‘อีซี่บาย’ไม่เน้นโตหวือหวา คาดตลาดสินเชื่อเงินสดพุ่ง


ผู้จัดการรายวัน(15 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

อีซี่บายคาดตลาดสินเชื่อเงินสดปีนี้มาแรง อัตราการเติบโตสดใสกว่าตลาดสินเชื่อเงินผ่อน แจงเหตุพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปยอมรับระบบการขอสินเชื่อมากขึ้นโดยมองว่าบริษัทจะโตประมาณ30% ด้านตลาดเงินผ่อนคงโตแบบรักษาระดับหลังจากพุ่งสุดๆ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เผยธุรกิจนอนแบงก์ไปได้สวย ยังเหลือเค้กก้อนโตให้กินอีกมาก ส่วนกลยุทธ์การตลาดเน้นโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายจตุฤทธิ์ จันทร์กานต์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท สยาม เอ แอนด์ ซี จำกัด หรือ อีซี่บาย เปิดเผยว่า ปีนี้ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลหรือ Personal Loans มีอัตราการเติบโตสูง ด้วยสาเหตุจากการพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมที่ไม่นิยมขอสินเชื่อหรือกู้เงินก็ให้การยอมรับมากขึ้น

"สมัยก่อนถ้าจะบอกว่าไปกู้เงินก็ไม่ค่อยจะกล้ากัน และส่วนใหญ่จะรู้สึกอาย แต่ปัจจุบันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมีการยอมรับของตัวสินค้ามากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะเกิดจากผู้ประกอบการ และภาครัฐมีการพูดถึงธุรกิจนี้บ่อย ซึ่งเมื่อได้ยินนานเข้าก็เกิดความเคยชิน และกลายเป็นพฤติกรรมยอมรับ" นายจตุฤทธิ์ กล่าว

สินเชื่อส่วนบุคคล หรือที่อีซี่บายใช้ว่า สินเชื่อเงินสดนั้นแนวโน้มการเติบโตปีนี้จะดี โดยในส่วนของบริษัทคาดว่าโตประมาณ 30% ซึ่งล่าสุดบริษัทได้พัฒนารูปแบบการบริการสินเชื่อเงินสดใหม่ คือลูกค้า สามารถกู้แล้วปิดยอดหนี้เมื่อไรก็ได้ โดยคิดดอกเบี้ยปิดเป็นรายวัน เช่น กู้วันนี้และปิดยอดพรุ่งนี้เลยก็ได้ บริษัทไม่ได้มากำหนดว่าจะต้องกู้กี่เดือน ซึ่งสินเชื่อนี้ตลาดตอบรับค่อนข้างดี

นายจตุฤทธิ์ กล่าวว่าการปล่อยสินเชื่อนั้น สิ่งที่พิจารณาหลักๆ ก็คือคุณสมบัติของลูกค้า และความสามารถในการชำระคืน บริษัทไม่ได้มองว่าลูกค้ามีเงินเดือนสูงแล้วจะปล่อยสินเชื่อให้มากๆ นั่นถือเป็นการทำตลาดที่ผิด และเป็นการสร้างหนี้อย่างแท้จริง ดังนั้นนอกจากดูคุณสมบัติและความสามารถในการชำระคืน แล้วบริษัทก็จะพิจารณาจุดประสงค์ที่นำไปใช้ด้วย

" ถ้าเรามองว่าลูกค้าคนนี้มีเงินเดือนสูง แล้วปล่อยสินเชื่อให้เยอะ ๆ ก็ไม่ผิดที่รัฐจะพูดว่ามันเป็นการ

สร้างหนี้ให้แก่ประชาชน แต่เราไม่ต้องการเป็นอย่างนั้น ลูกค้าที่เข้ามาหาส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ และทางเราก็ใช่ว่าจะปล่อยกู้แบบไม่สนใจใคร ไม่ใช่ลูกค้ามีเงินเยอะก็ปล่อยเยอะ แต่เราก็มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาด้วย "นายจตุฤทธิ์ กล่าว

สำหรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้คือเงินสด ดังนั้นการขอสินเชื่อจะต้องมาที่บริษัทหรือสาขาเพื่อทำการพิจารณาและอนุมัติ โดยปัจจุบันบริษัทมีสาขาที่พร้อมให้บริการ 45 แห่งทั่วประเทศ และเร็ว ๆ นี้จะเปิดอีก 8 สาขา ใน 8 สถานนีรถไฟฟ้าใต้ดิน

นอกจากสินเชื่อเงินสดแล้ว ธุรกิจหลักอีกประเภทของบริษัทก็คือ สินเชื่อเงินผ่อน (Hire Purchase) ซึ่งนายจตุฤทธิ์ คาดว่าปีนี้ตลาดดังกล่าวจะมีอัตราการเติบโตแบบรักษาระดับ เนื่องจากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดสินเชื่องเงินผ่อนมีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด ทำให้อัตราการเติบโตเป็นไปแบบก้าวกระโดด โดยคาดว่าปีนี้ ภาพรวมทั้งตลาดน่าจะโตประมาณ 10-15% ส่วนของบริษัทคาดว่าประมาณ 20%

"ถ้าจะมองการเติบโตแล้วปีนี้ตลาดสินเชื่อเงินสดมาแรงกว่าสินเชื่อเงินผ่อน เนื่องจากตลาดดังกล่าวมีการเติบโตที่สูงมากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดสินเชื่อเงินสดเพิ่งมาแรงเมื่อประมาณปีที่แล้ว ดังนั้น คิดว่าปีนี้ตลาดยังคงแรงต่อไป"นายจตุฤทธิ์ กล่าว

โดยสินค้าเงินผ่อนที่ทำยอดขายได้ดี ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ส่วนรถจักรยานยนต์นั้น เนื่องจากบริษัทไม่ได้เน้นทำตลาดตรงนี้มาก แต่ที่ยังมีให้บริการเพื่อเป็นการสนองความต้องการของลูกค้า ดังนั้น สินเชื่อจากรถจักรยานยนต์จึงไม่โดดเด่นอะไรมากนัก ปัจจุบันบริษัทมีร้านค้า 3 ,000 กว่าแห่งที่ร่วมบริการสินเชื่อเงินผ่อน และมีเคาน์เตอร์ให้บริการสินเชื่อเงินผ่อนประมาณเกือบ 200 จุดทั่วประเทศ

สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดนั้น นายจตุฤทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วบริษัทได้เริ่มเข้าไปจับกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด โดยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี ส่วนจะขยายสาขาต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นหรือไม่ คงต้องดูด้วยว่าพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ เมื่อเข้าไปสามารถทำตลาดได้หรือเปล่า สนองความต้องการลูกค้าได้แค่ไหน ดังนั้นในพื้นที่ดังกล่าวบริษัทคงไม่เร่งขยายมากนัก แต่ให้เป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ทำมากกว่า ทั้งนี้ปัจจุบันฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯประมาณ 75% ส่วน 25%อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

" โดยในต่างจังหวัด เราดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า เพราะธุรกิจอย่างนี้ถ้าจะกอบโกยวันนี้และทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วก็ทำได้ แต่เมื่อทำแล้วไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะเราต้องมาคิดด้วยว่าธุรกิจของเราจะยืดหยัดอยู่ได้ยาวนานเพียงใด เพราะเราต้องพึ่งประชาชนและพึ่งสังคมเหมือนกัน หากสังคมอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องโตแบบเป็นระบบ"นายจตุฤทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าความต้องการของประชาชนในการใช้บริการจากนอนแบงก์นั้นยังมีอยู่มาก โดยปัจจุบันฐานลูกค้าทั้งหมดของนอนแบงก์รายใหญ่ ๆ คาดว่ามีทั้งสิ้นประมาณ 7 ล้านราย ในขณะที่จำนวนประชากรมีประมาณ 63 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจดังกล่าวยังสามารถสร้างฐานลูกค้าได้อีกมาก แต่จะทำได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัท โดยปัจจุบันฐานลูกค้าของอีซี่บายมีประมาณ 1 ล้าราย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.