ดึงปตท.เสียบTPIวืดหวั่นฉุดมูลค่าหุ้นวูบ


ผู้จัดการรายวัน(25 มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลการเจรจาเจ้าหนี้ดึงปตท.เสียบ TPI วืด เผย 2 ปมเหตุสำคัญที่ปตท.ยังไม่ขอตัดสินใจตอนนี้ หวั่นกระทบสถานะและมาร์เกตแคปหุ้นปตท.หดทำรายย่อยเดือดร้อน และถูกมองเป็นดีลเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร ปตท.ยื่นข้อเสนอให้รัฐเคลียร์กับ "ประชัย" ก่อนจึงพิจารณาใหม่ โจทย์ใหญ่กลับไปตกหนักที่กระทรวงการคลัง และคณะผู้บริหารแผนหาทางออกปิดเกม TPI ด้าน "ประชัย" ยันหากแผนฉบับแก้ไขลดทุนจริงค้านแน่นอน

แหล่งข่าวจากเจ้าหนี้บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัล จำกัด (มหาชน) หรือ TPI กล่าวถึงผลการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้ TPI กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เพื่อให้ ปตท.เข้ามาร่วมลงทุนใน TPI ว่า ปตท.ขอชะลอการตัดสินใจเข้าลงทุนใน TPI ออกไปก่อน โดยปตท.ให้เหตุผลว่ามีความกังวลใน 2 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน

ประการแรก เนื่องจากปตท. เป็นบริษัทที่มีมาร์เกตแคปใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ การเข้าลงทุนที่กระทบสถานะกิจการของ ปตท.จะนำไปสู่ผลกระทบผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งควรเป็นห่วงเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TPI เช่นกัน

ประการที่สอง เกรงว่าการเข้าลงทุนในครั้งนี้จะถูกมองว่าเป็นลักษณะ Hostile takeover หรือเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร เพราะนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้า ที่บริหาร TPI ยังไม่ยอมรับแผนฟื้นฟู กิจการที่ทางมอร์แกนสแตนเลย์จัดทำ ดังนั้นภาครัฐควรจะต้องเคลียร์กับนายประชัยให้ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการเสียก่อน ทางปตท.จึงค่อยมาพิจารณาการเข้าลงทุนอีกครั้ง

แหล่งข่าวกล่าววิเคราะห์ด้วยว่า แต่เนื่องจากขณะนี้นายประชัย ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านแผนฟื้นฟูกิจการชัดเจนด้วยการออกแถลงการณ์ในช่วงที่ผ่าน นั่นแสดงว่านายประชัยคงจะไม่ยอมง่ายและพร้อมจะรบอย่างแน่นอน

"สถานการณ์ขณะนี้จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับกระทรวงการคลัง และคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง ว่าจะสามารถเจรจากับนายประชัยได้หรือไม่ แม้สถานการณ์จะดูเหมือนว่ายากที่จะจบแต่ก็พอมีทางออกอยู่แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางกระทรวงการคลังและคณะผู้บริหารแผนจะเป็นผู้จัดการปัญหานี้หากต้องการจะให้ปตท.เข้าไปร่วมลงทุนตามที่เจ้าหนี้ต้องการ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเรื่อง TPI จะต้องจบภายในเมษายนนี้ เนื่องจากจะมีการประชุมเพื่อโหวตแผนฟื้นฟู TPI ฉบับแก้ไขในเดือนเมษายนนี้" แหล่งข่าวกล่าว

ด้านความเคลื่อนไหวของหุ้น PTT วานนี้ (24 มี.ค.) ราคาเปิดตลาดที่ 151 บาท และปรับตัวขึ้นไปสูงที่ 153 บาท และได้ปรับตัวมาปิดที่ 150 บาท ลดลง 1 บาท ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวันก่อนซึ่งปิดที่ 151 บาท ลดลง 1 บาท

"ประชัย" ยันค้านแผนลดทุนแน่

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)(TPI) เปิดเผยกรณีที่มีกระแสข่าวว่าแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอฉบับแก้ไขจะมีการลดทุนจดทะเบียนบริษัทฯจาก 10 บาทเหลือ 1.60 บาทว่า หากแผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับแก้ไขมีการลดทุนจดทะเบียนจริง ตนก็จะยื่นคัดค้านทั้งในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตรับแผนฯและขั้นตอนศาลล้มละลายกลาง

โดยเชื่อว่าศาลจะใช้ดุลพินิจแน่นอน โดยจะมีการสอบข้อเท็จจริง เพราะทีพีไอถูกผู้บริหารแผนฯเดิม (อีพีแอล) สร้างความเสียหาย โดยมีการ ตีสินทรัพย์ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านและแปลงดอกเบี้ยค้างจ่ายเป็นทุนในอัตรา 5.50 บาทต่อหุ้น ทำให้ราคาหุ้นTPI ต่ำมาก และขณะนี้ผู้บริหารแผนฯที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลัง จะเสนอให้มีการลดทุนจดทะเบียนลง จะสร้างความเสียหายต่อราคาหุ้น TPI และผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย เท่ากับถูกปล้นเป็นครั้งที่ 2 ทำให้แผนฟื้นฟูยืดเยื้อออกไป และหากศาลรับแผนฟื้นฟูดังกล่าว ก็จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาต่อไป

