เลขหมายร้อน ๆ

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เลขหมายโทรศัพท์พิเศษ 4 หลัก กลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง เช่นเดียวกับการบูมของ call center

"สวัสดีค่ะพิซซ่าฮัท และเคเอฟซียินดีต้อนรับค่ะ "เสียงใสๆ ของพนักงาน รับโทรศัพท์ของพนักงาน call center ซึ่ง เป็นช่องทางขายหลักของธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ด ประเภทพิซซ่าฮัท ที่กำลังห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดในเวลานี้

ปัจจุบันเลขหมาย 4 หลัก ได้กลายเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากที่ต้องการนำมาใช้ติดต่อศูนย์ call center โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ deli- very อย่างธุรกิจพิซซ่า วิทยุติดตามตัวหรือ แม้แต่ศูนย์บริการของโทรศัพท์เคลื่อนที่

เลขหมาย 4 หลักจัดเป็นเลขหมาย พิเศษที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) มีไว้ให้หน่วยงานราชการทั่วไปขอนำไปให้บริการสาธารณประโยชน์รวม ทั้งเอกชนที่จะนำไปใช้ประโยชน์สำหรับ ให้บริการแก่คนจำนวนมากๆ

เดิมที ทศท.เคยอนุมัติเลขหมายพิเศษ 3 หลักให้กับหน่วยงานราชการ และเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริการวิทยุติดตามตัว ต่อมาในภายหลังเมื่อความต้อง การมีมากขึ้น แต่เลขหมายมีจำกัด ทศท.จึงต้องระงับการอนุมัติเลขหมายนี้ไปและเปลี่ยน มาให้บริการเลขหมาย 4 หลักแทน

เลขหมายโทรศัพท์ 3 หลักและ 4 หลัก นั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจ วิทยุติดตามตัวนับเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ใช้เลขหมายโทรศัพท์ 3 หลัก เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย เช่น เลขหมาย 151 และ 152 ของโฟนลิ้งค์ หรือเลขหมาย 161 และ 162 ของฮัทชิสัน หรือเลขหมาย 1500 และ 1501 ของบริการอีซี่คอล

แพ็คลิ้งค์ นับเป็นผู้ให้บริการวิทยุติด ตามตัวที่ต้องผ่านการต่อสู้มายาวนานกว่าจะได้เลขหมาย 4 หลัก คือ 1143 และ 1144 จากองค์การโทรศัพท์ฯ ไว้ให้บริการแก่ลูกค้า ทำเอาผู้บริหารในเวลานั้น คือ ดร.วรศักดิ์ วรภมร ถึงกับต้องล้มป่วยลงด้วยความเครียด อันเนื่องมาจากแรงบีบคั้นในฐานะผู้บริหารที่ไม่สามารถขอเลขหมายได้

การไม่ได้รับอนุมัติเลขหมาย 3 หลัก ได้กลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญให้กับแพ็คลิ้งค์ ที่ต้องตกเป็นรองคู่แข่งอย่างโฟนลิ้งค์ ที่แม้จะมาทำตลาดทีหลังแพ็คลิ้งค์หลายปี แต่อาศัยการตลาดในเชิงรุก และข้อได้เปรียบจากการมีเลขหมาย 3 หลักเติบโตแซงหน้าแพ็คลิ้งค์ไปได้สบายๆ

ว่ากันว่า มูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่แพ็คลิ้งค์ต้องเผชิญกับอุปสรรคมาตลอดนั้น มาจากความไม่ลงรอยกันของผู้บริหารของบริษัทแปซิฟิกเทเลซิส อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ของแพ็คลิ้งค์ และดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยเข้าร่วมธุรกิจแพ็คลิ้งค์ในช่วงเริ่มต้น แต่มาเกิดแตกคอกันขึ้น เมื่อเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง สัมปทานวิทยุติดตามตัวจาก ทศท. เป็นหนึ่ง ในธุรกิจเริ่มแรกๆ ของกลุ่มชินคอร์ปที่ประสบ ความสำเร็จ

แต่มาในช่วงหลังเมื่อทั้งองค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ อนุมัติสัมปทาน บริการวิทยุติดตามตัวแก่เอกชนรายอื่นๆ ทศท.จึงจำเป็นต้องอนุมัติเลขหมายพิเศษให้กับผู้ให้บริการเหล่านี้มากขึ้น แต่ยังมีข้อแตก ต่างระหว่างสัมปทานวิทยุติดตามตัวของทศท. ที่จะได้อนุมัติเลขหมาย 3 หลัก ในขณะที่ฝั่งกสท.จะให้อนุมัติเลขหมาย 4 หลัก

เลขหมายพิเศษ 4 หลัก กลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง เมื่อหลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับบริการ call center ที่กำลังเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในการให้บริการ และเป็น ช่องทางการขาย ความต้องการใช้เลขหมาย 4 หลัก เพื่อให้สามารถจดจำได้ง่าย จึงกลาย เป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กัน

เอกชนบางรายที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจนี้ บอกว่า หากเป็นเลขหมายสวยๆ ถึงกับต้อง มีการประมูลผลที่ตามมาทำให้การลงทุนแพงขึ้น

เอกชนหรือหน่วยงานราชการ ที่จะต้องมีเลขหมาย 4 หลักไว้ใช้งาน จะต้องยื่นหนังสือขออนุญาตอย่างเป็นทางการไปที่ ทศท. ซึ่ง ทศท.มีการคณะกรรมการพิจารณา อนุมัติเลขหมายพิเศษ 4 หลักนี้เฉพาะ

ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ทศท. จึงได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุมัติเลขหมาย 4 หลักใหม่ อย่างแรก ผู้ขอจะต้องเป็น ธุรกิจขนาดใหญ่ และต้องนำไปให้บริการแก่คนจำนวนมาก จะต้องใช้โทรศัพท์ 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป และต้องมีสาขามากกว่า 2 แห่ง และเมื่อขออนุมัติแล้ว จะต้องมีการขอติดตั้งวงจรอย่างน้อย 30 วงจรขึ้นไป

ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเลขหมายจะ ประกอบไปด้วยค่าติดตั้ง 3,350 บาทต่อ 1 วงจร ค่าประกัน 3,000 บาทต่อ 1 วงจร และ ค่าเช่าวงจร E1 1,750 บาทต่อวงจรต่อ 1 เดือน

กรณีของธุรกิจขายพิซซ่า ก็ถือว่าเป็น บริการที่ให้กับคนจำนวนมาก และมีสาขาเป็นจำนวนมากอย่างนี้เราก็อนุมัติให้ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการอนุมัติเลขหมาย 4 หลัก บอกกับ ผู้จัดการ

หากเป็นเอกชนที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ การลงทุนในเรื่องคู่สาย E1 จึงไม่เป็นปัญหา แต่หากเป็นธุรกิจเล็กๆ ก็อาจจะเลือกที่จะใช้ เลขหมาย 7 หลัก ดังเช่นกรณีของศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้เหตุผลของการเลือกใช้เลขหมาย 255-4433 แทนที่จะเป็นเลขหมาย 4 หลักเหมือนกับ call center ที่อื่น ประหยัดเงิน และดูแลเองได้ง่ายกว่า

ในขณะที่บางธุรกิจอาจต้องเลือกใช้เลขหมาย 4 หลัก เพื่อประโยชน์ทางการค้า และการแข่งขัน ต่อการสร้างความจดจำให้กับลูกค้า และนี่เองที่ทำให้เลขหมาย 4 หลัก กลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.