เชื่อหรือไม่ว่านักวิเคราะห์ คือ แก้ววิเศษที่บอก
สัญญาณใดๆ ออกมาได้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะมองแก้วตัวเองในมุมไหน เพราะประสบการณ์และพื้นฐานแตกต่างกัน
แต่พวกเขาไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด
กิตตินันท์ สำรวจรวมผล Head of Research แห่งซาโลมอน สมิธ บาร์นี ประจำประเทศไทย
นักวิเคราะห์วัยหนุ่มผู้ซึ่งเชี่ยวชาญการวิเคราะห์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และซีเมนต์
เขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการโปรโมตจากสถาบันการเงินข้ามชาติสัญชาติอเมริกันแห่งนี้
บทบาทหน้าที่ของกิตตินันท์ คือ การ organizer เกี่ยวกับการวิเคราะห์หลักทรัพย์
ต้องรับผิดชอบงานทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เขาชี้ "ผมไม่อยากบอกว่าเป็นผู้จัดการ
แต่เป็น co-ordinator มากกว่า"
แม้ว่าเขาทำหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ แต่ความจริงแล้วซาโลมอน สมิธ บาร์นีกลับไม่เรียกตัวเองว่าเป็นโบรกเกอร์
แต่มองว่าเป็นวาณิชธนกิจ (investment bank :IB) ทำหน้าที่ต่างจากโบรกเกอร์ตรงที่มีการเกี่ยวข้องกับตลาดแรก
ขณะที่โบรกเกอร์ทำงานกับตลาดรอง
"นักวิเคราะห์ของเราแต่ละคนจะมีความรู้ด้านตลาดรองและตลาดแรกด้วย
" บทบาทของกิตตินันท์ไม่ใช่แค่เพียงการวิเคราะห์หลักทรัพย์อย่างเดียว
แต่ต้องแสวงหาโอกาสว่าบริษัทไหนต้องการออกหุ้นหรือเพิ่มทุนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการหาโอกาสให้แก่กิตตินันท์มากนัก
โดยเฉพาะการทำงานในตลาดแรก อีกทั้งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังตกต่ำ ส่งผลให้สถาบันการเงินท้องถิ่นลดบทบาทนักวิเคราะห์ลง
ขณะที่สถาบันการเงินข้ามชาติกลับให้ความสำคัญแก่นักวิเคราะห์
เรามองตรงนี้ว่าเป็น global trend ซึ่งก่อนวิกฤติเศรษฐกิจสังเกตได้ว่าโบรกเกอร์ข้ามชาติ
ที่เข้ามาทำงานในไทยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติยุโรป แต่หลังวิกฤติกลับกลายเป็นสัญชาติอเมริกัน
กิตตินันท์บอก
นี่คือแนวโน้มที่เขามองเห็นอย่างเด่นชัด เนื่องจากโบรกเกอร์อเมริกันมองตนเองว่าเป็นวาณิชธนกิจ
รายได้จะชดเชยกันได้ เขาชี้ ทั้งๆ ที่ช่วงเศรษฐกิจขาลงธุรกิจโบรกเกอร์ซบเซา
แต่มีธุรกิจอื่นเข้ามาทดแทน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มทุนหรือควบรวมกิจการ
หมายความว่าโลกธุรกิจในปัจจุบันเป็นของตลาดแรกโดยเฉพาะธุรกิจควบรวมกิจการ
(M&A) มากกว่าการซื้อขายหุ้น นี่คือความคิดของ Global Investment Bank
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการทำงานของกิตตินันท์จะมีความกดดันพอสมควรท่ามกลางเศรษฐกิจที่ง่อนแง่น
เนื่องจากบทบาทของเขา คือ การวินิจฉัยโรค แน่นอนเมื่อตลาดหุ้นไม่ดีเราก็ไม่ดีตามไปด้วย
เป็นความเครียดเวลาสิ่งที่จะเดินไปข้างหน้าแล้วเชื่องช้า
ว่ากันว่าบทบาทของนักวิเคราะห์ย่อมมีความสำคัญต่อประเทศโดยรวม แต่กิตตินันท์ยังมองอาชีพตัวเองไม่มีความสำคัญระดับดังกล่าว
บอกเพียงว่าตัวเองเป็นตัวกลางในการกระจายข้อมูลข่าวสาร เป็นสื่อทำให้นักลงทุนเกิดความเข้าใจประเทศไทยให้ดีขึ้น
สาเหตุเกิดจากนักลงทุนต่างประเทศไม่ให้ความสนใจไทยเหมือนในอดีต หน้าที่ของพวกเราก็ต้องสร้างความเข้าใจว่าบรรยากาศการลงทุนในไทยเป็นอย่างไร
อีกมุมหนึ่งของกิตตินันท์ คือ การสร้างความเข้าใจให้กับบรรดาบริษัทท้องถิ่นด้วยว่าจริงๆ
แล้ว capital market ที่นี่ต่างประเทศเขามองอย่างไร บางครั้งเราอยากจะบอกกับบริษัทไทยทุกแห่งว่าทำไมเราควรมีบรรษัทภิบาล
หรือต้องดูแลผู้ถือหุ้นให้ดีกว่าในปัจจุบัน
ปัญหาของนักวิเคราะห์ คือ อยากเห็นการพัฒนาตลาดหุ้นเพราะพวกเขามองว่าการดำเนินธุรกิจที่ยังยึดติดกับวัฒนธรรมเก่าๆ
หรือผู้บริหารท้องถิ่นบางคนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนอย่างแท้จริง
