ธปท.ให้ยาขมแบงก์บีบกันสำรอง100%


ผู้จัดการรายวัน(21 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเตรียมนำกฎเหล็กในการลดเอ็นพีแอลทั้งระบบ โดยสั่งธนาคารพาณิชย์กันสำรองหนี้เสียทั้ง 100% ไม่ยกเว้นส่วนของหลักประกัน หวังระบบสถาบันการเงินไทยได้มาตรฐานตามเส้นตายบาเซิล ทู เผยปัจจุบันมาตรฐานหนี้เสียธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่กลุ่มเดียวกับอินโดฯ คาดประกาศใช้กลางปีนี้ ขณะที่ธนาคารกรุงไทยเล่นบทเสือปืนไวนำกำไรไตรมาสแรกกันสำรอง ล่วงหน้า ตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลเหลือ 5% ภายในปีนี้ ส่วนกำไรขอ 1.7 หมื่นล้านบาท "วิโรจน์" มั่นใจเพราะสินเชื่อกำลังขาขึ้นตามภาวะดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้า

นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจะนำกฎการกันสำรองใหม่ภายในกลางปี 2547 โดยให้ธนาคารพาณิชย์กันสำรองหนี้สูญและอยู่ระหว่างการฟ้องร้องต้องสำรอง 100% เป็นการกดดันให้ธนาคารพาณิชย์แก้ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แบบเบ็ดเสร็จ ตามแผนการลดเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินตามนโยบายธปท. ทั้งนี้เป็นไปตามาตรฐานบีไอเอส ภายใต้กฎบาเซิล ทู ซึ่งประเทศไทยต้องใช้ในปี 2549

ปัจจุบันเอ็นพีแอลธนาคารพาณิชย์สูงถึง 6.4 แสนล้านบาท หรือ 12% (ณ ธ.ค. 2546) เป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับสากลที่ไม่ควรเกิน 3%

"สาเหตุที่ต้องคุมเข้มเพราะเคยให้โอกาสธนาคารพาณิชย์โอนหนี้เสียเข้าบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน(บบส.) แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะตกลงเรื่องราคาที่โอนไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการควบคุมให้สถาบันการเงินปรับตัวให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ไฟแนนเชียล มาสเตอร์แพลน) ที่ต้องลดจำนวนสถาบันการเงินลง" นายวิโรจน์กล่าว

สำหรับสาระสำคัญของมาตรการกันสำรองหนี้สูญ 100% นายวิโรจน์อธิบายว่า หลังวันที่ 15 พ.ค. ธนาคารพาณิชย์ต้องกันสำรองเงินสดในหนี้สูญหรือหนี้ที่กำลังฟ้องร้องทั้งหมด จากเดิมในส่วนของหลักประกันไม่ต้องกันสำรอง ยกตัวอย่าง หนี้ 100 บาท มีมูลค่าหลักประกัน 30 บาท ซึ่งเดิมส่วนของหลักประกันธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องสำรอง แต่ต่อไปต้องกันสำรอง "หมายถึงต้องกันสำรองอีก 30 บาท การถูกบังคับครั้งนี้ระบบธนาคารพาณิชย์จะต้องใช้เงินนับแสนล้านบาทจากการนำเงินสดไปชดเชยหลักประกันหนี้สูญมีกฎเกณฑ์ว่า ถ้าอายุหนี้เกิน 2 ปี ในกรณีที่ฟ้องร้องจะต้องสำรองในส่วนหลักประกันทันที"

สำหรับธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเอ็นพีแอล 9 หมื่นล้านบาทหรือ 7% ของสินเชื่อรวม แบ่งเป็นหนี้สูญและอยู่ระหว่างฟ้องร้องซึ่งเข้าข่ายดังกล่าวจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวน นี้มีหลักประกันมูลค่า 8 พันล้านบาท เขากล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ ธนาคารกรุงไทยกันสำรองในไตรมาสแรกทันที 2.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กำลังฟ้องร้อง หากได้หนี้คืนภายหลังธนาคารก็จะมีรายได้กลับมาเป็นกำไร ที่เหลืออีก 5.1 พันล้านบาท จะกันสำรองให้หมดเร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกินสิ้นปี การดำเนินการดังกล่าวไม่เพียงเป็นไปตามกฎการกันสำรองใหม่และมาตรฐานบีไอเอส แต่ส่งผลต่อฐานะการดำเนินงานให้กลับมาเป็นรายได้และกำไร

