สถาปัตยกรรมรูปทรงทิวดอร์ท่ามกลางพรรณไม้ที่ร่มรื่นหลังนั้น ได้รับการกล่าวขานร่ำลือกันว่างดงามติดอันดับในเมืองย่างกุ้ง เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์การทูตระหว่างไทยกับพม่า
ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ย้อนอดีตกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยมีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ได้ส่งผู้แทนรัฐบาลไทย 3 ท่านคือ พระยาอภิบาลราชไมตรี ตุล บุนนาค และ ม.ล.ปีกทิพย์
มาลากุล มาร่วมงานฉลองอิสรภาพของประเทศพม่า ซึ่งมีนายอูนุเป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2491
ในครั้งนั้นรัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่จะเปิดสัมพันธ์ทางการทูตต่อประเทศพม่าด้วย
จึงได้ตกลงซื้อบ้านเลขที่ 91 ถนนชิพ ต่อกับถนนโปรม ในเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่
ซึ่งเดิมเป็นบ้านของ Mr.De Souza ชาวโปรตุเกส สัญชาติอังกฤษ เอเย่นต์ ใหญ่ในการสั่งเวชภัณฑ์จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายทั่วประเทศพม่าในสมัยอังกฤษปกครอง
บ้านหลังใหญ่สถาปัตยกรรมรูปทรงทิวดอร์ตั้งอยู่กลางผืนที่ดิน มีถนนรูปตัวยูผ่านด้านหน้า
มีที่จอดรถตรงกลางซึ่งตรงกับมุขชั้นบนที่ยื่นออกมาจากตัวบ้าน โครงสร้างบ้าน
สวยงาม มีเพดานค่อนข้างสูง ประตูทางเข้าด้านล่างปูด้วยกระเบื้องหินอ่อนสลับขาว-ดำ
เป็นแนวเฉียง ส่วนชั้นบนพื้นห้องเป็นไม้สีเข้ม มีช่องหน้าต่างประตูที่สูงชะลูด
แรกเริ่มเดิมทีนั้นชั้นล่างของตัวบ้านจัดให้เป็นที่ทำการ ส่วนชั้นบนเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูต
สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่าเปิดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม
พ.ศ.2492 โดยมี ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล เป็นอุปทูตคนแรก ปัจจุบันทำเนียบแห่งนี้ได้รับรอง
ท่านทูตมาแล้วถึง 17 คน สุพจน์ ธีรเกาศัลย์ คือเอกอัครราชทูตคนล่าสุดที่ย้ายเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่
14 มกราคม 2547
บ้านหลังนี้ได้รับการซ่อมบำรุงและตกแต่งภายในใหม่ และดัดแปลงให้เป็นทำเนียบ
เพียงอย่างเดียว โดยบริษัทชูจักร ก่อสร้าง จำกัด ในวงเงินทั้งหมด 45 ล้านบาท
ใช้เวลา ประมาณ 1 ปีครึ่ง แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2539 เมื่อครั้งสมัยท่านทูต
ปกศักดิ์ นิลอุบล
การซ่อมครั้งนั้นเป็นเพราะบ้านทรุดลงไปมากตามกาลเวลา ต้องใช้ทีมงานที่เชี่ยวชาญดีดฐานรากให้กลับขึ้นมาอยู่ที่เดิม
มีการสร้างศาลาไทยกลางสวน และสนามเทนนิสในบริเวณบ้าน ส่วนโครงสร้างหลักทุกอย่างยังคงเอกลักษณ์เดิมเอาไว้
ภายในบ้านได้รับการปรับโฉมให้สวยงามสมบูรณ์แบบขึ้น โดยใช้ไม้เป็นวัสดุหลักที่สะท้อนความเป็นตะวันออก
เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ในตัวบ้าน แม้เป็นแบบยุโรปคลาสสิก แต่ได้สอดแทรกอวดความเป็นไทยด้วยตู้
โคมไฟ และเครื่องประดับต่างๆ รวมทั้งผ้าไหมที่นำมาบุเฟอร์นิเจอร์ ทำม่าน
และหมอนอิง
กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 บ้านหลังนี้ยังคงสวยงามเป็นสง่า ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่น้อยนานาพันธุ์ที่เติบโตสูงใหญ่ขึ้นตามวันเวลา
ดอกแก้วหอมกรุ่นกระจายทั่ว บริเวณบ้าน ดอกชวนชมในกระถางน้อยใหญ่จัดวางกระจัดกระจาย
ดอกดาหลาริมรั้วกอใหญ่กำลังแข่งกันออกดอก รอบรั้ว คือต้นมะพร้าวสูง จำปีต้นใหญ่อายุเกือบ
10 ปีหลังบ้าน มีผ้าแพรสีสันสวยงามผูกไว้รอบต้น มีชิงช้าเล็กๆ ห้อยอยู่ (และมีประวัติอันน่าระทึกขวัญ)
ปรากฏการณ์ต่างๆ ทางการทูตระหว่างไทยกับพม่าที่เกิดขึ้นในทำเนียบหลังนี้เรื่องแล้วเรื่องเล่า
จากวันวานถึงวันนี้ และวันหน้าจะถูกจารจำเป็นประวัติศาสตร์ ต่อไป