UEFA Champion League กับฐานะการเงินสโมสรฟุตบอลยุโรป

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

Deloitte Touche Tohmatsu นอกจากจะเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการบัญชีแล้ว ยังเป็นผู้ชำนัญการระบบการเงินของสโมสรฟุตบอลยุโรปอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก Deloitte รับจ้างตรวจสอบบัญชีและฐานะการเงินของสโมสรฟุตบอลยุโรปนั่นเอง

ทุกปี Deloitte จะเผยแพร่รายงานการเงินของสโมสรฟุตบอลยุโรป บางปีออกข่าวเตือนสโมสรฟุตบอลที่เป็นเจ้าบุญทุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ตลาดการซื้อขายนักฟุตบอลร้อนแรง

Deloitte เพิ่งเผยแพร่รายงานฐานะการเงินของสโมสรฟุตบอลยุโรปในปี 2545/2546 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2547 ผลการตรวจสอบบัญชีพบว่า Manchester United เป็นสโมสรฟุตบอลยุโรปที่มีรายได้สูงสุดในฤดูการแข่งขัน 2545/2546 (167.83 ล้านปอนด์ สเตอร์ลิง) ทิ้งห่างอันดับสอง อันได้แก่ Juventus (145.75 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง) และอันดับสาม อันได้แก่ AC Milan (133.66 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง) หลายช่วงตัว (ดูตารางที่ 1)

เมื่อนำข้อมูลรายงานการเงินของสโมสรฟุตบอลยุโรปมาวิเคราะห์ ผลปรากฏว่า สโมสรฟุตบอลอังกฤษยึดอันดับสโมสรฟุตบอลที่มีรายได้สูงสุดมากกว่าสโมสรฟุตบอลประเทศอื่นใด กล่าวคือในบรรดาสโมสรฟุตบอลที่ติดอันดับสโมสรที่มีรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2545/2546 สโมสรฟุตบอลอังกฤษยึดตำแหน่งได้มากที่สุดถึง 5 สโมสร รองลงมาได้แก่ อิตาลี (3 สโมสร) สเปนและเยอรมนี (ประเทศละ 1 สโมสร) ดังรายละเอียดในตารางที่ 2

เมื่อพิจารณาสโมสรฟุตบอลยุโรปที่มีรายได้สูงสุด 20 อันดับแรก อังกฤษ และอิตาลียังครองอันดับหนึ่งและสองตามเดิม แต่เยอรมนี ตีคู่สเปนในอันดับสาม (ดูตารางที่ 2)

สโมสรฟุตบอลที่มีรายได้สูงมิจำต้องมีกำไรสูง ดังจะเห็นได้ว่า Leeds United ติดอันดับสโมสรฟุตบอลยุโรปที่มีรายได้เป็นอันดับที่ 16 (ดูตารางที่ 1) กำลังอยู่ในภาวะล้มละลาย และรอคอยนายทุนคนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเข้ายึดสโมสร

เดิมมหาอำนาจฟุตบอลยุโรปอยู่ในลุ่มสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิตาลีและสเปน สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในประเทศทั้งสองล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าบุญทุ่ม นอกจากทุ่มซื้อดารานักฟุตบอลระดับโลกในราคาแพงลิบลิ่วแล้ว ยังจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นในอัตราสูงอีกด้วย อิตาลีและสเปนจึงเป็นหลุมดำที่ดูดเอานักฟุตบอลระดับโลกไปไว้ แต่การใช้จ่ายชนิดไม่บันยะบันยัง สร้างปัญหาการเงินแก่สโมสรเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย รายได้จากสปอนเซอร์หดหาย และรายได้จากการเก็บค่าผ่านประตูตกต่ำ

