ญี่ปุ่นฮุบนิสสันในไทยพรประภาขาย7.6พันล้าน


ผู้จัดการรายวัน(6 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ปิดฉากตำนานรถยนต์ "นิสสัน" ในมือกลุ่มสยามกลการของตระกูล "พรประภา" เมื่อนิสสันมอเตอร์ภายใต้การนำของ "คาร์ลอส กอส์น" ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ หลังทำพิธีเซ็นสัญญาซื้อหุ้นกว่า 7.6 พันล้านบาท กลายเป็นผู้หุ้นใหญ่ 75% หวังอาศัยศักยภาพตลาดไทย สานฝันแผนธุรกิจ 3 ปี NISSAN 180 เพิ่มยอดขายให้ได้ 1 ล้านคัน ในปี 2548 เผยเตรียมประกาศแผนธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า และพร้อมลงทุนเพิ่มนับหมื่นล้านบาท หากเห็นว่าลงทุนแล้วทำกำไรได้มากกว่า

ตำนานรถยนต์นิสสันในไทย ภายใต้กำมือ บริษัท สยามกลการ จำกัด ของตระกูล "พรประภา" ซึ่งมีมายาวนานกว่า 50 ปี หรือมากกว่าครึ่งศตวรรษ ในที่สุดก็มาถึงวันยุติบทบาทผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จลงอย่างเป็นทางการ หลังจากนิสสันมอเตอร์ได้ทำพิธีเซ็นสัญญาซื้อหุ้นใหญ่จากสยามกลการไปเมื่อวานนี้ (5 เม.ย.)

โดยนิสสันมอเตอร์จ่ายเงินทั้งสิ้น 7.64 พันล้านบาท (ประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในการเพิ่มสัดส่วนหุ้นอีก 50% จากเดิมที่มีอยู่เพียง 25% ในบริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ผู้ผลิตปิกอัพ และผู้จัดจำหน่ายรถยนต์นิสสัน และบริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด ผู้ประกอบรถยนต์นั่ง รวมแล้วกลายเป็นถือหุ้นใหญ่ 75% ขณะที่สยามกลการจะเหลือสัดส่วนหุ้นเพียง 25%

นายคาร์ลอส กอส์น ประธานและซีอีโอ บริษัท นิสสันมอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ไทยมีศักยภาพที่ดีมาก ดังจะเห็นได้จากปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตถึงกว่า 33% แต่นิสสันในไทยกลับไม่ได้รับประโยชน์จากสภาวะดังกล่าว ทั้งที่ในอดีตนิสสันมีส่วนแบ่งมากถึง 20% แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 8.2% ซึ่งตรงนี้นิสสันมอเตอร์ยอมรับไม่ได้

"ดังนั้นจึงเห็นว่านิสสันในไทย จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ และเพื่อช่วยรักษาการเติบโตที่มีผลกำไรภายใต้แผนธุรกิจ 3 ปี NISSAN 180 ทั่วโลก ทำให้นิสสันมอเตอร์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสำคัญมากในภูมิภาคนี้ และจะเป็นแรงผลักดันสำคัญ ทำให้นิสสันบรรลุยอดขายเพิ่มขึ้น 1 ล้านคัน ตามแผนธุรกิจที่วางไว้"

ทั้งนี้แผนธุรกิจ 3 ปี หรือ NISSAN 180 ซึ่งเริ่มดำเนินมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ 1. จะต้องเพิ่มยอดขายให้ได้ 1 ล้านคัน ในเดือนกันยายน 2548 2. มีผลกำไรต่อปีไม่ต่ำกว่า 8% และ 3. จะต้องสามารถลดหนี้สินทั้งหมดเหลือ 0%

โดยผลจากการดำเนินงานมา 2 ปี นิสสันประสบความสำเร็จแล้ว 2 ประการ คือ ขณะนี้มีผลกำไรมากถึง 11.3% จากเป้าหมายที่วางไว้ 8% พร้อมกับสามารถลดหนี้จากที่มีอยู่จำนวนมาก ลงมาเหลือเพียง 0% ดังนั้นจึงมีเพียงต้องทำยอดขายรถให้ได้ 1 ล้านคันเท่านั้นที่จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งประเทศไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้นิสสันบรรลุตามแผนที่วางไว้ได้

นายคาร์ลอสกล่าว่า นอกจากซื้อหุ้นกว่า 7 พันล้านบาทแล้ว ยังไม่มีการสรุปว่าจะมีการลงทุนเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่ ส่วนที่มีข่าวทางหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นรายงานว่า นิสสันจะลงทุนในไทยถึง 1 หมื่นล้านเยนนั้น ไม่ทราบว่านำข้อมูลมาจากไหน แต่นิสสันมีความพร้อมที่จะลงทุนได้เสมอ และอาจจะมากกว่านั้นก็ได้ หากการวิเคราะห์แผนธุรกิจแล้ว เห็นว่าการลงทุนจะทำให้นิสสันได้ประโยชน์กลับคืนมามากกว่า

สำหรับศักยภาพของไทย แน่นอนสามารถเป็นฐานการผลิตรถนิสสันภูมิภาคนี้ได้อยู่แล้ว และยังมีโอกาสที่จะเป็นฐานการผลิตของโลกด้วย แต่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ซัพพลายเชนจ์ และการทำให้มีผลประกอบการที่ดี หากสามารถทำได้อย่างนี้ ไทยก็จะก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างเต็มตัว

นอกจากนี้สิ่งที่จะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตโลกได้ นิสสันจะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย แต่นิสสันไม่ได้หวังที่จะได้สิทธิประโยชน์ หรือเงื่อนไขที่เหนือกว่ายี่ห้ออื่น เพียงแต่ขอให้ได้รับสิทธิเทียบเท่ากับคู่แข่งที่ได้รับไปก่อนหน้านี้ เพื่อที่เวลาแข่งขันในตลาดโลกจะสามารถสู้เขาได้ ไม่ใช่สู้เขาไม่ได้เพราะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้อยกว่าในฐานการผลิตเดียวกัน

นายคาร์ลอสกล่าวว่า สำหรับบทบาทของ นายพรเทพ พรประภา ในบริษัททั้งสองแห่ง ต่อไปนี้คงจะไม่มีความเกี่ยวพันโดยตรง เพราะต้องดูแลสยามกลการเป็นหลัก แต่จะสามารถส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการในนิสสันไทยได้ 2 คน แต่อำนาจการบริหารทั้งหมดจะเป็นของนิสสันมอเตอร์

"ส่วนแผนปฏิบัติการธุรกิจของนิสสันในไทย ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งนาย โคซากุ โฮโซกาวา เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด และประธาน บริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด สำหรับวางแผนธุรกิจนิสสันในไทย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการวางแผนปฏิบัติการ และจะประกาศในเดือนกรกฎาคมศกนี้"

อย่างไรก็ตาม นิสสันในไทยที่ผ่านมามีจุดอ่อนแทบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบริหาร ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอต่อตลาด ซัพพลายเออร์ หรือแม้แต่ตัวแทนจำหน่าย ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ที่เปราะบางกับตลาด แต่สิ่งสำคัญที่นิสสันจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขเร่งด่วน คือ เรื่องของผลิตภัณฑ์ ที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุด ดังนั้นต่อไปนี้นิสสันมอเตอร์มีนโยบายชัดเจน ในการเปิดทุกผลิตภัณฑ์ที่จะสนองตอบความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.