TMBสวอปหนีรสก.เม็ดเงินกว่าหมืนล้าน


ผู้จัดการรายวัน(7 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"สุภัค ศิวะรักษ์" ตั้งเป้าเพิ่มสินเชื่อปี47 อีก 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมจับมือดีบีเอส ไทยทนุเสนอทางเลือกให้รัฐวิสาหกิจ สวอป อัตราแลกเปลี่ยนป้องกันความเสี่ยง เริ่มเจรจาแล้ว 4-5 ราย เม็ดเงินสูง กว่าหมื่นล้านบาท ยอมรับสินเชื่อปี 46 ขยายตัวต่ำ เหตุมาจากเร่งแก้หนี้เน่าคาดสิ้นปีจะลดให้เหลือเพียง 5% ประมาณการกำไรปีนี้อยู่ที่ 4-5 พันล้าน เบนเข็มขยายฐาน SMEs เชื่อมั่นเป็นตลาดที่มีอนาคต ส่วนเงินฝาก น่าจะโตเฉลี่ย 2-3% ฟันธงปลายปีนี้ FED ขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)(TMB) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของธนาคารทหาร ไทย ภายหลังจากการควบรวมกิจการจะสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ต่อไป ซึ่งในส่วนของธนาคารทหารไทยเองได้ตั้งเป้าการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 24,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นจากปี 2546 ประมาณ 8% จากพอร์ตสินเชื่อเดิม

โดยในระยะแรกนี้ธนาคารได้ร่วมมือกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ พัฒนาผลิตภัณฑ์ทาง การเงินในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกที่ธนาคารได้นำเสนอกับลูกค้าของธนาคารคือ เข้าไปทำการสวอปอัตราแลกเปลี่ยนหรือ ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหนี้เงินกู้ระหว่าง ประเทศของรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยในเบื้องต้นได้เจรจากับรัฐวิสาหกิจแล้ว 4-5 ราย ในวงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท

"การที่ธนาคารทหารไทยหันมาทำธุรกิจด้าน นี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ให้รัฐวิสาหกิจที่มีเงินกู้จาก ต่างประเทศชำระเงินกู้ต่างประเทศโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องใช้แหล่งเงินภายในประเทศไปคืนเงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งในการทำสวอปครั้งนี้ธนาคารก็จะมีรายได้ในรูปของค่าธรรมเนียม และถือว่าไม่มีความเสี่ยงเนื่องจากไม่ใช่เป็นการปล่อยกู้ และไม่ต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และในอนาคตธนาคารก็จะหันมาทำธุรกรรมประเภทนี้เพิ่ม"

นายสุภัค กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อโดยทั่วไปของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสแรกของปีการขยายตัวของสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้า เนื่องจากช่วงปลายปีธนาคาร พาณิชย์ทุกแห่งต่างเร่งขยายสินเชื่อในปริมาณที่สูงทำให้ฐานสินเชื่อรวมโตขึ้นมาก ตัวเลขสินเชื่อในไตรมาส 1 ของปีถัดมาจึงถูกมองว่าขยายตัวช้าแท้จริงแล้วการขยายตัวก็เป็นไปตามปกติ ซึ่งในปีนี้ตัวเลขอัตราการขยายตัวของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมนั้นกำลังการผลิตใกล้เต็มแล้วน่าจะมีการขอสินเชื่อเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่ม

ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ และยังมีสินเชื่อที่อนุมัติไปแล้วแต่ ยังไม่ได้มีการเบิกใช้อีกประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท และถือว่าเป็นการขยายตัวที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากในปีที่ผ่านมาธนาคารให้ความสำคัญกับการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL รวมถึงการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ด้วย

"ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายการลดNPL ให้เหลือประมาณ 5% จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 10% ซึ่งตัวเลขในปัจจุบันนี้ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางแบงก์ชาติกำหนดไว้ และเมื่อดูตัวเลขของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ มีNPL อยู่ประมาณ 10% และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(IFCT) มี NPL ประมาณ 11-12% เมื่อควบรวมกิจการเสร็จสิ้นแล้วตัวเลข NPL ก็จะอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากเดิมนัก และเป้าหมายการลด NPL ก็คงจะดำเนินการต่อไป"

