มุมหนึ่งของชีวิต ปรีดา เตียสุวรรณ์

โดย ฟรานซิส นันตะสุคนธ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้บทบาทชีวิตของ ปรีดา เตียสุวรรณ์ ด้านหนึ่งจะเป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องประดับระดับโลกอย่างแพรนด้า จิวเวลรี่ แต่คุณค่าของชีวิตในฐานะมนุษย์ร่วมสังคมได้ผลักดันให้เขาทำงานอย่างหนักในอีกมุมหนึ่งของประเทศ ที่ห่างไกล...เวียงแหง

เวียงแหงเป็นอำเภอในหุบเขาห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ การเดินทางเข้าไปในพื้นที่เลี้ยวลด คดเคี้ยว และสูงต่ำตามสภาพภูมิประเทศ ที่นี่ชาวบ้านกำลังคัดค้านการสร้างเหมืองลิกไนต์แห่งใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยหวั่นว่าจะเกิดผลกระทบอย่าง ในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ที่ผ่านมา แม้ปรีดามีภาระสำคัญในเรื่องขยายการลงทุนของบริษัทเข้าไปในประเทศจีน แต่เขายังมีเวลาพาผู้บริหารจากหลากหลายธุรกิจและสื่อมวลชน กลุ่มหนึ่งลงไปสัมผัสชีวิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ และสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมทั้งศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้

การเดินทางครั้งนั้นนอกจากกลุ่มนักธุรกิจ ก็ยังมีนักเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น พิภพ ธงไชย หรือวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ร่วมเดินทางไปด้วย แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ได้มีส่วนได้ ส่วนเสียโดยตรงกับการสร้างเหมือง แต่การเดินทางลงพื้นที่ก็สร้างกำลังใจให้ชาวบ้านได้มาก

ปรีดาเป็นประธานในกลุ่มเอเชียของ SVN (Social Venture Network) ประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการมาครบ 5 ปีเต็มเมื่อสิ้นปีที่แล้ว SVN มีการจัดสัมมนาพูดคุยหรือเคลื่อนไหวทางสังคม ตลอดจนเดินทางลงพื้นที่เช่นที่เขื่อนปากมูล หรือป่าชุมชน รวมถึงมีการให้รางวัลกับหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในหลายทาง ซึ่งมีโครงข่ายอยู่ทั่วโลก

แม้คำว่า CSR (Corporate and Social Responsibility) จะเป็นที่รู้จักกันมานาน แต่บทบาทของธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงนั้นยาก บัญฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย เคยพูดไว้ว่า จริงๆ แล้ว นั่นเป็น "การให้ (philanthropy) มากกว่า CSR"

ภาพการทำงานหนักขององค์กร (SVN) ที่เกิดขึ้นย่อมทำให้หลายคน ได้ทบทวนคำว่า "จริยธรรม" ของผู้บริหาร (Ethic of Leaders) ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจและทำให้สหประชาชาติหันมาตั้งโครงการ Global Contact สำหรับหน่วยธุรกิจที่จะทำตัวเป็นประโยชน์ต่อโลก โดยมีข้อปฏิบัติ 9 ข้อ เช่น ในด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชน

"ตอนนี้ท่าน (โคฟี่ อันนัน) เชิญผมไปพบวันที่ 24-25 มิถุนายน เพื่อคุยเรื่องนี้" ปรีดาเล่าอย่างภูมิใจ เขามีความเห็นว่า

"การทำ CSR นั้นไม่ใช่มีแต่ต้นทุนเพิ่ม แต่ผลตอบแทนเพิ่มเช่นกัน มีงานวิจัยที่ระบุว่า บริษัทขายของดีขึ้นจากการที่บริษัทมีภาพลักษณ์ทางสังคม เป็นความจริงที่ต้องถกเถียงต่อ ว่าเวลาที่บริษัททำเรื่องทางด้านสังคมควรจะเอามาทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือควรจะเอามาทำในเชิงพาณิชย์หรือไม่ แต่การที่นำมาใช้เป็นมาร์เก็ตติ้ง เป็นเรื่องไม่ควร เพราะในที่สุดมันจะย้อนกลับ มาไม่ดี เพราะอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องจิตใจ จิตวิญญาณ จิตสำนึก มันไม่ควรเป็นเรื่องที่จะเอามาค้าขายกัน มนุษย์เราค้าขายทุกอย่างในสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่ไม่ขายคือจิตวิญญาณ"

"ผมเคยทำหนังสือถึงนายกฯ เรื่องเขื่อนปากมูลด้วยนะ แต่ท่านไม่ได้ตอบอะไรมา ผมไม่รู้ว่าท่านอ่านหรือเปล่า วันหนึ่งท่านไปเปิดงานที่อิมแพค พอท่านเข้ามาในบูธแล้วถามหาผม บังเอิญผมไม่อยู่ท่านก็เลยบอกว่า สงสัยไปชุมนุมคัดค้านอะไรอยู่ที่ไหนหรือเปล่า" ปรีดากล่าวติดตลก พร้อมบอกว่า อนาคตทางการเมืองไม่มีอยู่ในความคิดของเขา เพราะถือว่าการเมือง ภาคประชาชน คือสิ่งที่เขากำลังทำมาตลอด และจะทำต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.