละเอียดว่าด้วยกลยุทธ์และรูปแบบของการประกอบธุรกิจ ที่นำไปสู่ความสำเร็จของบรรษัทชั้นนำเหล่านี้

การจัดอันดับ 100 บรรษัทผู้ค้าปลีกระดับโลกดังกล่าวได้เปิดเผยให้เห็น ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่งประการหนึ่งในอุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีกระดับโลก ซึ่งปรากฏว่า บรรษัทผู้ประกอบการค้าปลีกสัญชาติอเมริกัน 7 แห่ง สามารถดำรง สถานะเป็นผู้นำในด้านยอดการจำหน่ายมากที่สุดของโลกใน 10 อันดับแรก ไว้อย่างยากที่บรรษัทค้าปลีกจากภาคพื้นยุโรปจะสามารถไล่ตามได้ทัน

ลำพังเฉพาะยอดการจำหน่ายรวมของผู้ประกอบการค้าปลีกจากสหรัฐอเมริกา
ทั้ง 7 แห่งก็มีมากถึงระดับ 23.5% ของยอดการจำหน่ายรวมของผู้ประกอบการ 100 รายแรกของโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ประกอบการระดับนำจากสหรัฐทั้ง 7 แห่งนี้ สามารถสร้างยอดการจำหน่ายได้มากถึงเกือบ 1 ใน 4 ของยอดการจำหน่าย ในอุตสาหกรรมค้าปลีกของโลกเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ในจำนวนผู้ประกอบการค้าปลีกทั้ง 7 แห่งของสหรัฐอเมริกานี้ มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่ประกอบการธุรกิจอยู่ในต่างประเทศด้วย โดยผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ของสหรับอเมริกายังคงให้น้ำหนักต่อการประกอบธุรกิจภายในประเทศ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับผู้ประกอบการจากภูมิภาคอื่นๆ ที่ดูจะมีลักษณะของ การเป็นบรรษัทในระดับนานาชาติมากกว่า

ขณะเดียวกันจากการจัดอันดับ 100 บรรษัทค้าปลีกที่มียอดการจำหน่าย มากที่สุดในโลก เมื่อจำแนกตามประเทศแล้ว ปรากฏว่าผู้ประกอบการ รายใหญ่จาก 5 ประเทศ (Big 5) สามารถครองอันดับ Top 100 รวม 77 แห่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกจากสหรัฐอเมริกามากถึง 39 แห่ง และเป็นผู้ประกอบการ รายใหญ่จากยุโรปอีก 28 แห่งซึ่งประกอบด้วย เยอรมนี (9) ฝรั่งเศส (9) และ
อังกฤษ (10) โดยมีบรรษัทจากญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ของเอเชียครองอันดับเพียง 10 แห่งเท่านั้น

นอกจากนี้ ยอดการจำหน่ายรวมของบรรษัททั้ง 77 แห่งจาก 5 ชาติดังกล่าว มีมากถึง 87.9% ของยอดการจำหน่ายรวมของบรรษัทใน 100 อันดับรวมกัน

ประเด็นที่น่าสนใจติดตามก็คือ แม้ว่าบรรษัทผู้ประกอบการค้าปลีกของ
สหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ จะเน้นประกอบการอยู่ภายในประเทศมากกว่าการขยาย การลงทุนไปสู่ประเทศอื่นๆ แต่ยอดการจำหน่ายของบรรษัทค้าปลีก 39 แห่งนี้รวม แล้วมีมากถึง 783,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 46.9% ของยอดการ จำหน่ายรวมของบรรษัททั้ง100 แห่งรวมกัน โดยมีอัตราการเติบโตในช่วงปี1998-1999 เฉลี่ยอยู่ในระดับที่สูงถึง 12.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและขนาดของตลาดที่ใหญ่มากของสหรัฐอเมริกาด้วย

