ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มชูกำลัง ดาหน้าสร้างความคึกคักตลาดหุ้นไทย
ล่าสุดเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ปรับแผนหุ้นกลุ่มช้างโดยการนำเข้าตลาดฯทั้งเหล้า
และเบียร์ รวม 47 บริษัท สร้างมูลค่าตลาด (มาร์เกตแคป) ในตลาดหุ้นไทยกว่า 100,000
ล้านบาท ขึ้น 1 ใน 5 อันดับแรก ขณะที่ คาราบาวแดง เข้าตลาดหุ้นภายในไตรมาส 2 หลังเห็นแววชิงส่วนแบ่งการตลาดแซงหน้ากระทิงแดง
แหล่งข่าวที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทเบียร์ไทย 1991 เปิดเผยว่า นายเจริญ สิริวัฒนภักดี
เจ้าของบริษัทเบียร์ไทย 1991 ได้ทำการปรับแผนการเข้าตลาดฯใหม่ โดยการนำบริษัทในเครือนายเจริญ
ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล้าและเบียร์รวม 47 แห่งเข้าตลาดหลักทรัพย์พร้อมกัน โดยตั้งเป็นโฮลดิ้งชื่อ
ไทยเบฟเวอเรจ
"เดิมทีจะเข้าระดมทุนเฉพาะบริษัทเบียร์ช้าง 1991 แต่แผนใหม่ครั้งนี้จะมีทั้งโรงงานผลิตเหล้า
แอลกอฮอล์ เบียร์ บริษัทที่ทำการตลาด บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องและบริษัท ทศภาค
เข้าทั้งหมด (ดูตารางประกอบ) รวมสินทรัพย์แล้วมากกว่าแสนล้านบาท โดยแม่โขง มีสินทรัพย์สูงที่สุด"
ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งตรวจสอบ และประเมินสินทรัพย์ (ดิว ดิลิเจนซ์) ทุกบริษัท
คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 และซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงเดียวกัน
"การดำเนินการดังกล่าว นอกจากความคล่องตัวในการระดมทุน เพื่อขยายการลงทุน
และเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในเครือแล้ว ยังช่วยให้ตลาดหุ้นไทยคึกคัก เนื่องจากเพราะมาร์เกตแคปสูงถึงแสนล้านบาท
โดยหุ้นกลุ่มช้าง จะมีมาร์เกตแคปสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของตลาดฯ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง"
แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ จากการปรับแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ กลุ่มช้างจึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นจาก
2 ราย เป็น 5 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด, บล.ไทยพาณิชย์,
บล.กิมเอ็ง, ดอยช์แบงก์ และบริษัท เจพี มอร์แกน
คาราบาวแดงเร่งเข้าตลาดหุ้น
แหล่งข่าวบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด เปิดเผยว่า จากแนวโน้มตลาดธุรกิจชูกำลังมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปีนี้บริษัทฯจึงมีแผน ที่จะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่า ภายในไม่เกิน
3 เดือน จะยื่นแบบรายการแสดง ข้อมูล (ไฟลิ่ง) โดยตั้ง บล. กิมเอ็ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขยายการลงทุนหลังจากที่ยอดขาย ของบริษัท
มีอัตราเติบโตอย่างมาก รวมถึงการศึกษาที่ต้องเพิ่มสินค้าตัวใหม่(ขยายไลน์การผลิต)
ตอบสนองความต้องการของตลาด และรองรับแผนการขยายส่วนแบ่งตลาดอีก
"กำลังซื้อเครื่องดื่มบำรุงกำลังเพิ่มขึ้น ลูกค้ากลุ่มผู้ใช้แรงงาน จะทำให้เราขยายตัวได้อีกมาก
ยุทธศาสตร์ของเราต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดด การเข้าระดมทุนจึงเป็นทางที่เลือกไว้"
แหล่งข่าวฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.กิมเอ็ง กล่าวว่า ในเบื้องต้นตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทคาราบาวตะวันแดง
มีศักยภาพดีมาก เพราะมีตราสินค้าชัดเจน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย สามารถอ้างอิงแบรนด์
ของบริษัทได้สะดวก ประกอบมีผู้บริหารเป็นมืออาชีพ
"ด้วยความพร้อมในด้านต่างๆ แล้ว บริษัทน่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แม้ตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม
ขณะเดียวกัน ด้วยศักยภาพของบริษัท ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะไปขยายตลาดต่างประเทศ
ล่าสุด คาราบาวแดง มีส่วนแบ่งตลาดในอันดับ 2 รองจากเอ็ม-150 เป็นอันดับที่เพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด
ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้"
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเป็นทางการ ณ เดือน ธ.ค. 46 ส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง
3 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 ยี่ห้อเอ็ม -150 จำนวน 40% กระทิงแดงมีส่วนแบ่ง
32% และคาราบาวแดง 25% มูลค่าตลาด 14,000 ล้านบาท
บริษัท คาราบาวตะวันแดง มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เริ่มออกผลิตภัณฑ์ปลายปี
45 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง วงดนตรีเพื่อชีวิต คาราบาว กับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
เจ้าของผับ ร้านอาหารกลุ่ม ตะวันแดง ซึ่งการรวมตัวเพื่อก่อตั้งบริษัทฯสัดส่วนการถือหุ้น
50:50 ส่วนสำคัญได้รับแรงหนุนจาก นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ขณะที่บริษัทเสริมสุข
จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มเป๊ปซี่ยังทำหน้าจัดจำหน่ายคาราบาวแดงให้
ในด้านการจัดกิจกรรมทางการตลาด เป็นกลยุทธ์ที่ทุกค่ายเน้นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงและกว้างขึ้นกว่าการทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ
โดยค่ายของโอสถสภา เจ้าของ เอ็ม-150 ทุ่มงบประมาณปีนี้ 700 ล้านบาท ส่วนบริษัท
คาราบาวตะวันแดง ใช้งบการตลาดประมาณ 500 ล้านบาท