เร่งปิดเกมทีพีไอ เจ้าหนี้ดึงปตท.คุม


ผู้จัดการรายวัน(24 มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

หุ้นทีพีไอเดี้ยง 3 วันซ้อนหลังวานนี้ (23 มี.ค.) เจ้าหนี้ดอดเจรจาปตท.รอบสุดท้ายหาข้อยุติเข้าถือหุ้นใหญ่ เหตุเจ้าหนี้กังวลอยากได้ คนเชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงกลั่น-ปิโตรฯตัวจริงมารับช่วงบริหารแทน "ประชัย" ส่งผลลือกระหึ่มแผนฟื้นฟูจบ ลดทุน-แฮร์คัต-ขายทิ้งตัวโพลีน บอร์ดบริหาร แผนฟื้นฟูกิจการ TPI เผยแผนใกล้จบแต่ยังไม่จบ ตามขั้นตอนต้องให้เจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้นเห็นชอบส่งศาลพิจารณา ขณะที่"ประชัย"เผยมีไอ้โม่งอยากได้ TPI ถูกๆ ใช้ ปตท.บังหน้า ย้ำใครอยากได้ให้ซื้อหุ้นในตลาดฯดีกว่า

วานนี้ (23 มี.ค.) การซื้อขายหุ้นบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลอุตสาหกรรม หรือ TPI เปิดตลาดที่ 7.90 บาทลดลงจากวันก่อนซึ่งอยู่ที่ 8.05 บาท และปิดที่ระดับราคา 7.85 บาท ปรับลดลงไป 20 สตางค์ เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่สาม เนื่องเพราะมีข่าวลือออกมาตามห้องค้าอย่างต่อเนื่องว่า แผนฟื้นฟูกิจการ TPI ได้ข้อสรุปแล้วโดยจะมีทั้งการลดทุน การแฮร์คัตหนี้ รวมถึงการขายหุ้นบริษัททีพีไอโพลีน จำกัด ของการลดทุน รวมถึงแฮร์คัตในหุ้น TPI ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาโดยตลอด

ลือแผนฟื้นฟูจบหุ้นเดี้ยง

แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทีพีไอที่ผันผวนปรับตัวลดลงตั้งแต่เช้า ว่า ราคาหุ้น TPI ได้ปรับตัวลงเป็นวันที่สาม โดยเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ราคาปิดที่ 8.20 บาท ลดลง 0.15 บาท และวันที่ 22 มี.ค.ราคาปิดที่ 8.05 บาท ลดลงอีก 0.35 บาท ก่อนจะมาปิดลดลงอีกวานนี้เนื่องจากมีกระแสข่าวลือว่าแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอได้ข้อสรุปพร้อมส่งเจ้าหน้าหนี้ภายในสัปดาห์หน้า โดยระบุชัดว่าทุกอย่างลงตัว มีทั้งแปลงหนี้เป็นทุน-ลดทุน-แฮร์คัต และขายหุ้นบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด ( มหาชน )

โดยเฉพาะพันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ว่า คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเข้ามาถือหุ้นใหญ่เกิน 85% ก็กำลังได้ข้อยุติ ขณะที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เจ้าของเดิมและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPI แทบไม่เหลืออะไรและไม่มีชื่อในทีมบริหารชุดใหม่เป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้าในขณะที่ภาวะตลาดหุ้นไทยวานนี้ก็ซบเซาต่อเนื่อง ราคาหุ้น TPI จึงเคลื่อนไหวไปตามกระแสข่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีกระแสข่าวออกมาว่าแผนดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้ข้อยุติจริง เนื่องจากแบงก์กรุงเทพ และนายประชัยไม่ยินยอม