ตัวอย่างความยิ่งใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา อาจพิจารณาได้จาก ผลประกอบการในช่วงปี1999 ของ Wal-Mart ซึ่งครองอันดับ 1 ในการจัดอันดับ ครั้งนี้ โดยมียอดการจำหน่ายรวมมากถึง 163,532 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็น จำนวนที่มากกว่ายอดการจำหน่ายรวมของ Carrefour จากฝรั่งเศส, The Kroger ของอเมริกา และ Metro จากเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ใน อันดับ 2, 3 และ 4 ตามลำดับรวมกันเสียอีก และมีอัตราการเติบโตมากถึง 25.3%

แม้ยอดการจำหน่ายรวมของ Wal-Mart ที่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นหลังจากที่ Wal-Mart ได้ซื้อกิจการของ Asda ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเครือข่ายร้านค้า supermarket ของอังกฤษ แต่ข้อเท็จจริง ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ Wal-Mart ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้จากธุรกิจ ในสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นด้านหลัก ด้วยการขยายจำนวนสาขาในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับการปรับปรุงการดำเนินงานของสาขาที่มีอยู่เดิมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอดการจำหน่ายของ Wal-Mart ในปี 1999 มีเพียง 13.9% เท่านั้น ที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตประเทศสหรัฐอเมริกา

Ira Kalish ชี้ว่า มูลเหตุสำคัญที่ทำให้บรรษัทค้าปลีกจากญี่ปุ่นอยู่ในภาวะถดถอยนั้น นอกจากจะเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ภายในญี่ปุ่นเองแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นภาพสะท้อนของการขาดประสิทธิภาพในการบริหาร และรูปแบบร้านค้าที่หยุดนิ่ง

ผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นยังยึดถือรูปแบบร้านค้าในลักษณะของ Department Store เป็นช่องทางการจำหน่ายอย่างเป็นด้านหลัก ในขณะที่ผู้ประกอบการจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป หันไปรุกการจำหน่ายในรูปแบบของ Hypermarket , Supercenter และ Supermarket ที่เหมาะกับ วิถีชีวิตในยุคปัจจุบันมากกว่า

นวัตกรรมด้านรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ในลักษณะของ Supercenter และ Discount Store ได้กลาย เป็นปรากฏการณ์และกระแสวัฒนธรรมที่มีผลต่ออุตสาหกรรม และธุรกิจค้าปลีกโดยองค์รวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคสมัยปัจจุบัน

แนวโน้มหนึ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีกระดับโลกก็คือ บรรษัทค้าปลีก รายใหญ่กำลังแสวงหาการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการค้าปลีกจากยุโรป ซึ่งเผชิญกับภาวะอิ่มตัวภายในประเทศ จากผลของการแข่งขันและกฏเกณฑ์ว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายตัวทางธุรกิจ ต่างเร่งหาช่องทางการลงทุนทั้งใน
ละตินอเมริกา และเอเชียแปิฟิก โดยปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกซึ่งได้รับการจัดอันดับ Top 100 กว่า 60% เป็นบรรษัทที่ประกอบการธุรกิจค้าปลีกอยู่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 1 ประเทศ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นข้อยกเว้นไปแล้วนั้น เป็นการยากที่ผู้ประกอบการจะสามารถประสบ ความสำเร็จจากการดำเนินกิจการในประเทศเดียว ซึ่งแม้ว่าบรรษัทค้าปลีกของสหรัฐ อเมริกาจะครองความยิ่งใหญ่ แต่ดูเหมือนว่า ผู้ประกอบการจากยุโรปจะมีฐานะเป็นผู้ประกอบการระดับโลกมากกว่า

นอกจากนี้ การควบครอบกิจการ เพื่อการขยายตัวทางธุรกิจกำลัง เป็นอีกแนวโน้มหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกระดับโลก ดังปรากฏให้เห็นในกรณีของ Carrefour ซึ่งก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งอันดับสอง หลังจากที่ ได้เข้าครอบ กิจการของ Promodes และทำให้ Carrefour เป็นบรรษัทที่มีอัตราการขยาย ตัวมากที่สุดในระดับ 60.4% ในช่วงปีที่ผ่านมา