นายสุภัคกล่าวต่อว่า การประมาณการกำไร ในปี 2547 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายทำกำไรสุทธิไว้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยประมาณ การนี้เป็นตัวเลขที่ธนาคารตั้งไว้เฉพาะในส่วนของธนาคารทหารไทย ยังไม่ได้รวมถึงประมาณ การผลกำไรของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หลังจากการควบรวมและปรับระบบต่างๆ แล้วเสร็จคงมีการปรับประมาณการนี้ใหม่

ส่วนเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร หลังจากที่มีการควบรวมนั้น ธนาคารจะเน้นการ ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เนื่องจากมีฐานลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งสินเชื่อSMEsยังถือเป็นจุดแข็งของทั้งธนาคารทหารไทยและIFCT ด้วย ส่วนสินเชื่อรายย่อยหรือธุรกิจRetail Banking นั้นจะยังไม่เร่งรุกตลาดมากนักในช่วงนี้ ต้องรอการปรับใช้เทคโนโลยีและวิธีการจากกลุ่มของดีบีเอสก่อน

"เหตุผลที่เลือกจับกลุ่มลูกค้าSMEs เป็นเพราะฐานของลูกค้ามีอยู่เป็นจำนวนมาก ตลาดยังมีส่วนแบ่งเหลืออยู่อีกมาก ธนาคาร และบรรษัทฯเองก็เข้าใจและรู้จักธุรกิจของลูกค้าดี และที่สำคัญคือธุรกิจSMEsนี้ถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ก็เป็น ที่หมายปองของแบงก์ใหญ่ๆ อยู่แล้วและบริษัทใหญ่ๆ ก็สามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ที่มีต้นทุนต่ำกว่ากู้แบงก์ได้"

นายสุภัคกล่าวว่า การที่ธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยาวขึ้นอีก 0.25% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากธนาคารต้อง การปรับฐานเงินฝากเพราะในระยะนี้เงินฝากระยะยาวของธนาคารที่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงใกล้จะครบกำหนดระยะเวลารับฝากแล้ว ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสัดส่วนเงินฝากระยะยาวเพื่อนำมาขยายฐานสินเชื่อ

ส่วนเงินฝากระยะสั้นของธนาคารนั้นขณะนี้มีสัดส่วนของเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 35-40% ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ทางด้านเงินฝากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่าน มาจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547 มีเม็ดเงินไหลเข้ามาแล้วจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นเงินฝากระยะยาวและเงินฝากออมทรัพย์ก็มีเพิ่มเข้ามาบ้าง

"อัตราการเติบโตของเงินฝากของธนาคารโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2-3% โดยในช่วง 4-5 เดือนหลังของปี 2546 มีปริมาณเงินเข้าสู่ระบบมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม 2546 ที่ผ่านมานั้นมีปริมาณเงินฝากเข้าสู่ระบบมากผิดปกติ เนื่องจากรัฐบาลได้อนุมัติให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำเงินบางส่วนออกมาใช้ได้ก่อน ซึ่งในส่วนของธนาคารทหารไทยจะมีเม็ดเงินของ ข้าราชการทหารเข้ามามากแต่ก็อยู่ในระยะสั้นเพราะมีการเบิกไปใช้กันมาก และส่วนของธนาคารกรุงไทยนั้นก็คาดว่าจะมีเข้ามามากเช่นกัน"

นายสุภัคกล่าวว่า แนวโน้มที่ธนาคารกลาง สหรัฐฯหรือ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จ สิ้นมีความเป็นไปได้สูง และเชื่อว่าในช่วงต้นปีหน้าระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม โดยที่ธนาคารทหารไทยก็ได้ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวไปแล้วล่วงหน้า

และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์เกิดความผันผวนก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของธนาคารทหารไทย เนื่องจากธนาคารได้ลงทุนในส่วนของหุ้นหรือตราสารประเภท ต่างๆน้อยมาก ความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นจึงแทบ ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อธนาคาร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.