บิ๊กทรีนิตี้ไม่หวั่นคอม-ลิ้งค์ทิ้งหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(15 มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหารทรีนีตี้ไม่หวั่นผู้ถือหุ้นใหญ่คอม-ลิงค์ขายหุ้นออกมาในกระดาน โดยยังเหลือหุ้นอีกกว่า 17% ชี้เป็นเรื่องปกติและนโยบายการบริหารงานไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด รวมทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นทั้งธนาคารกรุงไทยและกองทุนไทยแลนด์อิควิตี้ฟันด์ยังถือในสัดส่วนเท่าเดิม จะห่วงก็ต่อเมื่อคอม-ลิงค์ขายยกล็อตให้ใครไม่รู้เท่านั้น

นายกัมปนาท โลหะเจริญวณิช กรรมการบริหาร บริษัททรีนีตี้วัฒนา จำกัด(มหาชน)เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัทคอม-ลิงค์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ขายหุ้นบริษัททรีนีตี้วัฒนาออกมาจำนวน 2.15% ว่าจะไม่มีผลกระทบแต่อย่างใดต่อการบริหารงาน เพราะการขายหุ้นของบริษัทคอม-ลิงค์เป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติจึงไม่น่าวิตกแต่อย่างใด

นอกเสียจากว่าบริษัทคอม-ลิงค์จะมีการตกลงขายยกล็อตจำนวนมากให้กับกลุ่มบุคคลที่บริษัทไม่รู้จักมาก่อนจึงจะถือว่า เป็นเรื่องที่น่าห่วง ส่วนการขายหุ้นออกมาของคอม-ลิงค์ในครั้งนี้มาจากสาเหตุใดไม่สามารถตอบได้

ปัจจุบันนี้บริษัทคอม-ลิงค์ถือหุ้นในบริษัททรีนีตี้วัฒนาอยู่ที่ระดับ 17.90% ซึ่งลดลงจากเดิมที่เคยถือในสัดส่วน 23-24% แต่ก็ยังมีส่วนของผู้บริหารบริษัทคอม-ลิงค์ถือหุ้นอยู่เช่นกัน ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นทั้งธนาคารกรุงไทยก็ยังถือหุ้นในสัดส่วนเท่าเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ระดับ 19% ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในปัจจุบันนี้ และกองทุนไทยแลนด์อิควิตี้ฟันด์ ที่ยังถืออยู่สัดส่วนเท่าเดิมคือ 10%

ขณะที่กลุ่มผู้บริหารของบริษัท ทรีนีตี้วัฒนาเดิมเคยถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 17% แต่เมื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สัดส่วนการถือหุ้นก็ลดลงมาเช่นกัน

"การเป็นบริษัทจดทะเบียน การที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 10% ก็ถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว บางบริษัทนั้นจะไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพราะหุ้นกระจายไปทั่ว เช่น หุ้นบริษัทเงินทุนธนชาติ เป็นต้น แต่ ก็ยังสามารถบริหารงานต่อไปได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด"

สำหรับกรณีการควบรวมบริษัทหลักทรัพย์นั้นนายกัมปนาทกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องควบรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์รายใด เพราะมองว่าการที่จะเข้าควบรวมกิจการนั้นจะต้องเกิดประโยชน์ในทางธุรกิจต่อทั้ง 2 ฝ่ายและสามารถเกื้อหนุนกันได้ โดยขณะนี้บล.ทรีนีตี้มีความชำนาญในธุรกิจด้านวาณิชธนกิจและด้านนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่มีฐานนักลงทุนเป็นรายย่อย

ดังนั้น ถ้าบริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้จะควบรวมกับบริษัทหลักทรัพย์ใด บริษัทหลักทรัพย์นั้นจะต้องทำธุรกิจที่แตกต่างกัน เช่น เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนี้มีบริษัทหลักทรัพย์ที่มีฐานลูกค้าเป็นนักลงทุนต่างประเทศเป็นหลักมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นขณะนี้บล.ทรีนีตี้ มีฐานนักลงทุนรายย่อยเป็นหลักซึ่งสาขาบริการค้าหลักทรัพย์จำนวน 12 แห่งและภายในปีนี้จะเพิ่มสาขาอีกประมาณ 7-8 แห่งเพื่อให้มีจำนวน 20 แห่ง

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)แจ้งว่า นับตั้งแต่ปี 2546 จน ถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 บริษัท คอม-ลิงค์ ได้เข้ามาถือหุ้นเพิ่มในบริษัททรีนีตี้ วัฒนาจาก 17.54% เพิ่มเป็น 22.44% และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 ได้ลดสัดส่วนลง 2.15% ทำให้ยังคงถือหุ้นอยู่ 17.90%

ขณะที่ นายศิริรัช โรจนพฤกษ์ ผู้บริหารบริษัทคอม-ลิงค์ก็ได้มีการเทขายหุ้นทรีนีตี้ออกมาตลอด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 ได้ขายหุ้นจำนวน 10.48% ทำให้เหลือหุ้น 13.64% เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2546 ได้ขายหุ้นออกมาจำนวน 3.23% ทำให้ยังเหลือหุ้นจำนวน 7.18% และวันที่ 15 กันยายน 2546 ได้ขายหุ้นจำนวน 2.15% ทำให้เหลือหุ้น 2.87%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.