อีกทั้งตัวตลาดหุ้นเองก็ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับนักลงทุน ซึ่งความจำเป็นเร่งด่วน
คือ การเพิ่มขึ้นของนักลงทุนสถาบันซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการข้อมูลสูงขึ้นด้วย
รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ของทางการที่ควรตอบสนองได้ชัดเจน และตลาดหุ้นต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ดีด้วย
ช่วงหลังๆ พวกเราทำงานลำบากขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็กลงจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ความลำบากดังกล่าว กิตตินันท์บอกว่าก่อนวิกฤติก็มีความลำบากเช่นเดียวกัน
แต่เกิดในลักษณะที่แตกต่างกัน ก่อนวิกฤติทุกคนมองโลกในแง่ดีแต่ลำบากในการแข่งขัน
หลังเกิดวิกฤติ แม้การแข่งขันจะลดลง แต่นักวิเคราะห์กลับลำบากตรงที่บางคนไม่เคยมีประสบการณ์ในบางสถานการณ์มาก่อน
เช่น ก่อนวิกฤติงบบัญชีบางบริษัทอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดขององค์กร
แต่หลังเกิดเหตุการณ์พวกเขาต้องมานั่งพิจารณาว่าตัวเองมีเงินสดเพียงต่อการบริหารหนี้หรือไม่
"ความจริงสถานการณ์ก่อนและหลังวิกฤติไม่ต่างกันเลย เพราะก่อนวิกฤติไม่มีใครมานั่งดูงบบัญชีเท่าไร
" กิตตินันท์กล่าว
เหตุการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับนักวิเคราะห์ในสถาบันการเงินท้องถิ่น
เนื่องจากสถาบันการเงินข้ามชาติมักจะได้เปรียบในแง่เครือข่าย เห็นได้ชัดในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี
โดยเฉพาะด้านวาณิชธนกิจที่ตลาดต่างประเทศมีความชำนาญและการพัฒนารวดเร็ว
"การวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์จะออกมาโดยมีมุมมองซึ่งบ้านเราอาจจะไม่เคยเจอมาก่อนเลย
ไม่ได้หมายถึงเขาเก่งแต่เขาเห็นอะไรมากกว่า" กิตตินันท์ชี้ "งานวิเคราะห์ค่อนข้างจะเป็นงาน
on the job training ต่อให้อ่านหนังสือมากมายหรือมีคนวางกรอบให้ทำ ท้ายที่สุดก็ต้องอาศัยประสบการณ์"
กิตตินันท์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
และหลังจากจบการศึกษาในปี 1986 แล้วกลับประเทศไทยเพื่อรับราชการทหารอากาศ
ในฐานะนักวิเคราะห์ระบบฝ่ายคอมพิวเตอร์โรงพยาบาลภูมิพล
ทำงานราชการได้ 3 ปีก็ลาออกเพื่อไปเรียนรู้ระบบงานภาคเอกชนในบริษัท GreenSpot
(ประเทศไทย) ในปี 1991 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหารระบบข้อมูล
เมื่อเข้าไปทำเขาได้ค้นพบว่าเจ้าขององค์กรมีความเข้าใจ หรือมีต้องการให้ระบบเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการทำงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ไปทำอย่างอื่นซึ่งดีกว่ามานั่งรอว่าเมื่อไรเขาจะเข้าใจ
เมื่อความคิดของเขาไม่เป็นที่เข้าใจขององค์กรจึงลาออกไปศึกษาเอ็มบีเอที่สถาบันศศินทร์
ในปี 1993 ณ จุดนี้เขามองว่าเป็นการวางแผนการทำงานในอนาคต และอีกหนึ่งปีให้หลังเขาจบการศึกษาและเริ่มงานที่บลจ.กสิกรไทย
ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และซีเมนต์
"จริงๆ แล้วไม่มีอะไร อยากเป็นโบรกเกอร์มากกว่า"
ทำงานที่บลจ.กสิกรไทยได้ปีเดียวก็ลาออกไปทำงานให้กับ บล. BZW-KT ในฐานะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาวุโส
ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้ คือ การเป็นโบรกเกอร์ การสร้างการปฏิบัติงานที่ดี และความสัมพันธ์ระหว่างนักวิเคราะห์
มาร์เก็ตติ้งและลูกค้า
ปี 1997 กิตตินันท์เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ซาโลมอน
สมิธ บาร์นี และก็ใช้เวลาเพียง 5 ปีในการสร้างประสบการณ์จนได้รับโปรโมตให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในปัจจุบัน
หลายคนคิดว่านักวิเคราะห์ต้องนั่งอยู่หน้าจอแล้วดูตัวเลขแนวโน้ม ซึ่งไม่ผิดที่จะคิดเช่นนั้น
แต่งานส่วนใหญ่ คือ ความสามารถในการเข้าใจว่าธุรกิจนี้จริงๆ แล้วจะขยายต่อไปและต้องทำอะไรบ้าง
"เป็นงานที่เราจะต้องใช้ความสามารถทุกรูปแบบ"