"ปีนี้ตั้งเป้ากำไร 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท เฉพาะการกันสำรองใหม่ครบ 8 พันล้านบาท ทำให้เอ็นพีแอล ของธนาคารกรุงไทยปีนี้ลดลงทันที 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเป้าลดเอ็นพีแอลเหลือ 5 หมื่นล้านบาทหรือ 5% ในปีนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากและปลายปี 2548 ธนาคารกรุงไทยจะมีเอ็นพีแอลเพียง 2% มีรายได้และฐานที่เร็วขึ้น"

นายวิโรจน์กล่าวว่า การที่กำไรธนาคารกรุงไทย ในไตรมาสแรกของปีเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดจากการปล่อยกู้ที่ขยายตัวมากทำให้รายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากกำไรจากการซื้อขายสินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอ) บวกกับส่วนต่างการลงทุนตราสารหนี้ประเภทจังก์บอนด์ ซึ่งถือเป็นรายได้พิเศษด้วย

สำหรับเป้าหมายสินเชื่อปี 2547 ธนาคารกรุงไทยตั้งเป้าเมื่อต้นปีว่าจะปล่อยกู้ 7 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ปล่อยกู้ไปแล้วถึง 2.4 แสนล้านบาท (รวมที่ยังไม่ได้เบิก) ทำให้ธนาคารคาดว่าจะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

นายวิโรจน์ย้ำว่า ระดับเอ็นพีแอลในเมืองไทยถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานโลก หากจัดลำดับอยู่ในระนาบเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย เป็นเรื่องที่ธปท. ต้องรีบแก้ปัญหา เพราะถือว่าแย่มาก การล้างบัญชีเพื่อให้สะอาดจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

6 เดือนดอกเบี้ยขึ้น

นายวิโรจน์มั่นใจว่า ภายใน 6 เดือนข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับตัวขึ้น ขณะที่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนเริ่มตีบตันเพราะผลตอบแทนต่ำมาก ขณะนี้เข้าสู่ภาวะชะลอตัว ดังนั้นเริ่มมีความต้องการเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ชัดเจน สภาพคล่องแต่ละธนาคารลดลง ในส่วนของกรุงไทยมีส่วนเกินอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

"ตอนนี้ธนาคารและผู้ประกอบการรับรู้กันแล้วว่าอีกไม่นานดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ กำลังรอสัญญาณจากธปท. เพราะธปท.มีข้อมูลทั้งระบบ อย่างไรก็ตามธนาคารกรุงไทยพยายามจะเข้าไปทดสอบสภาพคล่องในระบบโดยการกู้ในตลาดเงินกู้ระยะสั้นพบว่า มีเม็ดเงินให้กู้ไม่มากนัก ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยคงต้องรอธปท. อีกครั้ง สิ่งที่ต้องระวังคือธนาคารแต่ละแห่งไม่รู้ว่าถ้าขึ้นดอกเบี้ยจะมีเงินฝากไหลทะลักเข้ามามากน้อยแค่ไหน เราจึงไม่เป็นผู้นำในการขึ้นดอกเบี้ย"

ด้านภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์และเศรษฐกิจโดยรวม นายวิโรจน์กล่าวว่า การยุบสภาของรัฐบาลไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังเลือกตั้งพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล ถ้าไม่ถึงกับเปลี่ยนขั้วจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบอื่น เชื่อว่าความเชื่อมั่นยังมีเต็มเปี่ยม จะไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจรอบสองเกิดขึ้นอีก เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งต่อเนื่องอีก 2 ปี เป็นอย่างน้อย

"ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องเก่าที่สังคมตื่นตัวในการรับรู้เท่านั้นเอง การรับรู้ปัญหากลับสร้างผลดีต่อการแก้ปัญหา" นายวิโรจน์กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.