โฆษณารถใต้ดินวุ่นBMCLรื้อสัญญาใหม่


ผู้จัดการรายวัน(22 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

สัมปทานสื่อโฆษณารถไฟฟ้าใต้ดินวุ่น ไตรแอดส์ ยืนยันหนักแน่นสิทธิยังอยู่ แต่ยอมรับไม่เต็มมือ พื้นที่หลักหายเพียบกว่า 50% ด้านฮาวคัมฯออกโรงโต้ไตรแอดส์เข้าใจผิด บีเอ็มซีแอลเปลี่ยนสัญญาใหม่ ดึงพื้นที่คืน 4 ส่วน ลดระยะเวลา ปรับรูปแบบจ่ายผลประโยชน์ หวังได้รายได้มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ป้อนพื้นที่อุโมงค์ให้ฮาวคัมฯ

ขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินยังไม่เปิดบริการเป็นทางการก็สร้างปัญหาขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของสัญญาสัมปทานพื้นที่โฆษณา ซึ่งมีกระแสว่าบริษัท ฮาวคัม เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาฮุบสัมปทานพื้นที่โฆษณาไปแล้วโดยเฉพาะส่วนที่เป็นไพรม์แอเรียอย่างอุโมงค์ใต้ดิน จากบริษัท ไตรแอดส์ เน็ทเวิคส์ จำกัด

นายนันทสิทธิ์ แจ่มสมบูรณ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮาวคัม เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ปฏิเสธว่า ไตรแอดส์คงเข้าใจผิด เพราะบริษัทมีความสนใจในพื้นที่ส่วนอื่นที่ไตรแอดส์ไม่ได้ทำอยู่แล้ว แต่เราต้องศึกษาในรายละเอียดก่อน เพราะธุรกิจหลักเราคือทีวี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับทางบีเอ็มซีแอลเพียงครั้งเดียวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วและยังไม่ได้เจรจาเพิ่มอีกแล้ว

นางทิพย์สุดา ยิ้มวิไล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไตรแอดส์ เน็ตเวิคส์ จำกัด ผู้รับสัมปทานบริหารพื้นที่โฆษณารถไฟฟ้าใต้ดิน ได้ออกมายืนยันว่า สิทธิ์การบริหารจัดการพื้นที่โฆษณาของรถไฟฟ้าใต้ดินยังคงอยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของบริษัทฯ เหมือนเดิมและบริษัทฯไม่ได้ถูกเทกโอเวอร์แต่อย่างใด โดยสัดส่วนการถือหุ้นยังคงเดิมคือ บีเอ็มซีแอลหรือบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 56% และกลุ่มยิ้มวิไล ถือหุ้น 44% จากทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท และเตรียมที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 20 ล้านบาทในเร็วนี้ และถือเป็นบริษัทลูกของบีเอ็มซีแอล

อย่างไรก็ตาม นางทิพย์สุดา ยอมรับว่า สัญญามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง โดยล่าสุดมีการเซ็นสัญญาฉบับใหม่ไปแล้วช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา หลังจากที่สัญญาเดิมเริ่มไปแล้วปีครึ่ง และสัญญาใหม่กับบีเอ็มซีแอลจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ส่วนสัญญากับลูกค้าโฆษณาวันที่มีการเดินรถไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์

โดยทางบีเอ็มซีแอลได้ขอพื้นที่โฆษณา 4 ส่วนคืนไปประกอบด้วย 1. พื้นที่โฆษณาส่วนอุโมงค์ 2.ระบบโทรคมนาคมเคเบิ้ลไร้สายเครือข่ายทั้งหมด 3. สื่อสิ่งพิมพ์ 4. พื้นที่จัดอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งรวมทั้งหมด แล้วพื้นที่ที่ไตรแอดส์รับผิดชอบหายไปกว่า 50%

