บีเอ็มซีแอลเผยผู้ถือหุ้นไม่ขัดขายคืนสัมปทานรถใต้ดินให้รัฐ อ้อนขอความเป็นธรรม
ชี้ถกราคาขายเป็นเรื่องใหญ่ ด้านผู้ว่าฯรฟม.เผย 300 บ.ต่อหุ้นสุดแพง "สมบัติ"
ยันแผนเข้าตลาดฯไตรมาส 3 ระบุต้องการเงินอีก 5,000 ล้านบาทนำมาซื้อรถเพิ่ม และลด
กำหนด 13-18 เม.ย.เปิดอุโมงค์ให้ประชาชนสัมผัสรถใต้ดินสายแรก เตรียมแจกบัตร 300,000
ใบ ปัดข้อเสนอบริษัทมือถือและห้างฯ ขอแจม ใช้วิธีส่งจดหมายขอโดยตรง อ้างไม่ต้องการให้เป็นธุรกิจ
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(บีเอ็มซีแอล)
เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นของบีเอ็มซีแอลพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐเรื่องการขายสัมปทานคืน
เพราะเห็นว่านโยบายของรัฐจะต้องเป็นประโยชน์กับประชาชนแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันรัฐควรให้ความเป็นธรรมกับเอกชนด้วย
ซึ่งที่ผ่านมา บีเอ็มซีแอล ได้ทำตามระเบียบกติกาของภาครัฐมาตลอด ส่วนเรื่องราคาคงตอบไม่ได้ว่าจะขายกันที่เท่าไร
ต้องให้ทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันก่อน แต่ยอมรับว่า เรื่องราคาและบุคลากรเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ต้องเจรจากันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
หาเม็ดเงิน 5,000 ล้านบ.ซื้อรถ-ลดหนี้
นายสมบัติกล่าวถึงการกระจายหุ้นในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามแผนบีเอ็มซีแอลต้องการเพิ่มทุนจาก
7,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท โดยได้เลื่อนการกระจายให้ประชาชนทั่วไปจากปลายไตรมาสที่
2 ของปี 47 เป็นไตรมาสที่ 3 แทน เนื่องจากปัจจัยยังไม่เอื้อ เช่น ภาวะตลาดมีความผันผวน
ความไม่ชัดเจนและยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องรัฐจะซื้อสัมปทานคืน ซึ่งหากการซื้อคืนยุติก่อนกำหนดเข้าตลาดบีเอ็มซีแอล
ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าตลาดฯอีกต่อไป เพราะหน้าที่จะเป็นของรัฐแทน แต่หากซื้อคืนบางส่วน
ก็จะเข้าตลาดฯเช่นเดิม และปัจจัยที่นักลงทุนอาจจะยังไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับความพร้อมของระบบ
ซึ่งเรื่องนี้การเปิดให้ประชาชน ร่วมทดลองนั่งจะสร้างความมั่นใจได้
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนครั้งนี้นั้น บีเอ็มซีแอล จะนำเงินดังกล่าวมาลดหนี้จำนวนกว่า
12,000 ล้านบาท และนำมาซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3-5 ขบวนจากเดิมที่มีรถไฟฟ้า 19
ขบวน ก็จะเป็น 22 ขบวน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท
นายสมบัติกล่าวว่า บริษัทเงินทุนฟินันซ่าและบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ที่ปรึกษาในการขายหุ้น
อยู่ระหว่างการวิเคราะห์เรื่องราคาหุ้นที่จะขายและกำหนดที่เหมาะสม ส่วนการเข้าตลาดก่อนที่จะเปิดบริการหรือหลังนั้น
มีข้อดีข้อเสียต่างกัน หากเข้าตลาดก่อนเปิดก็อาจจะทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจได้เพราะยังไม่มีรายได้
แต่เข้าหลังก็อาจจะมีปัญหาเรื่อง ภาวะตลาดที่ไม่เหมาะก็ได้ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ซึ่งเมื่อกุมภาพันธ์บีเอ็มซีแอลได้ปรับลดราคาพาร์ลงจาก 100 บาทต่อหุ้นเหลือ 1 บาทต่อหุ้น
และจดทะเบียนเป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว
บริษัทมั่นใจว่าหากเปิดให้บริการจะได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วไปอย่างดี โดยคาดว่าจะเปิด
ได้เร็วกว่ากำหนดเดือนสิงหาคมเป็นเดือนกรกฎาคม และจะมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 250,000
เที่ยว/วัน และจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 5-7% ในปี 2548 โดยค่าโดยสารในปีแรก (2547)
จะอยู่ที่ 12-31 บาท/คน/เที่ยว ให้ส่วนลด 15% จากปกติที่ 14-36 บาท/คน/เที่ยว
รฟม.ชี้ราคาขายต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า
เรื่องที่ บริษัท ช.การช่างเสนอราคาขายสัมปทานรถไฟใต้ดินที่ 300 บาทต่อหุ้นนั้นไม่ทราบและเห็นว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป
ซึ่งราคาที่เหมาะสมมีหลักในการคิดและสามารถตรวจสอบได้จากเงินลงทุน แบ่งเป็นเงินกู้
11,000 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 6,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ
ซึ่งเมื่อมีการซื้อคืนก็จะต้องคำนวณถึงกำไรให้กับบริษัทด้วย เพื่อความเป็นธรรม
การคิดต้นทุนการในการซื้อคืนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาอยู่ที่บริษัทจะคิดบวกกำไรในสัดส่วนเท่าใด
โดยเฉพาะช่วงอายุสัมปทาน 25 ปีเพราะขณะนี้โครงการยังไม่ได้เปิดให้บริการ ตัวเลขผู้โดยสารเป็น
แต่เพียงการประมาณการ แต่หากเปิดให้บริการจริงมีตัวเลขผู้ใช้บริการมากขึ้นการกำหนดข้อเสนอก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
แต่เมื่อยังไม่เปิดให้บริการก็ถือว่ารัฐมีความเสี่ยงอยู่บ้าง
ประมูลบางซื่อ-บางใหญ่ปลาย 47
ส่วนการต่อขยายโครงการนั้น นายประภัสร์ กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการภายใน
1 - 2 เดือนจะสามารถว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาจัดทำแผน รายละเอียดโดยปรับจากแผนการก่อสร้างเดิม
ซึ่งที่ปรึกษาจะทำแผนก่อสร้างที่เรียกว่า Definitive Design เสนอ รฟม. ภายใน 4
เดือน และคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลก่อสร้างได้ภายในปี 2547 โดยช่วงบางซื่อ-บางใหญ่จะเริ่มลงนามก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี
2548 ช่วงหัวลำโพง-บางแค เริ่มลงนามก่อสร้างได้กลางปี 2548 และช่วง บางกะปิ-ราษฎร์บูรณะ
เริ่มทำสัญญาก่อสร้างได้ภายในปลายปี 2548 โดยการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายใน 6 ปี
ส่งจดหมายขอบัตรฟรีทดลองนั่ง 13-18 เม.ย.
โดยวานนี้ (29 มี.ค.) รฟม.พร้อมด้วยบีเอ็มซีแอลได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงความพร้อมในการเปิดให้
ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย โดยจะเริ่มในวันที่
13-18 เม.ย. 47 ซึ่งกำหนดไว้ประมาณ 300,000 คนโดยนายสมบัติ กล่าวว่า ประชาชนที่สนใจร่วมทดลองนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินสามารถขอรับบัตรฟรีได้โดยการส่งจดหมายและจ่าหน้าซองถึงตัวเองพร้อมติดสแตมป์มาที่บริษัท
รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ตู้ ป.ณ.434 ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10310 ภายในวันที่ 10 เม.ย.
นี้ หรือสอบถามได้ที่ 0-2354 2000 เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย และกติกาไม่ยุ่งยาก
เป็นธรรม ที่สำคัญมิได้มุ่งแสวงผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีห้างสรรพสินค้าและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อขอเข้าร่วมในโครงการก็ตาม
นายสมโพธิ ศรีภูมิ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บีเอ็มซีแอล กล่าวว่า ได้แบ่งการให้ประชาชนร่วมทดลองนั่งรถใต้ดินเป็น
3 กิจกรรม ได้แก่ 1. ในระหว่างวันที่ 6-9 เม.ย.2547 ระหว่างเวลา 09.00 - 18.00
น. จะเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าเยี่ยมชมสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 18 สถานี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปลงไปเยี่ยมชมและเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ
ใช้ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินได้อย่างปลอดภัย 2.ระหว่างวันที่ 1-9 พ.ค. 2547 จะเปิดโอกาสให้หน่วยราชการ
องค์กรเอกชนที่แสดงความจำนงเป็นคณะเข้าเยี่ยมชมโครงการ ณ บริษัทฯ
3. สาธิตการเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน แบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรก ระหว่างวันที่ 13-18
เม.ย.2547 และในวันที่ 15, 29 และ 30 พ.ค.2547 ในระหว่างเวลา 10.00 -14.00 น. ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่ได้รับบัตรทดลองโดยสารขึ้นรถไฟฟ้าตามกำหนดสถานีและวันเวลาที่ระบุไว้ในบัตร
ช่วงที่ 2 ในวันที่ 10,14, 17, 19, 21, 24, 25, 27, 28 และ 31 พ.ค. จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทดลองโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินในการเดินทางมาทำงานและกลับบ้านในช่วงเวลาเร่งด่วน
เช้า เวลา 06.00-08.30 น. กลางวัน 11.30-13.00 น. และเย็น 16.30-19.00 น. ซึ่งจะแจกบัตรให้แก่ประชาชน
ที่มีที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานในเส้นทางที่รถไฟฟ้าใต้ดินผ่าน การกำหนดเป็นช่วงเวลาในการทดลอง
การเดินรถนั้น เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อแผนการเร่งรัดการดำเนินโครงการ