ส่วนแผนฟื้นฟูฯทีพีไอจะยืดเยื้อไปจนถึงปลายปีนี้หรือไม่นั้น นายประชัยกล่าวว่า คงไม่สามารถตอบได้ แต่ตามแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอครบกำหนด 4 ปี โดยจะสิ้นสุดในปลายปี 2547 ซึ่งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้บริหารแผนฯมีสิทธิยื่นต่อศาลให้ทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูฯได้ ซึ่งตนในฐานะผู้บริหารลูกหนี้จะยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากการฟื้นฟูฯ เพราะปัจจุบันทีพีไอมีการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง และมีรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี(EBITDA)ถึงปีละ 1.7 หมื่นล้านบาท จึงไม่ถือว่าเป็นบริษัทฯที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีความจำเป็นต้องลดทุนด้วย

ปัจจุบัน ทีพีไอมีกระแสเงินสดหมุนเวียน 5-6 พันล้านบาท และในแต่ละเดือนก็มีเงินสดเข้ามาเพิ่มประมาณ 1.5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากศาลฯเห็นควรให้ยืดระยะเวลาฟื้นฟูกิจการออกไปก็สามารถทำได้ แต่หากเห็นว่าทีพีไอมีความแข็งแกร่งพอ ก็สามารถให้ออกจากแผนฟื้นฟูฯได้เช่นกัน

"นายกฯขอให้ผมดูแลเฉพาะ TPIPL และให้ตัวแทนกระทรวงการคลัง 5 คนดูแลบริหารงานใน TPI แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยึดTPIในราคาฟรี แต่ผมให้ยอมให้เขาจัดการได้เหมือนกับผู้จัดการมรดก แต่ไม่ใช่ปล่อยข่าวทุบราคาหุ้นเหมือนในปัจจุบัน ส่วนข่าวที่จะดึงปตท.เข้ามารับช่วงนั้น ผมเชื่อว่าเป็นการนำปตท.มาแอบอ้าง และเชื่อว่า คน TPI มีความสามารถสูงกว่า ส่วนปตท.ถ้าตัดธุรกิจก๊าซฯที่ผูกขาดออกไป เชื่อว่าจะมีกำไรไม่สูงเท่า TPI"

นายประชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ยังไม่มีโอกาสได้พบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใหม่ เพื่อชี้แจงหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอในฐานะผู้บริหารลูกหนี้เลย ซึ่งตนก็พร้อมที่จะเข้าพบหากรัฐมนตรีคลังมีเวลาเพียงพอ

นายประชัย กล่าวว่า การฟื้นฟูกิจการทีพีไอที่ล่าช้าออกไปนั้น ไม่มีผลกระทบในทางธุรกิจ เนื่องจากบริษัทยังมีกำไรจากการดำเนินงานในแต่ละเดือน เพียงแต่เสียโอกาสในการลงทุน เพื่อพัฒนาเครื่องจักรและประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทฯมี EBITDA 2,000 ล้านบาทต่อเดือน กลับมี EBITDA 1.5-1.6 พันล้านบาท รวมทั้งโอกาส ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางน้ำมันในภูมิภาคนี้ (OIL HUB) ตามนโยบายของรัฐบาลได้

ปัจจุบันธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาขึ้น และจีนได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆภายในประเทศ ทำให้มีการใช้เม็ดพลาสติกและน้ำมันมาก ดังนั้นทีพีไอจึงควรต้องเร่งปรับหนี้ให้เสร็จภายใน 3ปีข้างหน้า โดยไม่มีภาระหนี้อีกต่อไป จะทำให้ทีพีไอแข็งแกร่งขึ้น แต่ถ้าการปรับโครงสร้างหนี้ยังต้องใช้เวลายาวนานถึง 10 ปีตามที่ผู้บริหารแผนฯเสนอจะเป็นเรื่องที่เหนื่อย

เตรียมยื่นศาล 1-2 เดือนข้างหน้า

นายสุวิช นิวาตวงศ์ แทน ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ทีพีไอ กล่าว ชี้แจงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ขอให้บริษัทฯ ชี้แจงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินในการแก้ไขปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ได้จัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ในระหว่างการเจรจากับคณะกรรมการเจ้าหนี้โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ให้แล้วเสร็จ พร้อมเสนอต่อศาลล้มละลายกลางได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้า

แต่ทั้งนี้ กำหนดการในการแก้ไขปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลาง ไม่สามารถระบุกำหนดการแล้วเสร็จที่แน่นอนได้

TPIPL รอคำตอบจาก KTB

ส่วนการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยของบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน)(TPIPL) ประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทีพีไอจะออกหุ้นกู้สกุลบาท โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น นายประชัย กล่าวว่า ขณะนี้นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย(KTB)เห็นด้วยที่จะปล่อยสินเชื่อดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันทีพีไอโพลีนถือว่าเป็นลูกหนี้ที่ดี แต่ที่ยังไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพราะยังติดปัญหาบางประการอยู่

อย่างไรก็ตาม ทีพีไอโพลีนยังไม่ได้มีการเจรจาหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินอื่น เพราะต้องการคำตอบอย่างเป็นทางการจากแบงก์กรุงไทยก่อน แม้ว่าจะมีแบงก์หลายแห่งสนใจปล่อยกู้ก็ตาม หากทีพีไอโพลีนไม่ได้รับเงินกู้จากแบงก์กรุงไทย ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้เดือดร้อน เพราะบริษัทฯมี ฐานการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวเพื่อต้องการลดดอกเบี้ยประมาณ 100 กว่าล้านดอลลาร์ สหรัฐ

ปัจจุบัน ทีพีไอโพลีน มีหนี้สินรวมประมาณ 600 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ และมี EBITDA 600 ล้านบาท ต่อเดือน หรือเฉลี่ยปีละ 7.2 พันล้านบาท โดยปีนี้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่ายและเงินต้นประมาณ 3 พันล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.