อัศวินการลงทุน?

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวในระดับบอบบาง ความเสี่ยงเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวเพิ่มสูงขึ้น กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนจึงคงเป็นแบบอนุรักษ์
เน้นลงทุนในหุ้นที่ผันผวนกับเศรษฐกิจต่ำ ส่วนตราสารหนี้เน้นลงทุนระยะสั้น

สิ่งที่คู่กับการลงทุน คือ ความเสี่ยง เมื่อเข้าไปลงทุนเท่ากับว่ากำลังยืนอยู่ท่ามกลางความสว่าง และความมืดว่าจะได้รับผลตอบแทนหรือขาดทุนมากน้อยเพียงใด เพราะการลงทุนแต่ละประเภทจะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป คำถามก็คือรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะนี้กองทุนรวมกำลังเป็นจุดสนใจในสายตานักลงทุนที่เล็งเห็นว่า เป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนน้อยกว่าการลงทุนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากในปัจจุบัน อีกทั้งนักลงทุนยังได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี สภาพคล่องและการกระจายความเสี่ยง

ภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในปีที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสแรกปีนี้ บลจ.หลายแห่งได้เสนอกองทุนใหม่ๆ ออกมาโดยเน้นหนักไปที่กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งตลาดผู้ออมให้การต้อนรับค่อนข้างดีในแง่ของยอดขายหน่วยลงทุน แต่ก็ถือว่ายังไม่ดีเท่าที่ผู้ออกกองทุนอยากจะให้เป็น

อุปสรรคที่บรรดาผู้จัดการกองทุนรวมมองเห็น คือ จำนวนหน่วยลงทุนที่บริษัทต้องการจะขาย แยกเป็นตราสารหนี้ซึ่งมีน้อยมากในตลาด แม้จะมีพันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรของกองทุนฟื้นฟู, ตั๋วเงินคลัง แต่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลมีการแกว่งตัวมาก

กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสัดส่วน 50-100% ของพอร์ตจะได้รับผลกระทบ จะเห็นว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิมีการแกว่งตัวหวือหวา หรือไม่ก็ไถ่ถอนเงินไปเข้ากองทุนอื่น มาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ชี้

สำหรับสิ่งที่ไม่มี คือ ตราสารหนี้ของเอกชน ถึงแม้จะเริ่มมีออกมาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแต่การกระจายการจัดจำหน่ายส่วนใหญ่ จะอยู่ในมือบริษัทประกันชีวิตและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะเป็นกลุ่มนักลงทุนระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคงที่ เช่น บริษัทประกันชีวิตที่มีการค้ำประกันผลตอบแทนให้กับผู้ถือกรมธรรม์ที่ 5-6%

ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทน 5% ถือว่าสอดคล้องกัน และบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มองว่าการจัดสรรให้บริษัทประกันชีวิต และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งลงทุนระยะยาวตลอดอายุของหุ้นกู้ ราคาหุ้นกู้จะไม่แกว่งตัวมากเพราะความต้องการซื้อกับความต้องการขายในตลาดลงตัว มาริษกล่าว

ด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ราคาไม่มีการแกว่งตัวหวือหวา ทำให้มีความต้องการตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและจ่ายเงินปันผลระดับ 5-6% และสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นทุกปี ขนาดของกองทุนจะมีมูลค่าสูงขึ้น ความต้องการตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่บริษัทกองทุนรวมจะได้มาไม่มากนัก ทำให้เกิดปัญหาในส่วนที่จะออกกองทุนตราสารหนี้กองทุนใหม่ๆ หรือกองทุนเก่าถ้าได้รับเงินลงทุนใหม่ เข้ามาการไปหาซื้อตราสารหนี้เข้ามาในพอร์ตมีความลำบากพอสมควร ปัญหาเหล่านี้บรรดาผู้จัดการกองทุนเชื่อว่ารัฐบาลมองเห็นแต่คงแก้ปัญหาได้ค่อนข้างช้า

สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนอยากเห็น คือ มีการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) เพื่อขายให้ผู้ลงทุนอื่น ที่มีการพูดกันมานาน หากมีผลิตภัณฑ์นี้ออกมาจะมีตราสารเงินกู้ระยะสั้นออกมาได้ด้วย ซึ่งจะสร้างตราสารหนี้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในตลาด มาริษชี้ ทำให้การบริหารพอร์ตลงทุนทำได้ดีขึ้นในแง่ความเหมาะสมของเงินลงทุนกับอายุตราสารหนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดมีการปรับตัวขึ้นจากปัจจุบัน

หมายความว่าทุกบลจ.ต้องปรับกลยุทธ์การบริหารกองทุนโดยทำให้อายุของพอร์ตลงทุนมีอายุสั้นลง วิธีการ คือ หาตราสารหนี้ที่อายุสั้นเข้ามา หากมีตราสารหนี้ประเภท Securitization หรือตราสารเงินกู้ระยะสั้นเข้ามาใส่พอร์ต

