บีทีเอสปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ เตรียมลงนามกับเจ้าหนี้ "เกษม" เผยเจ้าหนี้ยอมลดเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่ายให้
8,000 ล้านบาท ฟุ้งปี 47 จะเหลือเงินพอจ่ายดอกเบี้ยที่เหลือและเริ่มมีกำไร พร้อมเตรียมเข้าตลาดปลายปีนี้
หลังแก้ปัญหาสัดส่วนหนี้สิน ต่อทุนเหลือ 1 ต่อ 1 แถมอัดรัฐวุ่นเลือกเจรจาเจ้าหนี้ซื้อหนี้แทนที่จะเจรจากับบีทีเอส
ชี้เป็นวิธี ที่เอกชนมักทำกันเพื่อเอาไว้บีบผู้ถือหุ้น
นายเกษม จาติกวณิช ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
หรือบีทีเอส เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศว่า
ภายในเดือนเมษายนนี้ จะทราบผลการเจรจาขอลดอัตราดอกเบี้ยของหนี้ต่างประเทศ ที่คิดจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดพันธบัตรลอนดอน
(Libor) จากร้อยละ 2.375 ลงเหลือร้อยละ 1.75 ภายหลังเจรจาขอลดภาระดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้ในประเทศ
จากอัตรา ดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) +1 ลงเหลือ MRR-1 ซึ่งจะช่วยให้บีทีเอส มีภาระหนี้ที่เป็นดอกเบี้ย
เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากเดิมที่มีมากกว่าร้อยละ 5 ปรับหนี้สินต่อทุนเหลือ 1
ต่อ 1
นอกจากนี้ หนี้ของบริษัททั้งหมดประมาณ 38,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 32,000
ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างจ่าย 6,000 ล้านบาทนั้น จากการเจรจากับเจ้าหนี้ ได้ข้อตกลงคือ
ลดหนี้ในส่วนของเงินต้น เป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ลดดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ 6,000
ล้านบาท และแปลงหนี้เป็นทุน และตราสารกึ่งทุน คิดเป็นเงินกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดทำให้บีทีเอส
มีภาระหนี้คงเหลือ เพียง 14,000 ล้านบาท ที่ต้องผ่อนชำระ 18 ปี จากภาระหนี้เดิมกว่า
38,000 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สิน ต่อทุนปรับเป็น 1:1 เท่าจากเดิมที่อยู่ในอัตรา
3:1
นายเกษมกล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณของผู้โดยสารที่ใช้บริการของบีทีเอสเพิ่มขึ้นกว่า
400,000 คนต่อวัน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7-8 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งจะทำให้ปี
2547 จะเป็นปีแรกที่บีทีเอสสามารถมีผลประกอบการเป็นกำไรหลังหักลบหนี้ เป็นปีแรก
เพื่อเป็นฐานการเตรียมการเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีเป้าหมายให้แล้วเสร็จในปีนี้
ซึ่งคาดว่าหลังผ่านกระบวนการปรับโครงสร้าง หนี้แล้วบีทีเอสจะเป็นบริษัทที่ดี เพราะขณะนี้เริ่มมีกระแสเงินสดในมือมาก
และสามารถนำหุ้นเข้าซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2547 ซึ่งก็จะเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างแน่นอน
ท้ารัฐเจรจาบีทีเอสซื้อหุ้นโดยตรง
นายเกษมกล่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นบีทีเอสของกระทรวงคมนาคมเพื่อนำไป
ควบรวมระบบราง นั้น จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่ติดต่อทาบทามอย่างเป็นทางการ และฝ่ายบีทีเอส
เองพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายดังกล่าว แต่รู้สึกไม่สบายใจที่รัฐบาลไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อซื้อหนี้
แทนที่จะมาเจรจากับผู้บริหารบีทีเอสซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทาน จากรัฐ ซึ่งพูดง่ายนิดเดียวหากต้องการให้ประชาชนได้
ประโยชน์ เพราะที่ผ่านมา มีเอกชน 4-5 รายขอซื้อหนี้บีทีเอส ซึ่งที่อยากซื้อก็เพราะต้องการกุมอำนาจ
อยากเป็นเจ้าของ และสามารถบีบผู้ถือหุ้นได้ ไม่คิดว่ารัฐจะเลือกวิธีซื้อหนี้เหมือนเอกชนทำ