"แบงก์กรุงเทพน่าจะคัดค้านเต็มที่ ซึ่ง TPI กับ TPIPL มีการถือหุ้นไขว้กันอยู่ อาจจะเกิดผลเสียกับ TPIPL ในแง่ที่ไปถือหุ้นของ TPI ไว้ แต่ได้รับผลดีแก่ผู้ถือหุ้นของ TPIPL ในแง่ทุนที่ลดลงไปของ TPI แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเมื่อมีการลดทุนของ TPI แล้ว อาจทำให้ทุนของ TPIPL ลดไปด้วย ซึ่งก็ต้องไปดูว่าการเพิ่มทุนล็อตใหม่นี้มีมติให้ซื้อหุ้นใน TPIPL เพิ่มหรือไม่ที่ราคาเท่าไหร่ หากการเจรจาประสบความสำเร็จก็จะทำให้หนี้สินต่อทุนลดลง" แหล่งข่าวกล่าว

เจ้าหนี้เจรจาปตท.ถือหุ้น

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าวานนี้(23 มี.ค.) เจ้าหนี้ TPI ได้มีการประชุมร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อหาข้อสรุปการเข้ามาร่วมลงทุนใน TPI

แหล่งข่าวจากเจ้าหนี้ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ เปิดเผยว่า มีการประชุมเจรจาร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ TPI กับ ผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการประชุมเจรจาเพื่อให้ ปตท.เข้ามาร่วมลงทุน หลังจากที่แผนฟื้นฟูกิจการมีการลดทุน และเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งต้องมีผู้ร่วมลงทุนใหม่เข้ามาลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวออกมาว่ามีกลุ่มอื่นที่จะเข้ามาลงทุนใน TPI แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมา เนื่องจากทางเจ้าหนี้ TPI ต้องการได้ผู้ร่วมลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อให้แน่ใจเมื่อเข้ามาบริหาร TPI ได้ และปตท.เป็นเป้าหมายแรกที่เจ้าหนี้ต้องการให้เข้ามาถือหุ้นและบริหาร TPI

"เจ้าหนี้มีความกังวลในตัวผู้ร่วมลงทุนใหม่ว่าจะมีความรู้เรื่องธุรกิจของ TPI หรือไม่ จึงอยากได้ปตท.เพราะมีความรู้ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและก็เป็นมืออาชีพ จะได้วางใจได้ ซึ่งในส่วนของภาครัฐก็ปล่อยให้เจ้าหนี้ทำตามความประสงค์ก่อน ซึ่งการเจรจาน่าจะได้ข้อยุติในวันนี้ออกมาว่าตกลงทางปตท.จะเข้าลงทุนหรือไม่"

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ทางปตท.เองเหตุที่ต้องใช้เวลาคิดให้ถี่ถ้วนก็เนื่องจาก ปตท.เองก็มีบริษัทในเครือ ในกลุ่มที่ต้องดูแลค่อนข้างมากอยู่แล้ว ถ้าต้องเข้าไปลงทุนและดูแลใน TPI อีกก็เป็นภาระที่หนักพอสมควรและ TPI ก็เป็นตัวใหญ่ ทำให้ที่ผ่านมา ปตท.ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจพอสมควร อีกทั้งเม็ดเงินต้องนำมาลงทุนก็เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งปตท.อาจต้องระดมทุนเข้ามาเพื่อลงทุนใน TPI

แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ของทีพีไอ กล่าวว่า เจ้าหนี้จะพิจารณา แผนปรับโครงสร้างหนี้ทีพีไอฉบับแก้ไขให้ละเอียดรอบคอบ โดยในเบื้องต้นรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไร เพราะรายละเอียดของแผนฯจะมีการลดทุนจดทะเบียน ทำให้เจ้าหนี้ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องรับส่วนสูญเสีย ด้วย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้จะมีการพิจารณาในภาพรวมประกอบกันทั้งหมด ก่อนตัดสินใจ อาทิ ทิศทางของบริษัทฯในอนาคต มูลค่าหุ้น TPI ปรับตัว ดีหรือไม่ การสร้างรายได้เพื่อนำมาชำระหนี้ในอนาคต รวมถึงพันธมิตรรายใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงาน TPI ซึ่งเจ้าหนี้ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TPI 75% จึงมีสิทธิ ชอบธรรมและบทบาทสำคัญในการหาพันธมิตรด้วย