สโมสรฟุตบอลในอิตาลีจำนวนไม่น้อยอยู่ในฐานะล้มละลาย บางสโมสรล้มละลายเพราะบริษัทแม่มีอันเป็นไป ความตกต่ำของรายได้ ทำให้สโมสรต้องขอลดเงินเดือนและผลตอบแทนอื่นที่จ่ายให้แก่นักฟุตบอล สโมสรยักษ์ใหญ่ในสเปนก็ประสบภาวะเดียวกัน Barcelona ต้องส่งทีมผู้บริหารไปขอดูงานใน Manchester United ส่วน Real Madrid ก็อาการร่อแร่เจียนอยู่เจียนไป จนได้นายทุนนักธุรกิจใหม่เข้ามาบริหารจัดการและเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจ จนฐานะกระเตื้องขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

การจัดตั้ง Premier League ในอังกฤษในปี 2535 ทำให้ดุลยภาพของตลาดฟุตบอลในยุโรปเปลี่ยนแปลงไป รายได้จากการขายสิทธิการถ่ายทอดโทรทัศน์และรายได้จากสปอนเซอร์ ทำให้ฐานะการเงินของสโมสรฟุตบอลใน Premier League ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา สโมสรฟุตบอลใน Premier League กลายเป็นผู้เล่นสำคัญ ในตลาดนักฟุตบอลยุโรป 'หลุมดำแห่งลุ่มสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน' มีพลังลดน้อยถอยลงในการดูดนักฟุตบอลระดับโลก

การเติบใหญ่ของ Premier League มิได้ส่งผลกระทบต่อ Calcio Serie A แห่งอิตาลี และ Premiera Liga แห่งสเปนเท่านั้น หากยังกระทบต่อ Bundesliga แห่งเยอรมนีอีกด้วย

พลังในการดูดนักฟุตบอลระดับโลก นับเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการแข่งขันสโมสรฟุตบอล ที่มีผลการแข่งขันดีในระดับชาติจะถูกคัดเลือกเข้าสู่ Champion League ของ UEFA และสโมสรฟุตบอลที่แข็งแกร่งจะสามารถฟันฝ่าเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย และ 4 ทีมสุดท้ายตามลำดับ ยิ่งเข้ารอบการแข่งขัน Champion League ได้ลึกมากเพียงใด ยิ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นมากเพียงนั้น

สโมสรฟุตบอลอิตาลีและสเปนยึดพื้นที่ใน Champion League มาเป็นเวลาช้านาน ในฤดูการแข่งขัน 2545/2546 สโมสรฟุตบอลจากประเทศทั้งสองเข้ารอบ 8 ทีมสุด ท้ายประเทศละ 3 สโมสร และมาจากอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ประเทศละ 1 สโมสร (ดูตารางที่ 3 และ 4) ในฤดูการแข่งขัน 2546/2547 สโมสรฟุตบอลจากอังกฤษและฝรั่งเศสตีคู่สเปน (ประเทศละ 2 สโมสร) โดยที่อิตาลีตกต่ำลง อีกทั้งมีข้อน่าสังเกตว่าไม่มีสโมสรฟุตบอลจากเยอรมนีติดอันดับ 8 ทีม สุดท้ายติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี จนฟรานส์ เบ็กเกนเบาเออร์ ปรารภถึงความตกต่ำของฟุตบอลเยอรมัน (ดูตารางที่ 3 และ 4)

รายได้จากการแข่งขัน Champion League มีผลต่อฐานะการเงินของสโมสรฟุตบอลอย่างชัดเจน เมื่อ Manchester United ไม่สามารถเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย มีการคาดการณ์ในวงการฟุตบอลยุโรปว่า ManU อาจสูญเสียแชมป์สโมสรฟุตบอลที่มีรายได้สูงสุดในฤดูการแข่งขัน 2546/2547

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่าสโมสรฟุตบอลใน Premier League หลายสโมสรติดอันดับสโมสรฟุตบอลที่มีรายได้สูงสุดในยุโรปทั้ง 10 อันดับแรก และ 20 อันดับแรก โดยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันใน Champion League แสดงให้เห็นว่ารายได้จากค่าผ่านประตูการแข่งขันภายในประเทศ รายได้จากการขายสิทธิการถ่ายทอดโทรทัศน์และรายได้จากสปอนเซอร์เป็นฐานรายได้ที่สำคัญ รายได้จากการแข่งขันระหว่างประเทศมีความสำคัญไม่มาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.