สำหรับตราสารหนี้ที่จะจัดสรรให้กับนักลงทุนรายย่อย สถาบันการเงินที่ทำหน้าที่รับประกันการจัดจำหน่ายจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ให้นักลงทุนรายย่อย แต่นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อตราสารหนี้โดยตรงต้องซื้อขั้นต่ำ 10 ล้านบาทขึ้นไป ทำให้มีข้อจำกัดในด้านเงินลงทุน ทางออก คือ การออมเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกของนักลงทุนโดยแท้จริง

เกิดคำถามตามมาว่า ปัจุบันจำนวนนักลงทุนผ่านกองทุนรวมมีไม่มาก ซึ่งเป็นปัญหาด้านความต้องการซื้อของกองทุนรวม ผู้ฝากเงินวันนี้ไม่เข้าใจในเรื่องของกองทุนรวมอย่างจริงจัง พวกเขามองว่ากองทุนเหมือนกับการฝากเงินหรือการเล่นหุ้น มาริษบอก

ความจริงแล้วกองทุนรวมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของคนที่มีรายได้ และมีส่วนเกินสำหรับเก็บออม ปัญหาของนักลงทุนไทย คือ ไม่รู้จักจัดการบริหารเงินเพราะไม่เคยได้เรียนรู้ตั้งแต่ระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ต่างจากต่างประเทศที่มีการให้ความรู้เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน โดยมีการจัดการหลังหักค่าใช้จ่ายประจำวันแล้ว จะต้องเก็บเงินสดเท่าไร

กรณีนักลงทุนขาดความรู้ มองได้ 2 ด้าน คือ ไม่มีใครเข้าไปอธิบายให้เข้าใจ หากย้อนกลับไป ดูต้นกำเนิดของการเกิดอุตสาหกรรมกองทุนรวมต่อเนื่อง จากการที่ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงินเพียง 1 ปี จากนั้นเศรษฐกิจได้เติบโตถึงขีดสุดพร้อมๆ กับการเปิดเสรีธุรกิจกองทุนรวม

เมื่อทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ราคาหุ้นวิ่งผลตอบแทนก็ตามมา ถึงแม้นักลงทุนจะไม่มีความรู้สำหรับการลงทุนในกองทุน แต่เมื่อทุกคนไม่รู้จักคำว่าขาดทุนก็เพียงพอแล้ว

แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ดัชนีหุ้นไทยตกจาก 1700 จุดลงมาเรื่อยๆ จนเกิดการขาดทุน ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ต่อหน่วยลงทุนลดลงฮวบฮาบ ทุกคนมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการลงทุนในกองทุนรวม

อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจกองทุนรวมไทยเพิ่งเกิดมาไม่ถึง 10 ปี ขณะที่ธุรกิจดังกล่าวในต่างประเทศกำเนิดมาก่อนประเทศไทยมีการปฏิวัติการปกครองช่วงปี 2475 การลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนในกองทุนหุ้น ต้องเป็นการลงทุนระยะ 5-10 ปีอย่างน้อย ถึงจะมีกำไรเพราะการแกว่งตัวของราคาหุ้นโดยเฉลี่ยจะลดลง หากลงทุนระยะสั้น โอกาสขาดทุนก็มีสูง เพราะอัตราเฉลี่ยของการแกว่งตัวด้านราคาหุ้นจะสูง

ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่มีเฉพาะอุตสาหกรรมกองทุนรวมเท่านั้น ในวงการโบรกเกอร์เองก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะเจ้าหน้าที่การตลาด (Marketing) ไม่ได้ไปชี้แจงให้นักลงทุนที่ต้องการเล่นหุ้นหรือต้องการซื้อหน่วยลงทุนเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าลักษณะการลงทุนของแต่ชนิดมีความต่างกันอย่างไร

นอกจากนี้ ดีมานด์และซัปพลายเป็นอุปสรรคของกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนหุ้นซึ่งแทบจะไม่มีนักลงทุนสนใจเลย รวมไปถึงหุ้นก็มีจำนวนจำกัดและพื้นฐานหุ้นเป็นไปตามเศรษฐกิจ

อีกปัญหาหนึ่งของกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ คือ ตราสารที่มีลักษณะซับซ้อน เช่น สัญญาให้สิทธิ์อีกฝ่ายหนึ่งต้องซื้อหรือขายตามเงื่อนไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือ option ไม่ใช่ว่าจะไปเก็งกำไร แต่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงได้

ถ้ามีการทำที่ถูกต้องให้เกิดความเข้าใจกันทั้งกองทุนและนักลงทุน ก็สามารถออกมาในรูปแบบของกองทุนที่มีความหลากหลาย แต่ตลาดทุนไทยยังไม่มี มาริษกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.