MFCเล็งดึงเงินอาหรับลงทุนในไทย


ผู้จัดการรายวัน(5 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.เอ็ม เอฟซีเล็งดึงเงินเศรษฐีอาหรับจากตะวันออกกลาง เข้ามาลงทุน ในประเทศไทย เปิดแผนเตรียม คลอดกองทุนใหม่อีกเพียบ รวมกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยจับมือนิกโก้ แอสเซท แมเนจเม้นท์ และเวลลิงตัน พันธมิตรทางธุรกิจ

ดร.พิชิต อัตราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)(MFC)เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปีนี้ว่า ปัจจุบันบริษัทกองทุนประเภทคันทรีฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนที่ดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจำนวน 7 กองทุนซึ่ง เป็นกองทุนจากยุโรป 2 กองทุน,ญี่ปุ่น 2 กองทุน, ฮ่องกง 2 กองทุนและสหรัฐฯ 1 กองทุน ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มกองทุนคันทรีฟันด์อีก โดยจะขยายฐานนักลงทุนไปยังประเทศ ในแถบตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเงินลงทุนจำนวนมากแต่มีข้อจำกัดในการลงทุน ซึ่งนักลงทุนจากตะวันออกกลางสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะมองว่าเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก

"กองทุนคันทรีฟันด์ที่มีมูลค่าประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทนั้น ในช่วงที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุน ในตลาดหุ้นแล้วประมาณ 90% ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ" ดร.พิชิตกล่าว

นอกจากนี้ บลจ.เอ็มเอฟซี ก็มีแผนที่จะออก กองทุนที่เสนอขายแก่นักลงทุนในประเทศอีกหลายๆ กองทุน เช่นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้จะออกกองทุนเอ็มเอฟซี SET index 50 ซึ่งจะเป็นกองทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นที่อ้างกับตลาด หลักทรัพย์ โดยผลตอบแทนจะเป็นไปตามทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ และขั้นต่อไปจะพัฒนาออกกองทุนเอ็มเอฟซี SET index พลัส ซึ่งจะเป็นกองทุนที่บริหารความเสี่ยงให้น้อยลง

ดร.พิชิตกล่าวว่าภายในต้นเดือนพฤษภาคม บริษัทก็จะออกกองทุนเอ็มเอฟซี Government Bond Fund ซึ่งได้ร่วมกับบริษัทนิกโก้ แอสเซท แมเนจเม้นท์ ของประเทศญี่ปุ่น เป็นกองทุนที่มี นโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตร รัฐวิสาหกิจของทั่วโลก และจะมีมูลค่าโครงการประมาณ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติ จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กองทุนเอ็มเอฟซี Government Bond Fund จะมุ่งเน้นขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและตั้งเป้าว่าจะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำอยู่ในระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบวก 2.25% ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปได้ทั่วโลก และหุ้นที่ไปลงทุนนั้นจะเป็นหุ้นกู้ชั้นดี

ภายในเดือนพฤษภาคมบริษัทก็ยังจะออกกองทุนที่มีลักษณะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยในทุกเดือน ซึ่งคิดเป็นการให้ผลตอบแทน ในอัตราไม่ต่ำกว่า 3% ในทุกปี แต่จะเป็นกองทุนปิดซึ่งมีอายุโครงการประมาณ 3 ปี และมีนโยบาย ลงทุนในตราสารหนี้ชั้นดี สาเหตุที่จะออกกองทุน ในลักษณะดังกล่าวเพราะพิจารณาเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนที่ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์และหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยจะไม่ได้มากนัก ดังนั้นกอง ทุนที่จะออกใหม่นี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุน ได้อีกด้าน ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะมีขนาด ไม่ใหญ่ มากนักประมาณ 1,000 ล้านบาทและจะเปิดขาย เพียงครั้งเดียว

กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัด การกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)กล่าวต่อว่า บริษัทจะเปิดขายกองทุนเอ็มเอฟซี โกลเบิ้ล อิควิตี้ฟันด์ รอบ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เปิดขายรอบแรกไปแล้ว 800 ล้านบาท และให้ผลตอบ แทนในปีก่อนประมาณ 10% ซึ่งในครั้งใหม่นี้จะเปิดขายจำนวน 900 ล้านบาท กองทุนดังกล่าวเป็น กองทุนที่ร่วมกับเวลลิงตัน แอสเซท ซึ่งเป็นพันธมิตรจากต่างประเทศ นโยบายกองทุนจะลง ทุนในหุ้นทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และคาดว่าผลตอบแทนในปีนี้น่าจะมากกว่าปีก่อน เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ลักษณะการลงทุนของกองทุนนี้จะเป็นไปตามดัชนีของเอ็มเอสซีไอ ซึ่งนักลงทุนสถาบันใช้เป็นบรรทัด-ฐานในการลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะออกกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ซึ่งจะเป็นกองทุนที่มีหลักการคือให้ผลตอบแทนสูง ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งจะเป็นกองทุนที่เหมาะ สำหรับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้

ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐบาลนั้น บลจ.เอ็มเอฟซี มีข้อได้เปรียบเนื่องจากมีผู้ถือหุ้น เป็นหน่วยงานของรัฐบาล ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีความสัมพันธ์ที่ดี และบลจ.เอ็มเอฟซีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งบริษัทก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะลงทุนในอีก 4-5 ปีข้างหน้า บลจ.เอ็มเอฟซีก็พร้อมที่จะเป็นผู้ออกกองทุนเพื่อระดมเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการดังกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.