ลดทุน"ทีพีไอ" เหลือหุ้นละ1บ. "ประชัย"สู้ตาย


ผู้จัดการรายวัน(2 เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

คณะผู้บริหารแผนฯ เห็นชอบให้ TPI ลดทุนจดทะเบียนจากหุ้นละ 10 บาทเหลือเพียง 1 บาท เพื่อนำไปลดผลขาดทุนสะสมของบริษัท แจงแนวทางปรับหนี้กว่า 2 แสนล้านบาท โดยปลอดดอกเบี้ยค้างจ่าย 9 พันล้านบาท "ประชัย" ออกโรงท้วง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำอย่างพลการ ย้ำชัดหากรัฐไฟเขียวถือเป็นการปล้นประชาชนและตนในฐานะ ผู้บริหารของลูกหนี้ค้านเต็มที่ เตรียมยื่นขอความเป็นธรรมถึงศาลฎีกา

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ถือหุ้นเดิมในฐานะลูกหนี้ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัล ไทย หรือ TPI ที่มี พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธาน จะเสนอแผนปรับโครงสร้างทางการเงินของ TPI โดยการลดทุนของบริษัทถือเป็นการปล้นประชาชนที่เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยครั้งที่สอง เพราะในครั้งแรกคณะกรรมการเจ้าหนี้ TPI ได้ส่งบริษัท เอ็ฟเฟคทีฟ แพลนเนอร์ส (อีพีแอล) เข้ามาแปลงดอกเบี้ยค้างชำระไปแล้วในราคาที่ไม่เป็นธรรม 5.50 บาทต่อหุ้น ทั้งๆ ที่มูลค่าของ TPI ราคา 20 บาทต่อหุ้น

"การเสนอลดทุน TPI ในครั้งนี้ของคณะผู้บริหารแผนฯ ถือว่าเป็นการปล้น TPI รอบที่ 2 ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และไม่คิดว่าจะเป็นดำริของนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำ ของรัฐบาลชุดนี้จริง ถือว่าเป็นการปล้นประชาชนผู้ถือหุ้นรายย่อย"

นายประชัยกล่าวว่า การเสนอแผนลดทุนของ TPI ไม่ใช่เรื่องทำได้โดยพลการ ตนในฐานะผู้บริหาร ของลูกหนี้ จะไม่ยอมอย่างเด็ดขาด โดยจะยื่นคำร้องคัดค้านแผนการลดทุนไปที่ประชุมเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลาง กับทั้งจะต้องต่อสู้กันยืดเยื้อถึงขั้นศาลฎีกาอย่างแน่นอน


ลดทุนจาก 10 บาทเหลือ 1 บาท

นายสุวิช นิวาตวงศ์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงการสรุป แนวทางการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการTPI ว่า แนวทางการแก้ไข แผนฟื้นฟูกิจการมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้นั้น ได้แบ่งเป็น ภาระหนี้เงินกู้ยืมประมาณ 108,800 ล้านบาท (2,720 ล้านเหรียญสหรัฐ) จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ คือ ภาระหนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท (500 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภาย ใน 5 ปี โดยมีดอกเบี้ยในอัตรา MLR-1% สำหรับหนี้สกุลบาท และ LIBOR+1% สำหรับหนี้สกุลเหรียญสหรัฐ และสกุลเยน ส่วนหนี้สกุลยูโร จะจ่ายที่ EURIBOR+1%

โดยภาระหนี้ประมาณ 34,000 ล้านบาท (850 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผ่อนชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย ภายใน 10 ปี เริ่มชำระคืนเงินต้นงวดแรกหลังจากชำระหนี้ 20,000 ล้านบาทข้างต้นเสร็จสิ้นแล้ว กำหนดจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา MLR สำหรับหนี้สกุลบาท, LIBOR+2% สำหรับหนี้สกุลเหรียญสหรัฐ และหนี้ เงินเยน และ EURIBOR+2% สำหรับหนี้สกุลยูโร

ส่วนภาระหนี้ประมาณ 6,000 ล้านบาท (150 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวนเมื่อสิ้นปีที่ 10 โดยมีดอกเบี้ยในปีที่ 1 = 1%, ปีที่ 2 = 2%, ปีที่ 3 = 3% และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป = 4% สำหรับภาระหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาท (300 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชำระคืนทั้งเงินต้นทั้งจำนวนเมื่อสิ้นปีที่ 12 โดยมีดอกเบี้ยในปีที่ 1 = 1%, ปีที่ 2 = 2%, ปีที่ 3 = 3% และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป = 4%

ภาระหนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท (250 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชำระด้วยหุ้นทีพีไอโพลีน โดยวิธีการขายหุ้นและนำเงินมาชำระหนี้ หรือนำหุ้นโอนตีใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ส่วนภาระหนี้ประมาณ 26,800 ล้านบาท (670 ล้านเหรียญสหรัฐ) จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน (รายละเอียดอยู่ในส่วนของการปรับโครงสร้างทุน) และภาระหนี้ดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ 9,000 ล้านบาท (225 ล้านเหรียญสหรัฐ) จะดำเนินการปลดหนี้ (write off) ดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด

แนวทางการปรับโครงสร้างทุนนั้น TPI ลดทุน จดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วลงในอัตราร้อยละ 90 โดยการลดทุนจดทะเบียนที่ตราไว้จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท ทุนจดทะเบียนที่ลดลงดังกล่าวจะนำไปลดผลขาดทุนสะสมของ TPI ซึ่งภายหลังจาก การลดทุนจดทะเบียน จะมีผลทำให้ทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วเดิมประมาณ 78,489.11 ล้านบาท ลดลงเหลือ 7,848.91 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนหุ้นจะยังคงมีจำนวนเท่าเดิม คือประมาณ 7,848.91 ล้านหุ้น

ทั้งนี้ TPI จะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยออกเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เป็นทุนประมาณ 26,800 ล้านบาท (670 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยราคาหุ้นที่ใช้ในการแปลงหนี้เป็นทุน จะมีราคาไม่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินไตรมาสล่าสุด ซึ่งภายหลังจาก การแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว จะมีผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของเจ้าหนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 90 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และผู้ถือหุ้นเดิมของ TPI จะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือร้อยละ 10 ของจำนวน หุ้นทั้งหมด พร้อมกับให้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนไว้เพื่อรองรับการออกหลักทรัพย์ให้แก่พนักงานในประมาณร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียน

โดยให้ที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาความเป็นไปได้ในการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ที่จะซื้อหุ้นสามัญของ TPI ให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มเติมและจะมีการดำเนินการเชิญชวนให้ผู้มีความ เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปิโตรเลียม หรือการลงทุน ที่เป็นนิติบุคคลไทยซื้อหุ้นจากเจ้าหนี้ (ทั้งหมดหรือบางส่วน) เพื่อสร้างความมั่นคงในการบริหารกิจการบริษัท

ผลของการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างทุนดังกล่าว จะทำให้ภาระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ 117,800 ล้านบาท (2,945 ล้านเหรียญสหรัฐ) คงเหลือเป็นภาระหนี้ภายหลังการปรับโครงสร้างประมาณ 72,000 ล้านบาท (1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผลขาดทุนสะสมของ TPI จะหมดไป และเมื่อบริษัทมีผลกำไร ก็จะสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ต่อไป และหนี้ทั้งหมดของ TPI ที่ได้รับการตัดทอนให้ลดลงจาก ที่กู้ยืมมาเมื่อในอดีตนั้น ได้มีการแจงรายละเอียดทั้งหมดจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ในส่วน ของการค้ำประกันเงินกู้ที่ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ออกตัวค้ำประกันเงินกู้จำนวนมหาศาลให้กับบริษัทนั้นกลับไม่มีการพูดถึง

วานนี้ (1 เม.ย.) ราคาหุ้นของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BBL) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของ TPI ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดังกล่าวทันที ราคาหุ้น TPIPL ปิดตลาด ที่ 34.50 บาท ปิดเพิ่มขึ้น 3.75 บาท คิดเป็น 12.20% มูลค่าการซื้อขาย 1,087.47 ล้านบาท และ BBL ปิดตลาดที่ 96 บาท ปิดเพิ่มขึ้นที่ 4.50 บาท คิดเป็น 4.92% มูลค่าการซื้อขาย 929.04 ล้านบาท ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ได้ขึ้นเครื่องหมาย H (Halt) หุ้นTPI และจะอนุญาตให้ซื้อหรือขายวันนี้ (2 เม.ย.)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.