หอศิลป์เจ้าฟ้าที่เคยเงียบเหงา ดูคึกคักขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อกลายเป็น "ตลาดนัดศิลปะ" ให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมชื่นชมผลงานของบรรดาศิลปินหน้าใหม่ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เป็นกิจกรรมดีๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้เกิดขึ้นกับหนุ่ม-สาวหน้าใส ทั้งรุ่นน้องรุ่นพี่ร่วมวงการศิลปินจำนวนมาก
เพราะมีโอกาสนำเอาผลงานเก่าเก็บและผลงานใหม่ๆ มาวางขาย หลังจากไม่รู้จะวางขายที่ไหนมานาน
เป็นโอกาสดีๆ ของผู้คนจำนวนมากที่จะได้ซื้อหาและนำศิลปะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
โดยไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงล้วนเป็นผลงานของศิลปินดังที่รู้จักกันดีในสังคม
ความมีชื่อเสียงของศิลปินได้ส่งผลโดยตรงต่อราคาชิ้นงานที่แพงขึ้น แน่นอนว่าการครอบครองจึงต้องอยู่ในวงจำกัดด้วย
ในขณะเดียวกันศิลปินรุ่นใหม่ที่ขาดเวทีสำหรับนำเสนอผลงาน ต้องไปเช่าสถานที่ของเอกชนในราคาสูง
จำเป็นต้องขายผลงานแพงตามไปด้วย ผลพวงก็คือ ขายงานได้ยาก มีปัญหาต่อเนื่องในการทำอาชีพนี้มาโดยตลอด
การที่กระทรวงวัฒนธรรมให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจัดหาพื้นที่สำหรับแสดง
และจัดจำหน่ายผลงานศิลปะ โดยเน้นไปที่การคัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก
จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยได้กำหนดแผนงานไว้ว่า จะจัดให้มีตลาดนัด
ศิลปะอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยระยะแรกตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม
2547 จะใช้พื้นที่บริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า สำหรับจำหน่ายผลงานและกิจกรรม
สาธิตเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
พอย่างเข้าหน้าฝนคงต้องหาสถานที่แห่งใหม่ รวมทั้งมีแผนจะจัดเป็นนิทรรศการศิลปะ
(Art Fair) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ปีละ 2 ครั้ง อีกด้วย
ตลาดนัดศิลปะที่เกิดขึ้นได้คัดเลือกผลงานศิลปะหลากหลาย สาขาของศิลปินที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่
ไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่นและเป็นต้นฉบับ ราคาที่ตั้งไว้จะเป็นหลักร้อย และหลักพัน
เป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนบูธทั้งหมดประมาณ 200 บูธ
ศิลปินที่เข้าร่วมงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หากขายได้ ทางสำนักงานจะหัก
10 เปอร์เซ็นต์ของราคาผลงานที่แจ้งเอาไว้ เพื่อเป็นต้นทุนในการหาที่จัดแสดงในครั้งต่อไป
จำนวนรูปทั้งหมดที่ขายได้ในเวลา 2 สัปดาห์ ราว 1,800 ภาพ เป็นเงินประมาณ
1.9 ล้านบาท
นับเป็นก้าวแรกที่นอกจากจะส่งเสริมให้ศิลปินทั้งหลายเกิดกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานแล้ว
ยังมีส่วนกระตุ้นให้คนทั่วไปได้มีความรักความเข้าใจในงานศิลปะมากขึ้นด้วย