ไมด้าแอสเซ็ทปีนี้ยอดขายโต30% สินค้าต้นทุนต่ำรับตรงจากโรงงาน


ผู้จัดการรายวัน(16 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ไมด้า แอสเซ็ท ตั้งเป้าปี 2547 มียอดขายกว่า 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 30% โดยรายได้หลักยังมาจากธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เชื่อตลาดนี้อนาคตยังสดใสต่อเนื่อง เผยสินค้าบริษัทมีต้นทุนต่ำ สามารถสร้างรายได้จากส่วนนี้มากพอควร พร้อมแจงระบบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของบริษัทไม่เสี่ยงเหมือนที่คิด แม้ไม่มีเอกสารการเงินประกอบ

นายกมล เอี้ยวศิวิกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน)(MIDA) เปิดเผยว่า ในปี 2547 บริษัทคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 4,000 กว่าล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ประมาณ 30% โดยสัดส่วนรายได้ ณ ปัจจุบันมาจากการขายเช่าเครื่องใช้ไฟฟ้า 94% และเป็นรายได้จากการจำหน่ายรถจักรยานยนต์อีก 5% และที่เหลืออีก 1% เป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับบ้าน

ปัจจุบันตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีอัตราการเติบโตที่ดี และเป็นตลาดที่ไม่มีวันอิ่มตัว เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้มีอายุการใช้งาน เมื่อถึงเวลาก็พังหรือเสียไป จึงต้องเปลี่ยนใหม่ ทำให้เกิดการหมุนเวียนอยู่ตลอด อีกทั้งการเข้ามาของคู่แข่งที่หลากหลาย และมีหลายแบรนด์ ทำให้เกิดการแข่งในการพัฒนาสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้จะเป็นสินค้าของแบรนด์จากญี่ปุ่น แต่ขณะนี้จะมีทั้งแบรนด์เกาหลี และจีนเริ่มเข้ามาแย่งตลาดในประเทศแล้ว รวมถึงการขยายตัวของจำนวนประชากร ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ธุรกิจโตอย่างต่อเนื่อง

นายกมล กล่าวว่า ธุรกิจการขายเช่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นตัวทำรายได้ที่ดี เนื่องจากสินค้าของบริษัทมีต้นทุนที่ต่ำมาก จึงสร้างรายได้จากส่วนนี้มากพอสมควร โดยสินค้าของบริษัทที่รับมาขายนั้น จะซื้อได้ในราคาขายส่ง เนื่องจากเป็นการรับสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต ขณะที่บางบริษัทไม่สามารถทำแบบนี้ ดังนั้นจึงทำให้มีต้นทุนสูงกว่า "เรารับสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงเหมือนกับห้างสรรพสินค้าที่ได้ในราคาขายส่ง คือเมื่อทางห้างฯรับสินค้ามาที่ราคา 5,000 บาท ก่อนขายจะบวกกำไรเข้าไป 10% ทำให้ขายได้ในราคา 5,500 บาท ก็จะมีกำไร 500 บาทในขณะที่บางบริษัททำธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนเรา แต่เขาไม่ได้กำไรจากการขายเหมือนเรา เพราะเขาซื้อผ่านทางห้างฯ เลย ทำให้รายได้จากการขายมีแต่ดอกเบี้ย ส่วนเราก็จะได้ทั้งกำไรและดอกเบี้ย" นายกมลกล่าว

นายกมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บางครั้งผู้ผลิตเองก็มีการลดราคาสินค้าให้บริษัท อย่างกรณีเช่นสินค้าใกล้หมดรุ่น เตรียมผลิตรุ่นใหม่ออกมาแทน แต่ก็ยังหวั่นเกรงว่าเมื่อสินค้ารุ่นใหม่วางขายจะทำให้รุ่นเก่า ราคาตก ซึ่งจุดนี้ผู้ผลิตจะเข้ามาเจรจากับไมด้าฯ เพื่อเสนอเงื่อนไขการขายสินค้าในราคาขายส่งพร้อมส่วนลดอีก 20% เมื่อบริษัทรับมาก็ขายในราคาปกติ ดังนั้น ไมด้าฯ ก็จะมีรายได้จากตรงนี้เพิ่มขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ผลิตจะมีการลดราคาสินค้าให้ แต่บริษัทกลับยังขายในราคาปกตินั้น ในเรื่องดังกล่าว นายกมล ชี้แจงว่า หากสินค้าประเภทเดียว กันขายในราคาที่ต่างกันก็จะทำให้ลูกค้าเกิดการเปรียบเทียบได้ โดยลูกค้าที่ซื้อในราคาที่แพงกว่าอาจรู้สึกว่าตนถูกเอาเปรียบหรือถูกหลอก ผลที่ตามมาก็คือไม่ผ่อนชำระต่อ ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาให้บริษัท ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาตรงนี้ สินค้าทุกอย่างที่เป็นรุ่นเดียวกัน บริษัทก็จะขายในราคาเท่ากันหมด

