Deal of the Year

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

คงไม่เป็นเรื่องที่เกินเลยไปนัก หากจะยกกรณีการกระจายหุ้นของธนาคารกรุงไทย เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็น Deal of the Year เพราะนอกจากจะเป็น Deal การขายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น ความสำเร็จของ Deal นี้ ยังมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหลายอย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ และกระบวนการทำงานอย่างหนักของทีมผู้บริหารและที่ปรึกษาทางการเงิน ก็สามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาให้กับการ Underwrite หุ้นที่กำลังทำกันอย่างกลาดเกลื่อนอยู่ในขณะนี้

มีหลายเหตุผลที่ "ผู้จัดการ" กล้ายกให้กรณีที่คนส่วนใหญ่มองเห็นเป็นเพียง Privatization ธรรมดาๆ ให้เป็น Deal of the Year

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และกระทรวงการคลัง ได้นำหุ้นที่ถืออยู่ในธนาคารกรุงไทย จำนวน 3,420 ล้านหุ้น ออกมาเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งที่เป็นนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม 2546

เป็นกระบวนการตามขั้นตอนการแปรรูปธนาคารกรุงไทย ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะได้ผล 2 ทาง 1-คือเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของธนาคารกรุงไทยให้เพิ่มขึ้น และ 2-ลดภาระทางการเงินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่กำลังประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก จากการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินหลายแห่งในช่วงหลังวิกฤติ

กรณีนี้ดูไปอาจดูเหมือนง่าย เพราะในช่วงที่กำลังมีการนำหุ้นออกมาขาย เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยกำลังเริ่มต้นขยับ ดัชนีราคาหุ้นได้เริ่มไต่ระดับจากที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงไม่เกิน 300 จุดในไตรมาสแรกของปี ขึ้นมายืนอยู่เหนือระดับ 500 จุด

แต่บรรยากาศการลงทุนโดยรวม ก็ไม่ได้มีผลโดยตรงกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อธนาคารกรุงไทย จากข้อมูลที่เขาได้รับรู้เกี่ยวกับธนาคารแห่งนี้ เพราะหากนักลงทุนไม่มีความเชื่อถือหุ้นจำนวนมากขนาดนี้ ก็คงไม่สามารถขายได้หมด... ก่อนที่จะมีการนำหุ้นออกมาขาย มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่น่าตกใจ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยก็คือแม้ธนาคารกรุงไทยจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ แต่ในความรับรู้ของนักลงทุนต่างชาติ ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารแห่งนี้มีน้อยมาก ตรงกันข้าม ข้อมูลที่มีอยู่กลับเป็นไปในด้านลบเป็นส่วนใหญ่

เหตุผลเพียงเพราะแม้ว่าธนาคารกรุงไทยจะเข้ามาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นเวลานานนับ 10 ปี แต่จำนวนหุ้นที่กระจายหมุนเวียนอยู่ในตลาดมีอยู่เพียง 8% ซึ่งไม่เข้ากับเกณฑ์ หรือคุณสมบัติของหุ้นที่จะอยู่ในบัญชีรายชื่อหุ้นที่น่าลงทุนของนักลงทุนสถาบันต่างชาติ ดังนั้นจึงไม่เคยมีสถาบันวิจัยใดๆ จัดทำบทวิเคราะห์หุ้นของธนาคารกรุงไทยออกมา เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักลงทุนเหล่านี้

"เปรียบไปเหมือนกับว่าเราไม่เคยอยู่ในรัศมี radar ของสถาบันเหล่านี้ เหมือนกับว่าหุ้นของเราอยู่ใน black box" กิตติยา โตธนะเกษม รองกรรมการผู้จัดการสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย บอกกับ "ผู้จัดการ"

ดังนั้น กระบวนการสำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนสถาบันเหล่านี้ แสดงความสนใจจะซื้อหุ้นธนาคารกรุงไทย คือการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับธนาคารให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารธนาคารและบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินคือ บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ริล ลินช์ ภัทร (ชื่อในขณะนั้น)

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันจากต่างชาติ คำตอบคือเนื่องจากจำนวนหุ้นที่นำออกมากระจายขายมีเป็นจำนวนมากจน อาจเกินกว่ากำลังซื้อของนักลงทุนภายในประเทศจะรับไหว

และนักลงทุนภายในประเทศ ที่ถูกกำหนดไว้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายให้เป็นผู้ซื้อหุ้นธนาคารกรุงไทย ก็ได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนอีกชั้นหนึ่งว่า ต้องไม่ใช่คนที่มีพฤติกรรมเก็งกำไร หรือคนที่มีการลงทุนระยะสั้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว

ก่อนที่จะมีการนำหุ้นของกระทรวงการคลัง และกองทุนฟื้นฟูฯ ออกมากระจายขาย ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารที่มีหน่วยงานของรัฐถือหุ้นอยู่รวมกันถึง 91.8% เป็นส่วนของกองทุนฟื้นฟูฯ 87.23% หรือ 9,756.64 ล้านหุ้น กระทรวงการคลังอีก 3.75% หรือ 420 ล้านหุ้น เหลือหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายอยู่ในตลาดเพียงประมาณ 920 ล้านหุ้น หรือคิดสัดส่วนเพียง 8% เท่านั้น

ส่วนหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ และกระทรวงการคลังนำออกมาขาย จำนวน 3,420 ล้านหุ้น หากคำนวณตามราคาขายที่ได้ถูกกำหนดจากการทำ Book Building ที่หุ้นละ 8.50 บาท จะเป็นวงเงินสูงถึง 29,070 ล้านบาท และหากแปลงค่าเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ละ 39 บาท วงเงินที่จะมีการขายหุ้นครั้งนี้สูงถึง 745 ล้านดอลลาร์

เป็น Deal การขายหุ้นสถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียในช่วงนั้น

และใหญ่กว่า Deal การกระจายหุ้นบริษัทท่าอากาศยานไทย ซึ่งเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรายล่าสุด ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนี้

"โจทย์ใหญ่อีกข้อหนึ่งของเราก็คือ หุ้นที่จะนำมากระจายในครั้งนี้มีจำนวนมากเป็น 4 เท่าของหุ้นที่มีการซื้อขายหมุนเวียนอยู่ในตลาด" บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร (ชื่อในปัจจุบัน) ให้ข้อสังเกต

การนำหุ้นจำนวนมากออกไปเสนอขายให้กับนักลงทุนที่ยังไม่รู้จัก หรือยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเจ้าของหุ้นนั้นอย่างเพียงพอในทางตรงข้าม ข้อมูลที่นักลงทุนเหล่านี้มี กลับเป็นข้อมูลด้านลบ จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของ บล.เมอร์ริล ลินช์ ภัทร ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเป็นอย่างยิ่ง...

เมอร์ริล ลินช์ ภัทร หรือ บล.ภัทรในปัจจุบัน เป็น 1 ในผู้เสนอตัวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการกระจายหุ้นธนาคารกรุงไทย ในส่วนที่กองทุนฟื้นฟูฯ และกระทรวงการคลังนำออกมาขาย เมื่อปี 2545 โดยเริ่มเข้ามารับงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน

หลังจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะกระจายหุ้นธนาคารกรุงไทย กระแสข่าวเกี่ยวกับธนาคารแห่งนี้ในช่วงนั้น ส่วนใหญ่มีแต่ด้านลบ

คนส่วนใหญ่มองว่าธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ มีการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ และต้องทำตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการให้สินเชื่อแก่คนในระดับรากหญ้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผลประกอบการในอนาคต

บรรยงเองก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าในช่วงแรกที่เข้าไปรับงานนี้ใหม่ๆ โดยส่วนตัวก็มีความรู้สึกเช่นนั้นบ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะในประเด็นแรก แต่เมื่อได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลของธนาคารกรุงไทยอย่างจริงจัง ก็พบว่าที่คนส่วนใหญ่คิดกัน ล้วนผิดทั้งหมด

"ธนาคารกรุงไทยขณะนั้น ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะเงินทุนแข็งแกร่งที่สุด เพราะรัฐบาลได้ช่วยนำหนี้เสียเกือบทั้งหมดออกไปไว้ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ทำให้เป็นธนาคารที่มีสัดส่วน NPL ต่ำที่สุด นอกจากนี้การบริหารงานก็ได้มีการปรับปรุงจนมีมาตรฐานไม่แตกต่าง และอาจดีกว่าธนาคารพาณิชย์เอกชนบางแห่ง"

ส่วนประเด็นที่มองกันว่าธนาคารกรุงไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลนั้น เขาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง โดยยกเนื้อหาที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนให้ซื้อหุ้นธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งแรกที่มีการกระจายหุ้นก่อนนำธนาคารเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่ง บล.ภัทรได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการกระจายหุ้นครั้งนั้นด้วย

ในหนังสือชี้ชวนครั้งนั้นระบุไว้ชัดเจนว่า "รัฐสามารถใช้ธนาคารกรุงไทยเป็นเพียงพาหนะ (Vehicle) ของนโยบาย แต่ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือ (Instrument) โดยตรง"

"ทุกคนก็ยึดตามนี้มาตลอด คือหากรัฐอยากให้ธนาคารกรุงไทยช่วยทำอะไร แต่ถ้าจะเป็นภาระต่อผู้ถือหุ้น รัฐต้องชดเชย เพราะผู้ถือหุ้นคนอื่นเขาไม่มี social obligation แต่รัฐมี"

ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารกรุงไทยได้ทำมาในช่วงหลัง โดยเฉพาะเรื่องการให้สินเชื่อกับคนในระดับรากหญ้าที่คนยังเข้าใจว่าเป็นใบสั่งจากรัฐบาล จึงเป็นนโยบายที่มาจากฝ่ายบริหารของธนาคารเอง ที่มองเห็นช่องทางธุรกิจ