แล้วอ้างว่าทำเพื่อประชาชน
"เรื่องที่รัฐจะซื้อโครงการบีทีเอสนั้น โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วย 100% เพราะบริการแบบนี้ทั่วโลกไม่ค่อยมีเอกชนกล้าทำ
แต่ขอทราบเหตุผลว่าทำไมเมื่อ 10 ปีก่อนรัฐบาลไม่ยอมทำเอง มาให้สัมปทานกับเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
ซึ่งเพราะรัฐไม่มีปัญญา ไม่มีเงิน แต่พอเอกชนเข้ามาทำก็มีอุปสรรคมากมาย แต่จนถึงขณะนี้บีทีเอสเริ่มที่จะฟื้นตัวได้แล้ว
และการ ที่รัฐบาลอยากซื้อโครงการ ก็ไม่มาทาบทามบริษัท เห็นแต่ข่าวทางหนังสือพิมพ์เท่านั้น
ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเพียง ข่าวลือ" นายเกษมกล่าว
นายเกษมกล่าวถึงราคาซื้อที่เหมาะสมว่าควรเป็นราคาที่ให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้นเดิม
ที่ถือหุ้นมาระยะยาว ตั้งแต่บริษัทยังมีผลประกอบการขาดทุน อยู่ ซึ่งอาจเป็นราคาพาร์บวกด้วยส่วนเพิ่มของมูลค่าหุ้น
(มาร์จิ้น) อีก 50% ของราคาพาร์ ซึ่งถือว่าไม่แพง มากเกินไป
20 เม.ย.ประชุมบอร์ดสรุปปรับโครงสร้างหนี้
นายอาณัติ อาภาภิรมย์ ที่ปรึกษาบีทีเอส กล่าวว่า บริษัทกำหนดประชุมคณะกรรมการ
(บอร์ด) ในวันที่ 20 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณารายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้ล่าสุดที่คณะกรรมการปรับโครง
สร้างหนี้ของบริษัทได้เจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำร่างข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว
และหลังจากบอร์ดอนุมัติจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้น โดยคาดว่าจะสามารถ ลงนามในข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้ในเดือนพฤษภาคม
โดยการที่เจ้าหนี้ลดหนี้ให้ทำให้บริษัทประหยัด ไปได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแปลงหนี้เป็นทุนอีก
10,000 กว่าล้านบาท ขณะนี้เหลือเพียง การเจรจาเรื่องอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดลอนดอนหรือ
libor + 1.75 ขณะที่เจ้าหนี้ต้องการที่ประมาณ + 2 จาก libor เดิม + เกือบ 3 อย่างไรก็ตาม
หลังปรับโครงสร้าง หนี้เรียบร้อย ฐานะการเงินของบริษัทจะดีขึ้นและมีเงิน เพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ที่เหลือทั้งหมด
ตั้งเป้าระดมทุน 7,000 ล้านบาทลงทุนส่วนต่อขยาย
ทั้งนี้ การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ไม่มีการพูดถึงกรณีที่รัฐเจรจาซื้อหนี้จากเจ้าหนี้
เพื่อควบ รวมโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้ากับระบบรางทั้งหมด ที่รัฐจะเป็นผู้บริหารเอง
อย่างไรก็ตาม ในแผนธุรกิจของบริษัทหลังปรับโครงสร้างหนี้ จะมีการลงทุนเพิ่ม ในเรื่องการซื้อรถและระบบควบคุมอาณัติสัญญาณต่างๆ
ในเส้นทางส่วนต่อขยายสาทร ประมาณ 2,000 ล้านบาท และสายสุขุมวิท อีก 8 กม. ประมาณ
6,000 ล้านบาท
นายอาณัติกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 400,000 คนต่อวัน มีรายได้ประมาณ
7-8 ล้านบาทต่อวัน โดยเชื่อว่า เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินเปิดให้บริการจะเป็นส่วนช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร
แต่อาจ จะมีผลกระทบในบางช่วง เช่น หมอชิต-ศาลาแดง ที่ผู้โดยสารสามารถเลือกเดินทางได้ทั้งสองโครงการ
แต่ในภาพรวมก็จะทำให้ผู้โดยสารของทั้งสองระบบเพิ่มขึ้น จากที่มีการต่อเชื่อมระบบที่สถานีหมอชิต
อโศก ศาลาแดง และจะมีการพัฒนาระบบตั๋วร่วม
"กรณีที่รัฐเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อซื้อหนี้เป็นเรื่องของรัฐไม่เกี่ยวกับบริษัท
และการปรับโครงสร้างหนี้ก็ต้องเดินหน้าต่อไป แต่หากรัฐเจรจากับเจ้าหนี้สำเร็จ ก็แค่เปลี่ยนเจ้าหนี้มาเป็นรัฐแทนเท่านั้น"