ทรัพย์สินฯทวงใบโพธิคืนสินปีนีขอถือหุ้นใหญ่26%


ผู้จัดการรายวัน(9 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

สำนักงานทรัพย์สินฯ เดินหน้าซื้อหุ้นแบงก์ไทยพาณิชย์คืนจากกระทรวงการคลัง ยันปีนี้ต้องกลับเข้าถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนประมาณ 26% เท่าเดิมก่อนที่แบงก์จะเข้าโครงการ 14 สิงหาคม ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประกาศขายบง.สินอุตสาหกรรมและบุคคลัภย์ เชื่อเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์กับแบงก์และผู้ถือหุ้นมากที่สุด คาดได้ข้อสรุปก่อนมิถุนายนนี้แน่ ระบุ "ยูเอฟเจ แบงก์" ถอนหุ้นไม่กระทบแบงก์ เพราะจะมีกลุ่มต่างชาติรายอื่นเข้ามาซื้อหุ้นแทน และเป็นการทำเพื่อเข้าแผนแม่บทที่ต้องการมีสาขาในประเทศไทย

นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะตัวแทนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีนโยบายที่จะเข้ามาถือหุ้นในธนาคารในสัดส่วนประมาณ 25-26% เท่ากับสัดส่วนเดิมก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หลังจากที่ธนาคารได้เข้าโครงการ 14 สิงหาคม จนต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ลดลง

"ขณะนี้ธนาคารได้แก้ไขปัญหา ทั้งในเรื่องของเงินกองทุนและระบบต่างๆ ภายในธนาคารเรียบร้อยแล้ว ขณะที่กระทรวงการคลังเอง มีนโยบายที่ชัดเจนในการทยอยขายหุ้นออกไป และจากข้อตก ลงในโครงการ 14 สิงหาคม คลังในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายหุ้นดังกล่าวให้กับสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นกลุ่มแรกในราคาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งขณะนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีการทยอยซื้อเก็บบางส่วน จนทำให้มีสัดส่วนหุ้นจำนวน 13% และจะสามารถซื้อหุ้นคืนจากคลังเพื่อให้สัดส่วนการถือหุ้นเท่าเดิมภายในสิ้นปีนี้"

ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีการเจรจากับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง โดยในหลักการเห็นตรงกันว่าควรจะซื้อหุ้นคืนมาอยู่ในสัด ส่วนเท่าเดิม แต่ยังคงติดขัดในเรื่องของกฎหมาย เล็กน้อย ที่จะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้ซื้อหุ้นคืนจากกระทรวงการคลังได้

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า โครง สร้างผู้ถือหุ้นของธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ล่าสุด UFJ Bank Limited ได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการขายหุ้นธนาคาร ออกไป 4.9% จากจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด 8.6% ทั้งนี้ เนื่องจาก UFJ ต้องการเปิดสาขาในประเทศ ไทย จึงต้องการที่จะขายหุ้นของธนาคารที่ถืออยู่ทั้งหมด

"การที่ UFJ ขายหุ้นออกมา เพื่อให้สอด คล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยที่ผ่านมา UFJ ได้เปิดธุรกิจวิเทศธนกิจ (BIBF) ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อแผนพัฒนา ระบบสถาบันการเงินออกมาเอื้อ จึงทำให้ต้องการ ทำธุรกิจธนาคารเต็มรูปแบบ แต่การขายหุ้นธนาคารออกมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธนาคารแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าจะมีกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้าซื้อหุ้นต่อจาก UFJ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่สามารถทำธุรกิจสนับสนุนให้กับธนาคาร ทำให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารอยู่ในระดับ 40% เท่าเดิม"

เดินหน้าขายบง.ภายในเดือนมิ.ย.นี้

สำหรับแผนการดำเนินการกับบริษัทในเครือ คือ บริษัทเงินทุน (บง.) บุคคลัภย์ ที่ธนาคาร ถือหุ้นอยู่ 89% และบริษัทเงินทุน (บง.) สินอุต-สาหกรรม จำนวน 42% นั้น ธนาคารมีนโยบายที่จะขายออกไป ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น เพราะการนำมาควบรวมกับธนาคาร จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับธนาคารมากนัก

"ขณะนี้ธนาคารได้มีการเจรจากับกลุ่มที่สนใจจะเข้ามาซื้อบง.ทั้ง 2 แห่งแล้ว ซึ่งมีจำนวน มากกว่า 2 ราย คาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นมิ.ย. นี้"

ส่วนธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจธนาคารนั้น ธนาคารมีนโยบายขายออกไปเช่นเดียว กัน โดยขณะนี้ได้ถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ เกินกว่า เกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด คือ 20% ของเงินกองทุน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการ ปรับโครงสร้างหนี้คือการแปลงหนี้เป็นทุน และเกิดจากมูลค่าหุ้นที่ลงทุนไว้ราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารได้ทยอยขายในส่วนที่เกินมูลค่าออกไปเพื่อให้อยู่ในระดับที่ธปท.กำหนด

สำหรับบริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) นั้น ธนาคารยังไม่มีนโนบายขายออกไป เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่ได้รับฝากเงิน แต่ทำธุรกิจเช่าซื้อ และยังเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้

คุณหญิงชฎา กล่าวต่อว่า ผลประกอบการ ของธนาคารในไตรมาส 1 คาดว่าจะออกมาดีกว่า ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะธนาคารสามารถ ปล่อยสินเชื่อได้จำนวนมาก โดยสินเชื่อรายใหญ่ ใน 2 เดือนแรกขยายตัว 4% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยอยู่ที่ 13% แต่เมื่อรวมแล้ว

ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ทำให้ไตรมาสแรกเติบโตกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยสินเชื่อทั้งปีธนาคารตั้งเป้าเติบโต10% หรือ 44,000 ล้านบาท

หนุนรัฐซื้อรถไฟฟ้าบีทีเอส

ส่วนกรณีที่รัฐบาลกำลังเจรซื้อโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้สามารถเชื่อมเข้ากับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และโครงข่ายระบบรางทั้งหมดของรัฐบาล นั้น คุณหญิงชฎา กล่าวว่า ธนาคารมี 2 สถานะในบีทีเอส คือ ในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งมีจำนวนไม่มาก และในฐานะเจ้าหนี้วงเงิน 3,100 ล้านบาท รวมกับมูลค่าส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้น เป็นประมาณ 3,700 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท มีปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามปกติ แต่ปัจจุบันยังไม่ถือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะยังมีการชำระอัตราดอกเบี้ยบางส่วน

"การเข้ามาซื้อโครงการดังกล่าวของรัฐบาล ถ้ามองระยะยาวก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ผู้ใช้บริการ ได้รับความสะดวก และทางเจ้าหนี้เองก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาได้มีการมองหาลู่ทางการแก้ไขปัญหาด้านการเงินของบริษัทอยู่แล้ว"

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะสรุป ได้ว่าจะเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด เพราะทุกอย่างจะต้องมีการเจรจา โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ถือว่าเป็นผู้นำในส่วนของเจ้าหนี้เงินบาท ในที่สุดแล้วก็จะต้องมีการเจรจากับภาครัฐด้วยเช่นกัน ว่า ประเด็นไหนรับได้หรือไม่ได้อย่าง ไร ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวมีหนี้อยู่จำนวน 11,000 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.