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่บล.ภัทรในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินในการกระจายหุ้นธนาคารกรุงไทย จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นคนเข้ามาซื้อหุ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน

"เวลาเราเป็น underwriter หน้าที่เราก็คือ advise ลูกค้า ให้มีการจัดการภายในเรื่องบัญชี ตัวเลขให้เหมาะสม หน้าที่ที่ 2 คือเราเป็นตัวแทนนักลงทุน ไปตรวจสอบว่าที่ลูกค้าบอกนั้นเป็นจริง และครบถ้วน เข้าใจง่ายหรือไม่ ซึ่งอันนี้ก็คือ deal diligent คือทำหน้าที่แทนคนซื้อ ส่วนหน้าที่ที่ 3 คือหลังจากที่เราทำกระบวนการต่างๆ แล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่ไป negotiate กับนักลงทุน เป็นตัวแทนธนาคารไปบอกกับนักลงทุนว่านี่คือข้อมูลที่ตรวจสอบแล้ว เราคิดว่า 1-ดี น่าซื้อ และ 2-น่าจะให้ราคาดีๆ หน่อย นั่นคือกระบวนการที่เรียกว่า book building" เขาอธิบาย

กระบวนการเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้การกระจายหุ้นของธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

(รายละเอียดโปรดอ่านล้อมกรอบ "1 ปี 4 เดือน ก่อนขายหุ้น")

จำนวนหุ้นธนาคารกรุงไทยที่นำมากระจายขาย 3,420 ล้านหุ้น ถูกกำหนดสัดส่วน ในช่วงแรกว่าจะขายให้นักลงทุนในประเทศ 60% ที่เหลืออีก 40% จึงขายให้นักลงทุนต่างประเทศ

แต่จากกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างหนักของผู้บริหารของธนาคาร และบล.ภัทร ในการให้ข้อมูลกับนักลงทุน ทำให้มียอดจองซื้อเข้ามามากกว่าที่เสนอขาย ทั้งๆ ที่เป็นหุ้นล็อตใหญ่มาก

มีการประเมินกันว่ายอดเงินจองซื้อหุ้นธนาคารกรุงไทยที่มาจากนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ มีไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท สูงกว่าเมื่อครั้งเปิดจองซื้อหุ้นบริษัท ปตท.กว่า 1 เท่าตัว

โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศจากที่เคยไม่รู้จัก หรือรับรู้เรื่องราวของธนาคารกรุงไทยในด้านที่ผิดๆ กลับมียอดจองซื้อเข้ามาอย่างล้นหลาม มากกว่าจำนวนหุ้นที่ไปเสนอขายถึง 3 เท่า ทำให้สัดส่วนการขายระหว่างนักลงทุนชาวไทยลดลงมาเหลือ 51% และขายให้นักลงทุนต่างชาติ 49%

หลังจากปิดการจองซื้อ และเริ่มจัดสรรหุ้นในวันที่ 13 ตุลาคม และหุ้นล็อตนี้ถูกนำเข้ามาซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้นธนาคารกรุงไทย ยังไม่เคยตกลงมาต่ำกว่าราคา 8.50 บาท ในทางกลับกันราคาก็ไม่ได้เคลื่อนไหวแบบหวือหวา โดยมีการซื้อขายกันส่วนใหญ่ที่ระดับ 10-11 บาท สูงกว่าราคาหุ้นที่นำมากระจายขายโดยเฉลี่ยประมาณ 20%

จำนวนหุ้นที่มีหมุนเวียนในตลาด จากที่เคยมีอยู่แค่ 8% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 34% และนักลงทุนต่างชาติเริ่มให้ความสนใจเข้ามาหาซื้อหุ้นของธนาคารกรุงไทยในกระดานต่างประเทศ (KTB-F)

และจากที่เคยเป็นธนาคารขนาดใหญ่ อันดับ 2 ของประเทศ ที่ไม่เคยมีนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะจากสถาบันต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) มาก่อน แต่หลังจากได้มีการกระจายหุ้นออกไปแล้ว ผู้บริหารของธนาคารต้องเริ่มให้การต้อนรับหรือรับสายโทรศัพท์จากนักวิเคราะห์ และตัวแทนนักลงทุนต่างชาติ ที่เดินทางมาพบ หรือโทรศัพท์เข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูลบ่อยครั้ง

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง บล.ภัทรได้ร่วมมือกับเมอร์ริล ลินช์ เชิญตัวแทนนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศมาร่วมงาน Invester Conference ในประเทศไทย ผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย ก็ต้องไปร่วมประชุมกับนักลงทุนเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นการ Update ข้อมูล

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านดีที่ปรากฏขึ้นกับธนาคารกรุงไทย หลังประสบความสำเร็จกับการกระจายหุ้น..



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.