CCP ดันแบรนด์กันยงโฮมสโตร์ ชิงส่วนแบ่งค้าปลีก-ส่งวัสดุต่อยอดธุรกิจ


ผู้จัดการรายวัน(23 มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ชลบุรีกันยง" เครือผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) เสริมจุดขายหวังตอกย้ำแบรนด์ กันยงโฮมสโตร์ เล็งเปิดสาขา 2 ที่พัทยา พร้อมเร่งขายปลีก หลังตลาดโต ควบคู่รักษาตลาดลูกค้ารายใหญ่ (โฮลเซลส์) ด้านเอ็มดี CCP เตรียมเปิดพื้นที่ผสมปูน(Plants) อีก 3 จุด เงินลงทุน 100 ล้าน เร่งเพิ่มรถขนส่งรวม 220 คัน รองรับการทำตลาดเชิงรุก

นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการบริษัท ชลบุรีกันยง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายใต้แบรนด์ เนม กันยงโฮมสโตร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP เปิดเผยว่าหลังจากที่บริษัทได้เปิดสาขาภายใต้แบรนด์เนม ที่พื้นที่ชลบุรี เพื่อทำหน้าที่ในการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ปรากฏว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยในปี 2546 มียอดขายถึง 626 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 26 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2547 บริษัท มียอดขาย 100 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนของการขายปลีกมีอัตราสูงขึ้น

สาเหตุสำคัญที่ยอดขายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น มาจากการขายที่มุ่ง จำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เพื่อให้ปริมาณการขายสินค้ามีอัตราที่สูง มีผลต่อการแข่งขัน ทำให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาพตลาด ด้านค้าปลีกเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ แต่ยังคงรักษาลูกค้ารายใหญ่

โดยบริษัทเตรียมเปิดสาขาแห่งที่ 2 พื้นที่พัทยาภายในเดือนตุลาคมนี้ ใช้เงินทุนกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นทุนที่มาจากเงินเพิ่มทุน ขนาดพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ทั้งนี้แม้จะเหลือเวลาการขายเพียง 3 เดือนสุดท้ายของปี แต่คิดว่าหากมียอดขายเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อวันก็น่าพอใจ ขณะเดียวกันรูปแบบจะมีการเพิ่มสินค้าสำหรับเฟอร์นิเจอร์ ต่างกับสาขาแรกที่สินค้าดังกล่าวจะเหมาะกับห้องครัว ( Build-In )

"รูปแบบของร้านจะมีความต่างกับร้านที่จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เพราะต้องพิจารณาเรื่องทำเล มีพื้นที่เพื่อสต๊อกของได้เยอะ มีของโชว์ ซึ่งตลาดของกันยงโฮมสโตร์จะต่างกับคู่แข่งอย่างร้านค้าโฮมโปร หรือจะมีสาขาให้เทียบเท่าร้านค้า เซเว่นคงลำบาก ทำให้เราต้องเลือก พื้นที่ในการทำตลาด นอกจากนี้ยอดการขายเงินสดเฉลี่ยได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนบาทต่อวันเฉลี่ยทั้งปี เพิ่มเป็น 4-5 แสนบาทต่อวัน โดยเฉพาะปลายปีที่ผ่านมายอดการขายด้วยเงินสดพุ่งขึ้นเฉลี่ย 8 แสนบาทต่อวัน" นายอาทิตย์กล่าว

ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะเปิดสาขาภายในรอบๆชานเมือง คือ ย่านรามอินทราและบางนา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา เพราะต้องรอให้การเปิดสาขาแห่งที่ 2 ดำเนินการไประยะหนึ่งก่อน

คาดมาร์จิ้นทั้งกลุ่มโต 17%

นายประทีป ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิต ภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP กล่าวว่า ในปีนี้อัตราการกำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น) ของบริษัทจะเติบโตได้ระดับ 15-17% เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2546 ปัจจัยสำคัญมาจากบริษัทได้ลงทุนเพิ่มจุดผสมปูนผสมเสร็จ (Plants) เพิ่มในช่วงไตรมาสแรกจำนวน 3 แห่ง แบ่งเป็น 2 จุดแรกบริเวณสุวรรณภูมิ และอีก 1 แห่งที่บางนา รวมแล้วบริษัทมีจุดผสมปูนผสมเสร็จถึง 17 แห่ง มีกำลังการผลิต 72,000 คิวต่อตร.ม. ต่อเดือน และภายในไตรมาสที่สองจะมีการลงทุนเพิ่มจุดผสมปูนผสมเสร็จอีก 3 แห่ง เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท มีกำลังการ ผลิต 15,000 คิวต่อตร.ม.ต่อเดือน ขณะเดียวกันการเพิ่มจำนวนรถขนส่ง จะทำให้บริษัทรับรู้รายได้เร็วขึ้น โดยจะเพิ่มจาก 200 คัน ณ สิ้นปีที่ผ่านมาเป็น 220 คัน ในปีนี้ เพราะส่วนนี้ถือเป็นจุดอ่อนของธุรกิจก่อสร้างในระบบ

นอกจากนี้ การปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารลูกหนี้ ส่งผลให้มีรายได้รับที่เร็วขึ้น จากเดิมที่ระยะเร่งรัดเก็บหนี้ในปี 2545 อยู่ที่ 100 วัน มาเหลือ 73 วันในปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีกระแสเงินที่หมุนได้คล่องขึ้น ส่วนการเก็บสินค้าคงเหลือ(สต๊อก)สินค้าได้ลดลงจาก 75 วันเหลือ 71 วัน

"ขณะนี้งานก่อสร้างที่อยู่ในมือ มีประมาณ 740 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 3 ที่มีอยู่ 563 ล้านบาท ส่วนงานก่อสร้างอื่นๆคงไม่สามารถ เปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ อย่างไรก็ดีด้วยจุดแข็งในการบริการ และมีระบบขนส่งที่พร้อม น่าจะทำให้มีโอกาสในการขยายตลาดได้ และนโยบายของบริษัทธุรกิจของเราไม่เอาเรื่องราคาไปชนกับใคร แต่ สิ่งที่เราทำคือการบริการให้กับลูกค้า สินค้ามีคุณภาพ ราคาที่เสนอมีความยุติธรรมและมีความเป็นไปได้" นายประทีปกล่าว

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2546 มีหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 1.03 เท่า เทียบกับปี 2545 มี D/E 27 เท่า สาเหตุมาจาก ผลรายได้ที่เพิ่มขึ้น 1,266 ล้านบาท เติบโตกว่า 48% เมื่อเทียบกับปี 2545 ที่มียอดขาย 852 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 127 ล้านบาท จาก 49 ล้านบาทในปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราเติบโตที่ 259% บริษัทมีกระแสเงินสดที่คล่องตัวจาก 55 ล้านบาทในปี 45 เพิ่มเป็น 109 ล้านบาทในปี 46



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.