ส่วนเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปนั้นคือ ไตรแอดส์จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับบีเอ็มซีแอลเป็นเปอร์เซ็นต์ ตามที่กำหนดจากรายได้ค่าโฆษณาทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ จากเดิมที่กำหนดจ่ายเหมารวมเป็น รายปีตามที่ตกลงกัน และระยะเวลาสัมปทานลดลงเหลือเพียง 10 ปีต่อ 5 ปีจากเดิมที่นานถึง 25 ปี

นายสุธี พนาวร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒาเชิงพาณิชย์ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด กล่าวยืนยันว่า กรณีที่มีข่าวว่า บีเอ็มซีแอลเอาพื้นที่ส่วนอุโมงค์คืนมาจากไตรแอดส์ นั้น เพราะต้องการนำไปให้กับบริษัท ฮาวคัม เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด นั้นไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการเจรจาเป็นทางการหรือไม่มีหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงข่าวเท่านั้น

ส่วนสาเหตุที่นำพื้นที่หลายส่วนคืนมาจากไตรแอดส์นั้นเนื่องจากว่า เมื่อพิจารณาแล้วหากให้บริษัทอื่นนอกเครือทำน่าจะมีรายได้มากกว่าซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับบีเอ็มซีแอลเองไม่ได้ตกอยู่ที่ใครคนอื่น อีกทั้งบีเอ็มซีแอลเองก็มีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย จึงต้องจัดรูปแบบการเงินและรายได้ให้ชัดเจน ส่วนการลดระยะเวลาสัมปทาน ลงนั้นเพราะของเดิมมันยาวและเสี่ยงเกินไป

สำหรับสื่อโฆษณาที่เอาคืนกลับมานั้น ขณะนี้ส่วนของระบบเทเลคอมได้มอบสัมปทานให้กับบริษัท เรเดียน คอมมูนิเคชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด หรืออาร์ซีเอ็น ไปแล้วโดยมีกลุ่มทีเอเข้ามาเช่าต่อ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์กับพื้นที่จัดอีเวนต์นั้นยังไม่มีใครได้รับสัมปทาน ส่วนพื้นที่โฆษณาอุโมงค์นั้นยังเป็นสิทธิ์ของบีเอ็มซีแอลยังไม่มีเอกชนรายใดได้ไปแม้แต่ฮาวคัมฯก็ยังไม่ได้ สำหรับสัมปทานบริหารพื้นที่ค้าปลีกได้มอบสัมปทาน ให้กับบริษัท เมโทร มอลล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบีเอ็มซีแอลเช่นกัน

ขณะที่นางทิพย์สุดา กล่าวทำนองว่า จริงๆแล้วเราเป็นบริษัทลูกไม่ต้องประมูล แต่ถ้าเป็นรายอื่นเข้ามาก็ควรที่จะต้องประมูลเสนอรายได้ดีที่สุดให้กับบีเอ็มซีแอล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

สำหรับบีเอ็มซีแอลมีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย ช.การช่าง, บริษัทกรุงเทพทางด่วนหรือบีอีซีแอล, เนเชอรัลปาร์ค, แบงก์ทหารไทย, แบงก์กรุงไทย, แบงก์นครหลวงไทย

ที่ผ่านมาทางไตรแอดส์ฯได้ขายพื้นที่โฆษณาไปได้แล้วกว่า 80% โดยเฉพาะส่วนพื้นที่อุโมงค์ ซึ่งคิดเป็นรายได้ประมาณ 80-90 ล้านบาท แต่เมื่อถูกเปลี่ยนสัญญาจึงต้องเจรจากับลูกค้าที่ลงโฆษณาว่าให้มีการเปลี่ยนตำแหน่งที่ลงโฆษณาใหม่ อีกทั้งทำให้ไตรแอดส์ได้รับความเสียหายเนื่องจากว่า เดิมคาดว่าภายใน 1-2 ปีแรกจะมีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท แต่เมื่อสัญญาเปลี่ยนอาจจะมีรายได้เหลือไม่ถึง 300 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.