GE กับแผน Consumer Finance ปี 2547

โดย สุธี ชยะสุนทร
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีที่แล้วเป็นปีที่มีสีสันยิ่งในตลาด Consumer Finance แต่ปีนี้เมื่อตลาดเริ่มอิ่มตัว จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า GE ในฐานะผู้เล่น รายแรกที่เข้ามากระตุ้นให้ตลาดนี้คึกคักขึ้น ต้องมีการปรับตัวอย่างไร...

ปี 2546 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองสำหรับธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (Con-sumer Finance) โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการขยาย ตัวอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี ตลาดสินเชื่อประเภทนี้มีมูลค่าสูงถึง 560,000 ล้านบาท

แต่ในปีนี้กลับมีการคาดหมายจากหลายฝ่ายว่า ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจะเติบโตในอัตราที่ลดลง หากเทียบกับปีก่อน ซ้ำยังมีผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีส่วนแบ่งตลาด ผู้ให้บริการสินเชื่อเพี่อผู้บริโภค ทั้งหลายจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม และพัฒนากลยุทธ์เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

GE Consumer Finance (Thai-land) บริษัทในเครือ General Electric ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และอาจเรียกได้ว่าเป็นรายแรกที่เข้ามากระตุ้นให้ตลาดนี้มีความคึกคักขึ้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนักหลังปี 2540 ได้แถลงแนว ทางการทำธุรกิจในปีนี้ โดยมีพิริยะ วิเศษจินดา CEO ของ GE Consumer Finance เป็นผู้แถลง

พิริยะได้กล่าวถึงสถานะของ GE Consumer Finance เมื่อสิ้นปี 2546 ว่าอยู่ในระดับแถวหน้า โดยมียอดสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 88,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประมาณ 25,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 15.7%

เมื่อมีการคาดหมายว่าการแข่งขัน จะรุนแรงขึ้นในปีนี้ GE Consumer Finance จึงต้องอาศัยความเป็น Global เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

"ในขณะที่ผู้เล่นหลายรายใช้กลยุทธ์ ด้านราคา แต่ GE Consumer Finance เลือกที่จะใช้กลยุทธ์ที่ยั่งยืนกว่านั้น" พิริยะ บอก

เริ่มตั้งแต่การนำระบบ CRM (Cus-tomer Relationship Management) มาช่วยในการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามอายุ รายได้ แหล่งที่พัก รวมถึงวิถีในการดำเนินชีวิต แล้วจึงศึกษาความต้องการของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้

นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในภาวะที่ต้นทุนในการหาลูกค้า ใหม่ๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ GE Consumer Finance ยังจะใช้กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพ การทำงาน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณา และอนุมัติสินเชื่อ การบริหารฐานลูกค้า การปฏิบัติการ จนถึงขั้นตอนการติดตามหนี้สิน โดยการนำระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นระบบแจ้งผลการอนุมัติเบื้องต้นผ่านโทรศัพท์มือถือ

"ถือเป็นการลดขั้นตอนการทำงานและจำนวนของเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซ้ำยังเป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับลูกค้า ซึ่งจำเป็นอย่างมากในธุรกิจสินเชื่อที่แข่งกันในหน่วยที่เป็นนาทีต่อนาที"

นอกจากนี้ สิ่งที่ GE Consumer Finance จะเร่งทำในปีนี้ คือการใช้ช่องทาง บริการที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทำ ได้หลายวิธี เช่นปรับปรุงและยกระดับสาขา ให้บริการของ GE Capital Autolease ให้สามารถรองรับบริการสินเชื่อประเภทอื่นๆ แบบครบวงจร

ถึงแม้ว่าการแข่งขันในสนามนี้จะรุนแรงแค่ไหน แต่ด้วยกลยุทธ์ที่ช่วย GE Consumer Finance สามารถลดต้นทุนการดำเนินงาน เป้าหมายที่จะเพิ่มยอดสินเชื่ออีก 20% ในปี 2547 ของผู้นำด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภครายนี้คงไม่ยากนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.