"เราอยากดูให้รอบคอบก่อนที่จะบอกว่าเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูฯฉบับแก้ไขหรือไม่ แม้ว่าขณะนี้ตัวเลขบางอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เชื่อว่าคงเปลี่ยนแปลงไม่มาก โดยโปรเซสต่างๆคงเหมือนเดิมดังที่ผู้บริหารแผนฯแจ้งเป็นระยะๆ เพราะคลังได้เร่งรัดให้แผนฟื้นฟูฯมีข้อยุติโดยเร็ว"

"ประชัย"ระบุอยากได้ซื้อในตลาด

ด้านนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ TPI เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูกิจการ TPI ยังไม่ได้ข้อสรุปตามที่มีข่าวลือ "ผมว่าเจ้าหนี้แบงก์กรุงเทพไม่เห็นด้วยถ้าแฮร์คัตตามแผนฟื้นฟู และผมก็เห็นด้วยถ้าจะลดทุน TPI เพราะฉะนั้นแผนนี้ยังไม่จบ และตามขั้นตอนก็ต้องเจ้าหนี้เห็นด้วยลูกหนี้เห็นด้วย แล้วยื่นต่อศาลพิจารณา ถ้าไม่เห็นด้วยกันหมดก็ต้องมีการต่อสู้กันต่อไป"

สำหรับการเจรจากันระหว่างเจ้าหนี้กับบริษัท ปตท. นายประชัยกล่าวว่า ความจริงแล้วเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการคนหนึ่งที่เจรจาให้ ปตท.เข้ามาลงทุนใน TPI "เอา ปตท. มาบังหน้ามากกว่า แท้จริงอาจเป็นกลุ่มอื่นที่อยากได้ TPI ซึ่งความจริงใครก็ตามที่อยากได้ TPI ก็ขอให้ซื้อหุ้น TPI ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าอยากได้ไม่จำเป็นต้องเอาอำนาจรัฐมาซื้อ TPI ไปในราคาถูกๆ และเชื่อว่ารัฐไม่ทำอย่างนี้แน่"

นายประชัยกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน TPI มีกำไร ก่อนหักภาษีและดอกเบี้ย หรือ EBITDA เดือนมกราคม มีกำไร 1.6 พันล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ มีกำไร 1.5 พันล้านบาท เดือนมีนาคม มีกำไร 1.5 พันล้านบาท ประมาณการทั้งปีน่าจะกำไร 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกิจการที่มีเงินสดมากกว่าปตท.เสียอีก จึงไม่รู้ว่าจะให้ปตท.เข้ามาลงทุนทำไม และ TPI ก็ไม่อยู่ได้อยู่ในสภาพที่ต้องลดทุน

หนึ่งในกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการ TPI ยังไม่จบเพียงแต่เกือบจะจบแล้ว ตามหลักการต้องให้เจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการรวมทั้งผู้ถือหุ้นด้วยเพื่อยื่นต่อศาลต่อไป ส่วนการเจรจากับผู้ร่วมทุนรายใหม่ หรือ ปตท.เป็นคนละส่วน และตอนนี้ปตท.ก็ยังไม่ได้เข้ามาในขณะนี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีกลุ่มที่ตกเป็นข่าวว่าจะเข้ามาร่วมทุนได้แก่ กลุ่มซีพี กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย และปตท.ซึ่งเป็นรายที่ตกเป็นข่าวหนาหูในระยะที่ผ่านมาจนกระทั่งมีการเจรจากันเพื่อหาข้อยุติวานนี้ (23 มี.ค.) ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางด้านนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้ลงโฆษณาถึงข้อเสนอแผนการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ของฝ่ายลูกหนี้ต่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอและกลุ่มเจ้าหนี้ผ่านทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับไปเมื่อเร็วๆ นี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.