Ira Kalish ได้สรุปกลยุทธ์การเติบโตของบรรษัทค้าปลีกระดับโลก 100 แห่งว่า เกิดขึ้นท่ามกลางการคิดค้นรูปแบบของร้านค้า, การเลือกหาทำเลที่ตั้งและการเสนอสินค้าใหม่ๆ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่บรรษัทค้าปลีกจะดำเนินกิจกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงปี 2000 ที่ผ่านมา กว่า 70% ของบรษัทค้าปลีก 100 อันดับแรก ของโลก ได้เปิดช่องทางการค้าผ่าน web site ทั้งในรูปแบบของการร่วมมือกับ
พันธมิตร และในลักษณะที่ผู้ประกอบการแต่ละแห่งเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง

ผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายกำลังมุ่งหน้าสู่ cyber space เพื่อแสวงหาโอกาสและช่องทางการค้าใหม่ โดยในระยะเริ่มแรกอาจเป็นกิจกรรม ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่ายสินค้าโดยตรง หากแต่อยู่ในรูปของการให้ บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) , ข้อมูลท่องเที่ยว , ข้อมูลทางการเงิน หรือแม้กระทั่ง การประมูลสินค้า แต่กลยุทธ์เหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถรับทราบ ข้อมูลต่างๆ ของผู้บริโภค ซึ่งไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ความสามารถในการนำเสนอ สินค้าและบริการที่เหมาะสมเท่านั้น หากแต่ยังสามารถเพิ่มช่องทางในการค้า ในอนาคตได้อีกด้วย

ตัวอย่างของรูปแบบของกลยุทธ์ดังกล่าวสามารถพิจารณาได้จากกรณีของ Dixonีs ผู้ประกอบการค้าปลีกรายหนึ่งในสหราชอาณาจักร ที่ได้พัฒนาการให้ บริการอินเตอเน็ตในชื่อ Freeserve ซึ่งนับเป็นผู้นำในธุรกิจ ISP รายหนึ่งของ
อังกฤษในปัจจุบัน โดย Dixonีs ได้ใช้ช่องทางจากการให้บริการดังกล่าว นำพาลูกค้าไปสู่บริการอื่นๆ ของ Dixonีs เช่นเดียวกับ Tesco ผู้ประกอบการ ค้าปลีกของอังกฤษอีกราย ที่ใช้ประโยชน์จากการให้บริการ ISP และ web portal ในการขยายฐานลูกค้าไปสู่บริการด้านค้าปลีกอื่นๆ

ปรากฏการณ์เช่นว่านี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ประกอบการจากอังกฤษเท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั้ง Carrefour , Wal-Mart , Kmart และอีกหลายรายต่างให้ความสนใจดำเนินธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งผลพวงของ กิจกรรมที่ผู้ประกอบค้าปลีกเหล่านี้ดำเนินการอยู่ อาจนำไปสู่รูปแบบการค้าปลีก บนอินเทอร์เน็ตในรูปของ B2C อย่างจริงจังได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งนับว่าเป็นกรณี ที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง

ขณะที่สถานการณ์ที่ปรากฏเป็นจริงในธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทยในปัจจุบัน ปรากฏว่าผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ได้รุกคืบเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ภายใต้ข้อได้เปรียบของทุนและการบริหารจัดการ และได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากว่า อาจทำให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทยอาจต้องเผชิญกับห้วงเวลาที่หนักหน่วง

ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการค้าปลีกไทย ซึ่งได้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการรับทราบประสบการณ์ทางด้านธุรกิจค้าปลีก ของบรรษัทที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกแล้ว อีกด้านหนึ่ง ยังเป็นการเตรียมความพร้อมไว้รับมือกับแนวโน้มการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก ที่นับวันจะเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ผู้ประกอบการในประเทศไทยมากขึ้นทุกขณะ

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าบรรดาผู้ประกอบการเหล่านี้ รวมถึงนโยบายของภาครัฐไทยจะมีขีดความสามารถในการกำหนดกลยุทธ์ และการบริหารจัดการ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีเพียงใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.