SETดันตั้งตลาดอนุพันธ์


ผู้จัดการรายวัน(22 มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"กิตติรัตน์" เผยบอร์ดไฟเขียววงเงิน 1,000 ล้านบาทจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องถือหุ้นเกิน 50% แต่ไม่ปิดกั้นสถาบันอื่นใครสนเชิญ คาดทดสอบระบบซื้อขายปลายปีนี้ เริ่มซื้อขายจริงพ.ค.48 เพียงแต่อาจไม่ทันให้บริการนักลงทุน ทั่วไปตามที่รมว.คลังต้องการ ด้าน "ธีระชัย" เผย รมว.คลัง ให้นโยบายเน้นพัฒนาตลาดทุนให้มากขึ้นจากเดิมที่แก้ปัญหาเร่งด่วนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบและนักลงทุน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า คณะกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ได้มีมติให้ตลาดหลักทรัพย์ฯให้การสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือ ตลาดอนุพันธ์ (derivatives) โดยได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ เป็นเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในระยะแรกคาดใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาทในการจัดตั้ง และมีงบประมาณสำรองไว้อีก 700 ล้านบาทเพื่อเป็นงบประมาณในการบริหาร

ทั้งนี้ ในระยะแรกจะต้องมีการติดตั้งระบบการซื้อขาย การชำระราคาค่าซื้อขายหุ้นแบบสุทธิ (เคลียริ่ง) และค่าใช้จ่ายในการบริหารต่างๆ เช่นการบริหารบุคลากร และการพัฒนาระบบเทคโนโลยี ซึ่งงบประมาณที่ใช้ทั้งหมด ตลาดหลักทรัพย์อาจเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว

"ในการจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้านั้นสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ สามารถแจ้งประสงค์ในการร่วมในการจัดตั้งตลาดได้ แต่ตลาดหลักทรัพย์จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนมากกว่า 50% เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดตั้งและการบริหารงาน ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ก็มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 100%" นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถดำเนินการทดสอบระบบซื้อขายได้ประมาณปลายปี 2547 และเริ่มดำเนินการซื้อขายจริงในเดือนพ.ค.48 เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการทดสอบระบบ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถเปิดดำเนินการให้แก่นักลงทุนทั่วไปได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งใจให้ทันปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ในฐานะแกนนำการจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ก็ต้องเร่งดำเนินงานให้เร็วที่สุด

ส่วนสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์(โบรกเกอร์) ในปัจจุบันที่ต้องการทำธุรกิจด้านนี้สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิก ซึ่งรวมไปถึงสถาบันอื่นๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ด้วย และการเข้ามาเป็นสมาชิกโดยตรงของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่โบรกเกอร์อาจจะต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติที่เหมาะสมประกอบด้วย

สำหรับสินค้าที่อนุญาตให้มีการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์เบื้องต้นจะเป็นประเภทฟิวเจอร์ หรือ ดัชนีซื้อขายล่วงหน้า อินเด็กซ์ ออปชัน (INDEX OPTION) และการซื้อขายอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (INTEREST FUTURES ) เป็นต้น

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯยังได้พิจารณานำใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ประเภท เดริเวทีฟวอร์แรนต์ (ดี-วอแรนท์) และคัฟเวอวอร์แรนต์ (ซี-วอร์แรนต์) ซึ่งถือเป็นสินค้าประเภทป้องกันความเสี่ยงเข้าไปซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ด้วย เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นตลาดเพื่อการระดมทุน ขณะที่ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทั้งสอง ประเภทไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุน

ดังนั้นเป็นไปได้ว่าอาจพิจารณานำหลักทรัพย์ดังกล่าวไปซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ แต่ทั้งนี้จะต้องหารือกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ก่อน

ด้านคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมติเมื่อวันที่ 17 มี.ค.47 เห็นชอบในหลักการของเกณฑ์การอนุญาต ประกอบ ธุรกิจเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยเปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือประเภทการค้าหลักทรัพย์ที่ไม่จำกัดเฉพาะตราสารหนี้

