TEMดึงผู้ร่วมทุนทวงส่วนแบ่งตลาดเร่งทำผลงานดีหวังกลับเทรดในตลท.


ผู้จัดการรายวัน(5 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

TEM แจ้งการทำแผนฟื้นฟูได้ 5 ขั้นตอนเหลือ เพียงการยกหนี้ที่เหลือบางส่วนและการนำหน่วยธุรกิจดำเนินงานเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง แจงเตรียมชิงส่วนแบ่งตลาด25% ของตลาดเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียวกลับคืนมาให้เร็วที่สุด ขณะที่เร่งหาผู้ร่วมทุนเข้ามา ขณะนี้ติดต่อผู้ร่วมลงทุนได้แล้ว อยู่ในขั้นตอนการร่วมวางแผนดำเนินงาน มั่นใจแหล่งเงินทุนที่จะได้รับจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่นี้ จะสามารถช่วยให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และเพียงพอต่อการดำเนินโครงการ ต่างๆ ในอนาคต

บริษัท ไทยเอนจิน เมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด(มหาชน) (TEM) รายงานความคืบหน้าของการฟื้นฟูกิจการว่า ส่วนที่ดำเนินการเสร็จ แล้วทั้ง 5 ขั้นตอน คือ ขั้นตอน 1.การปรับปรุงโครงสร้างของภาระหนี้สิน 2. การโอนสินทรัพย์และหนี้สินบางส่วนไปนิติบุคคล เฉพาะกิจ 3.การโอนหลักทรัพย์ค้ำประกันให้แก่เจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน 4.การลดทุน และ 5.การเพิ่มทุนและการแปลงหนี้เป็นทุน

ส่วนที่ยังไม่เสร็จ ได้แก่ขั้นตอนที่ 6. การยกหนี้ที่เหลือบางส่วน และ 7.การนำหน่วยธุรกิจดำเนินงานเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่บริษัท เชอร์ชิลล์ ไพรซ์ แพลนเนอร์ จำกัด ได้เข้ามาบริหารกิจการของบริษัทฯ ผู้บริหารแผนเดิมได้ดำเนินการเฉพาะขั้นตอนในการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ให้สะดวกในการจัดการตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการเท่านั้น

ดังนั้น ผู้บริหารแผนร่วม จึงได้จัดแนวทางและแผนการดำเนิน งานเพื่อให้ฐานะการเงินของบริษัทฯดีขึ้น และสร้างความแข็งแกร่ง ให้บริษัทฯ อยู่รอด สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในธุรกิจได้ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ทั้งหลาย

สำหรับแนวทางและแผนการดำเนินงานของผู้บริหารแผนร่วม มีดังนี้ 1. บริษัทฯ มีเป้าหมายต้องการส่วนแบ่งทางการตลาดของ บริษัทฯ ที่เคยมีประมาณ 25% ของตลาดเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียว กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด โดยผู้บริหารบริษัทฯ ได้ติดต่อกับบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี จำกัด (MHI) เพื่อให้ได้มาในสิทธิของการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลแบบสูบเดียว ภายใต้เครื่องหมายการ ค้ายี่ห้อ "มิตซูบิชิ" ผู้บริหารบริษัทฯ ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางญี่ปุ่นอยู่ ทาง MHI ยินดีเจรจากับผู้บริหารแผนร่วม เพียงแต่ขอเลื่อนการเจรจาไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากทาง MHI อยู่ระหว่างกับปรับองค์กรภายในบริษัท

2. แผนงานทางด้านการเงิน ผู้บริหารแผนร่วม ตระหนักดีว่า เม็ดเงินที่จะนำเข้ามาเพื่อใช้ในแผนดำเนินงานต่างๆ มีความสำคัญ เป็นอย่างมาก จึงพยายามที่จะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุน ซึ่งขณะนี้ บริษัทฯ สามารถติดต่อผู้ร่วมลงทุนได้แล้ว อยู่ในขั้นตอนการร่วมวางแผนดำเนินงาน ซึ่งบริษัทฯ จะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบต่อไปผู้บริหารแผนร่วมเชื่อมั่นว่า แหล่งเงินทุนที่จะได้รับจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่นี้ จะสามารถช่วยให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และเพียงพอต่อการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในอนาคต

3. แผนงานทางด้านการตลาด ผู้บริหารแผนร่วมเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับลูกค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายที่มีระบบเครือข่ายทั่วประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.) หรือผู้แทนในประเทศ ให้ทราบถึงความพร้อมในการกลับเข้ามาดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อให้มั่นใจในตัวสินค้าเครื่องยนต์ดีเซลและการบริการหลังการขายที่พร้อมสนับสนุนทางด้านอะไหล่ชิ้นส่วนและการบริการซ่อมเครื่องยนต์

โดยปี 2546 บริษัทฯ สามารถจัดจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลได้ทั้งหมด 3,590 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ที่จำหน่ายได้เพียง 1,903 เครื่อง ถึงร้อยละ 88.65 ซึ่งภายหลังจากบริษัทฯได้เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวแทนบริษัท เชอร์ชิลล์ไพรซ์ฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2546 เป็นต้นมา และศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารแผนร่วมในเดือน ตุลาคม 2546 นั้น ในไตรมาสที่ 3 และ 4 บริษัทฯ สามารถจำหน่าย เครื่องยนต์ดีเซลได้รวมกันถึง 2,570 เครื่อง เพิ่มมากกว่าครึ่งปีแรกซึ่งจำหน่ายได้เพียง 1,020 เครื่อง ถึงร้อยละ 151.96

4. แผนงานทางด้านการผลิต บริษัทฯ เร่งดำเนินการซ่อมแซม เครื่องจักรต่าง ๆ ที่หยุดชะงักการผลิตในช่วงการดำเนินงานของผู้บริหารแผนเดิม ให้กลับมามีสภาพพร้อมในการผลิตเหมือนเดิม และซื้อเครื่องจักรที่ขายไปกลับคืนมา ตลอดจนปรับปรุงสายการประกอบเครื่องยนต์ดีเซลใหม่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ทำความเข้า ใจกับ Suppliers ต่างๆ ของบริษัทฯ ให้ยอมรับความสามารถในการ ชำระค่าวัตถุดิบให้กับ Suppliers ได้อย่างตรงต่อเวลา และขอขยายเครดิตในการชำระค่าสินค้าที่สั่งซื้อ

5. แผนงานทางด้านการปฏิบัติงานในองค์กร บริษัทฯ จัดรูปแบบองค์กรให้มีการตัดสินใจที่รวดเร็วเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน และสร้างขวัญกำลังใจของพนักงานกลับคืนมา ให้มีความเชื่อมั่นในศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

6. แผนงานด้านการปรับโครงสร้างหนี้ ผู้บริหารแผนร่วมได้จัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2546 เพื่อนำเสนอ ถึงแผนการชำระคืนหนี้และขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ตามข้อเสนอ ของผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ซึ่งจะได้นัดหมายให้เจ้าหนี้มีมติรับรองการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการใหม่ต่อไป

ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2546 บริษัทฯ มีราย ได้จากการขายสุทธิ 85.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ซึ่งมีรายได้จากการขาย 52.90 ล้านบาท ถึงร้อยละ 62.45 มี Margin จากการดำเนินงาน 9.25 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.76 เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ซึ่งมี Margin -1.897 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง ซึ่งเป็นผลจากผู้บริหารแผนร่วมใหม่สามารถปรับปรุงการบริหารงานให้บริษัทฯ ดำเนินการได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.