นอกจากนี้ นายกมลได้กล่าวถึงระบบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ หรือเครดิต สกอลลิ่ง ของบริษัทว่า เนื่องจากระบบของบริษัทไม่มีเอกสารทาง การเงินมาประกอบการพิจารณา ทำให้ถูกมองว่าเป็น การเพิ่มความเสี่ยงให้บริษัทหรือไม่ เพราะเอกสารการเงินที่นำมาแสดงนั้นเป็นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ลูก ค้าว่ามีความสามารถในการชำระคืนได้มากน้อยเพียงใด

"ถ้าให้มองเหมือนคนทั่วไปก็ต้องบอกว่ามันเสี่ยง แต่ถ้าเขามาทำจริงก็จะเห็นว่ามันไม่เสี่ยง เนื่อง จากเครดิต สกอลลิ่งได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับรูปแบบที่เราใช้พิจารณาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งของบริษัทอื่น ๆ ก็จะมีรูปแบบเป็นของตนเองเช่นกัน โดยอาจดูจากสลิปเงินเดือน ใบรับรองเงินเดือน หรือ สเตทเมนต์ก็ได้" นายกมลกล่าว

สำหรับรูปแบบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของบริษัทนั้นจะเน้นการเข้าถึงตัวและสอบถามข้อมูลโดย ตรงจากลูกค้า โดยบริษัทจะเข้าไปเก็บข้อมูลจากสถาน ที่จริงหรือเรียกได้ว่าไปเคาะถึงประตูหน้าบ้านลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงจากบุคคลที่อ้างอิง เช่น ผู้ค้ำประกัน ญาติ เพื่อนบ้าน เป็นต้น เพื่อเป็นการสอบทานข้อมูลอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งการเข้าไปแบบนี้จะทำให้บริษัทรู้ว่าลูกค้ามีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร

โดยหลังจากที่ดูสภาพความเป็นอยู่แล้ว ก็มาพิจารณารายได้ โดยดูว่ารายได้ของครอบครัวนี้มาจากไหน มีอาชีพอะไร เงินเดือนเท่าไร เป็นต้น นอกจากนี้ก็พิจารณาอุปนิสัยของลูกค้าว่าเป็นคนอย่างไรซึ่งตรงนี้อาจสอบถามจากคนใกล้ชิดหรือคนที่รู้จักกัน

ดังนั้น เห็นได้ว่าฝ่ายพิจารณาสินเชื่อของบริษัทจะต้องมีความชำนาญในการวิเคราะห์ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากประสบการณ์ที่ทำมานาน และหลังจากที่ฝ่ายสินเชื่อเก็บข้อมูลมาแล้ว ก็ส่งมาที่บริษัทเพื่อทำการให้คะแนน พร้อมตรวจสอบรายชื่อของลูกค้าว่าอยู่ในบัญชีแบล็กลิสต์หรือไม่

"ฉะนั้นการที่บริษัทปล่อยสินเชื่อออกไปแต่ละครั้งจะต้องมั่นใจว่าสามารถตามเก็บได้ ไม่ใช่ปล่อยออกไปแล้วตามเก็บไม่ได้ และในส่วนหนี้เสียของบริษัทนั้นก็อยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อีกทั้งตลาดหลักของเราคือเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเฉลี่ยแล้วยอดเช่าซื้ออยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทต่อราย ดังนั้น ผลกระทบจากหนีเสียต่อรายลูกค้าจึงมีสัดส่วนน้อย" นายกมลกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.