บริษัทจัดตั้งใหม่ที่มีธนาคารพาณิชย์ หรือ บริษัทหลักทรัพย์ที่มีลักษณะข้างต้น รายใดรายหนึ่งถือหุ้น 75% ขึ้นไป สามารถขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (เดริเวทีฟ โบรกเกอร์ : derivative broker) ทั้งในและนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

โดยหากเป็นการให้บริการนอกศูนย์ซื้อขายฯ สามารถให้บริการได้แต่เฉพาะลูกค้าประเภทสถาบันเท่านั้น ทั้งนี้ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องมีความ พร้อมทั้งด้านเงินทุน ระบบงาน และบุคลากร

นอกจากนี้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีมติให้ปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเป็นเดริเวอร์ทีฟโบรกเกอร์ หรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (เดริเวอร์ทีฟดีลเลอร์) โดยเพิ่มเติมให้บริษัทจัดตั้งใหม่ที่มีธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์รายใดรายหนึ่งถือหุ้น 75% ขึ้นไปสามารถขอจดทะเบียนเป็นเดริเวอร์ทีฟโบรกเกอร์หรือเดริเวอร์ทีฟ ดีลเลอร์ได้ เพื่อให้บริการแก่เฉพาะลูกค้าประเภทสถาบันและเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกศูนย์ซื้อขายฯ

ส่วนสถาบันการเงินต่างประเทศสามารถขอจดทะเบียนเพื่อประกอบธุรกิจเดริเวอร์ทีฟ ดีลเลอร์ โดยไม่ต้องจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าประเภทสถาบันและเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกศูนย์ซื้อขายฯ ทั้งนี้สถาบันการเงินดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ได้ในประเทศของตน และมีคุณสมบัติในเรื่องเงินทุน ระบบงาน และบุคลากรด้วย

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการทำงาน ซึ่งจะต้องเน้นการกำกับดูแลในแง่ของการพัฒนาตลาดทุนให้มากขึ้นจากเดิมที่จะแก้ปัญหาในเรื่องเร่งด่วนก่อนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบโดยรวมและต่อนักลงทุน

ทั้งนี้รมว.คลังได้ให้นโยบายกับ ก.ล.ต. ว่า ให้กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในการพัฒนาโดยเฉพาะให้มีผู้ลงทุนสถาบันในประเทศมากขึ้นเพื่อให้มีการลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนโดยตรง และทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างนักลงทุนรายย่อยกับนักลงทุนต่างประเทศ

รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นตลาดบอนด์ ตลาดตราสารหนี้และกองทุนรวมซึ่งทางสำนักงานก.ล.ต.รับไปพิจารณาเพื่อแนวทางในทางปฏิบัติดังกล่าว โดยตลาดตราสารหนี้จะเพิ่มบทบาทของศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย และพัฒนาเครื่องมือสร้างสภาพคล่องให้แก่ตลาดตราสารหนี้

ส่วนกองทุนรวมจะเน้นการปรับปรุงหนังสือ ชี้ชวนและรายงานการเปิดเผยข้อมูลให้เข้าใจง่าย การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม และการให้ความรู้ผู้ลงทุน ขณะที่ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำนักงานก.ล.ต.จะเร่งจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้เสร็จและเปิดซื้อ ขายได้ภายในปี 2548

"ถึงแม้การทำงานของสำนักงานก.ล.ต. มีกฎหมายกำกับบทบาทและหน้าที่ทั้งการกำกับดูแลและการพัฒนาตลาดทุนอยู่แล้วแต่ท่านรมว.คลังก็ให้กลับไปหาวิธีในการพัฒนาตลาดทุนให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดทุนในอนาคต และท่านยังให้กรมสรรพากรไปศึกษาการจูงใจให้ประชาชนมาลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเป็นกองทุนปิดระยะยาวและบริหารโดยมืออาชีพ เพื่อพัฒนาตลาดหุ้นไทยไปอีกระดับหนึ่ง ด้วย" นายธีระชัยกล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนมากกว่า 50% เป็นการซื้อขายจากนักลงทุนรายย่อย ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศมีปริมาณซื้อขายราว 20% ส่วนสถาบันมีสัดส่วนซื้อขายที่ประมาณ 13% เท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.