ช.การช่างตั้งราคารถใต้ดินเสนอขาย300บาทต่อหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(29 มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ช.การช่างพร้อมขายหุ้นรถไฟใต้ดินคืนรัฐ แต่ตั้งเงื่อนไขโขกราคาที่ 300 บาทต่อหุ้น ยันสิทธิ์ขายราคาพาร์ในส่วนหุ้น 25% หมดลงแล้วเลยสัญญาระบุไว้ 12 เดือน ขณะที่รฟม.ย้ำต้องได้ราคาพาร์แน่นอน ส่วน 75% ขึ้นอยู่กับการตกลง วันนี้เปิดแถลงข่าวความพร้อมให้ประชาชนทดสอบรถไฟ 13 เม.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2547 นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) ได้เข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อให้คำตอบกรณีที่รัฐบาลต้องการซื้อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือบีเอ็มซีแอล ที่บริษัทช.การช่างเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น ผู้ดำเนินการ โดยการหารือใช้เวลาประมาณ 15 นาที ทางประธานช.การช่างจึงเดินทางกลับโดยไม่มีการให้สัมภาษณ์ใดๆ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทช.การช่าง ได้ทำหนังสือตอบกลับมายังนายสุริยะว่า บริษัทยินดีและพร้อมที่จะขายสัมปทานโครงการรถไฟใต้ดินคืนแก่ภาครัฐตามนโยบาย แต่ทั้งนี้การยินยอมขายดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีสัญญาสัมปทานระบุว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีสิทธิซื้อหุ้นบีเอ็มซีแอล ในสัดส่วน 25% ในราคาพาร์เนื่องจากสิทธิดังกล่าวได้หมดไปแล้วเพราะเลยสัญญาระบุว่ารฟม.จะต้องดำเนินการภายใน 12 เดือนนับจากลงนามสัญญา

ดังนั้น การขายสัมปทานให้กับรัฐครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการขายโดยบริษัทเป็นผู้พิจารณาเองไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิสัญญาที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดยช.การช่างได้ตั้งราคาขายไว้ที่ 300 บาทต่อหุ้นจากราคาเดิม 100 บาท โดยราคาดังกล่าวที่ปรึกษาการเงินได้วิเคราะห์แล้วว่าเป็นราคาที่เหมาะสมมากที่สุดกับการลงทุนและการดำเนินโครงการที่ค่อนข้าง ยากและมีอุปสรรคในอดีต รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่บ.ควรได้รับจากเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารโครง การรถไฟใต้ดิน โดยรัฐจะต้องตกลงซื้อขายให้เสร็จสิ้นก่อนที่บริษัทบีเอ็มซีแอล จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

"บ.ช.การช่างระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความ ชัดเจนในการซื้อได้แต่ออกไปให้ข่าวทำให้บริษัทไม่มีรายละเอียดพอในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นต้องรอให้มีการตกลงที่ชัดเจนก่อนที่จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นได้" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบรายละเอียดในข้อสัญญาพบว่ามีข้อความแนบท้ายระบุว่ารัฐจะต้องซื้นหุ้นคืนภายใน 12 เดือน นับจากลงนามในสัญญา ในปัจจุบันถือว่าได้ล่วงเลยกำหนดไปแล้ว หากรัฐจะซื้อคืนทางบีเอ็มซีแอล ก็พร้อมที่จะเจรจาในราคาที่เป็นจริง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับราคาตลาดและแนวโน้มของธุรกิจในอนาคต ซึ่งบีเอ็มซีแอลมีแผน ที่จะนำบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2547

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรฟม. กล่าวยืนยันว่า รัฐยังมีสิทธิซื้อหุ้นสัดส่วน 25% จากราคาพาร์จากบีเอ็มซีแอล ได้อย่างแน่นอนเพราะรฟม.ได้ทำหนังสือสงวนสิทธิดังกล่าวไปยังบีเอ็มซีแอลภายในเวลา 12 เดือนหลังลงนามในสัญญาตามเงื่อนไขและในสัญญายังระบุว่าให้ชำระค่าหุ้น 25% ดังกล่าวในช่วงที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ สว่นที่บริษัทเห็นว่าบ.รฟม.ไม่มีสิทธิดังกล่าวแล้วก็เป็นเรื่องของความเห็นที่ไม่ตรงกันคงจะต้องมาเจรจาเพื่อหาข้อยุติอีกครั้งหนึ่ง

"รฟม.ได้หารืออัยการและได้รับความเห็นชอบ กรณีทำหนังสือสงวนสิทธิซื้อหุ้น 25% ในราคาพาร์ ดังนั้นหากบริษัทยอมขายสัมปทานให้รัฐก็เท่ากับว่ารัฐจะซื้อได้ในราคาพาร์ 25% ส่วน 75% ก็ขึ้นอยู่กับการตกลง" นายประภัสร์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าวันนี้ (29 มี.ค.) รฟม.จะแถลงข่าวความพร้อมในการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในวันที่ 13 เมษายน เวลาประมาณ 13.00 น. ที่อาคารรฟม.พระราม 9 ส่วนเหตุผลของการซื้อสัมปทานคืนของภาครัฐโดยนายสุริยะนั้น เนื่องจากนโยบายในอดีตต้องการให้เอกชน เข้ามาร่วมลงทุนดำเนินโครงการ แต่ในรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจราจรและมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มอีก 3-4 แสนล้านบาทเพื่อขยายโครงข่ายของระบบขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งการที่จะดำเนินโครงการให้บรรลุผลได้จำเป็นจะต้องให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบในการบริหารโครงการทั้งระบบ เพื่อให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารและแนวทางการต่อขยายเส้นทางที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.